โควิด…รอบใหม่ ทุบอารมณ์จับจ่ายยับ

Photo by AFP
สามัญสำนึก
พัฒนพันธุ์ วงษ์พันธุ์

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “โควิด-19” รอบใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นได้ทุบอารมณ์จับจ่ายผู้บริโภคคนไทยที่อยู่ระหว่างการฟื้นตัวไปโดยสิ้นเชิง

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะที่ผ่านมา ประเทศไทยปลอดจากโควิดมานาน พอกราฟตัวเลขผู้ป่วยที่พุ่งพรวดเป็นร้อย ๆ สร้างความแตกตื่นเป็นวงกว้าง

ศูนย์การค้า-ห้างสรรพสินค้า ที่เริ่มเข้าที่เข้าทาง ฝันสลายกับกำลังซื้อช่วงโค้งสุดท้าย ร้านอาหารมึนตึ้บกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปชั่วข้ามคืน

เช่นเดียวกับบรรดาโรงแรม ที่พัก สายการบิน ที่เดิมเหนื่อยหนักอยู่แล้วจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศยิ่งไม่ต้องพูดถึง

พอโควิดมา พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปแทบจะทันที ใช้วิธีซื้อของตุนใส่ตู้เย็น หรือไม่ก็สั่งดีลิเวอรี่ง่าย ๆ

แน่นอนว่าพอสถานการณ์เป็นแบบนี้ย่อมไม่เป็นผลดีในเชิงธุรกิจ

ตั้งคำถามผู้บริหารศูนย์การค้ายักษ์ใหญ่ ถ้าหากโควิด-19 ลากยาวต่อเนื่องไปถึงสิ้นปี สถานการณ์จะเป็นยังไง จะประคับประคองไหวมั้ย คนถูกถามอึ้งอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะตอบสั้น ๆ “ก็คงไม่ไหว”

จากเดิมสถานการณ์จับจ่ายเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ แม้จะมีเหตุการณ์ 101 ท่าขี้เหล็ก ลักลอบข้ามแดนผ่านช่องทางธรรมชาติ แต่ห่างไกลจากเมืองกรุง ผลกระทบจึงมาไม่ถึง แต่พอมีข่าวการแพร่กระจายโควิดในหมู่แรงงานต่างชาติที่สมุทสาครเกิดขึ้นเท่านั้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ กทม.ประกาศใช้ “ยาแรง” ให้เปิดร้านอาหารได้แค่ 1 ทุ่ม หลังจากนั้น ให้ซื้อกลับไปกินที่บ้านสถานเดียว ถึงแม้รัฐบาลจะกลับลำอย่างรวดเร็วในภายหลัง แต่อารมณ์จับจ่ายวูบไปแล้ว

จับอาการแนวทางของฟากรัฐบาล ครั้งนี้พยายามสร้างสมดุล “สาธารณสุข” กับ “เศรษฐกิจ” แต่การมอบอำนาจให้แต่ละพื้นที่ไปจัดการกัน มีมาตรการเป็นของตัวเอง ธุรกิจเล็ก ๆ สายป่านไม่ได้ยาว ยังบอบช้ำไม่หายจากล็อกดาวน์เมื่อต้นปีที่แล้ว กลับต้องเจอยาแรงจากภาครัฐซ้ำอีกครั้ง

รีสอร์ตเล็ก ๆ ในต่างจังหวัด ห้องพักสิบกว่าห้องถึงกับนอนไม่หลับ เพราะถูกแคนเซิลยกเลิก หลังรัฐประกาศให้อยู่ในโซนสีแดง ทั้งที่เป็นแค่จังหวัดเล็ก ๆ ตัวเลขผู้ป่วยไม่กี่คน ใครเข้าพักกลับไปต้องถูกกักตัว 14 วัน

โควิดมารอบนี้เจ้าตัวยอมรับแทบหมดกำลังใจ เพราะสถานการณ์เริ่มกลับมาดีไม่นาน ยังไม่รู้จะเอาเงินเดือนที่ไหนมาจ่ายลูกน้อง

ไม่ต้องพูดถึงโรงแรม-รีสอร์ตไม่ไกลจากกรุงเทพฯอย่างเขาใหญ่ เจอประกาศของจังหวัดเข้าไปตูมเดียว บรรยากาศเงียบเหงาทันที

เอสเอ็มอีอีกรายเปรยว่า…นายกฯให้อำนาจผู้ว่าฯสั่งปิด-เปิดเมืองเองได้ แต่ไม่ได้ให้อำนาจมาเยียวยา SMEs โรงแรม ร้านอาหาร คนจัดงาน สั่งปิดคนตกงาน ประกันสังคมไม่จ่าย แบงก์ไม่ช่วย รายจ่ายเหมือนเดิม ดอกเบี้ยยังเดินตลอด

ข้อสังเกตอย่างหนึ่ง โควิด-19 รอบใหม่ที่เริ่มอาละวาดตั้งแต่ช่วงปลายปี ภาคธุรกิจรับมือกับสถานการณ์ ปรับโหมด ปรับแผนการทำงานเป็น WFH ได้อย่างรวดเร็ว ตรงกันข้ามกับภาครัฐที่ยังมีปัญหาเดิม ๆ

ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจที่เกินขอบเขต ปัญหาการสื่อสาร ศบค.แถลงเสร็จ จังหวัดแถลงซ้ำ ตัวเลขผู้ป่วยไม่ตรงกัน รวมถึงการประสานงานระหว่างภาครัฐด้วยกันเอง หน่วยงานหนึ่งว่าอย่างหนึ่ง อีกหน่วยงานไปอีกด้าน

สร้างความสับสนตลอดเวลา

ไม่รวมถึงว่าอารมณ์ความรู้สึกที่มีต่อภาครัฐดูรุนแรงมากกว่าครั้งก่อน เพราะจุดปะทุโควิดรอบนี้มาจากบรรดา “ธุรกิจสีเทา” ทั้งบ่อน แรงงานเถื่อนต่างชาติ ซึ่งมีที่มาจากอาการ “การ์ดตก” ของหน่วยงานรัฐ ไม่ใช่ใครที่ไหน

หวั่นใจเหลือเกิน ถ้าภาครัฐยังทำงานด้วยมาตรฐานเดียวกันนี้ ถึงเวลาต้องแจกจ่ายวัคซีนให้คนทั้งประเทศ
เป็นสิบ ๆ ล้านโดส ที่ต้องแข่งกับเวลา


จะโกลาหลกันขนาดไหน