เกษตร New Normal

คอลัมน์สามัญสำนึก
พิเชษฐ์ ณ นคร

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แม้จะส่งผลกระทบภาคการเกษตรเช่นเดียวกับธุรกิจและอุตสาหกรรมอีกหลากหลายสาขา โดยเฉพาะเกษตรกลางน้ำ ปลายน้ำ แต่ท่ามกลางปัจจัยลบก็มีทั้งโอกาสและความท้าทาย ในฐานะเป็นแหล่งผลิตอาหารโลก โจทย์ใหญ่อยู่ที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีแนวทางใดสนับสนุนผลักดันพลิกอนาคตภาคการเกษตรไทย

ต้นเดือน ธ.ค. 2563 ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ถือโอกาสติวเข้มหน่วยงานในสังกัด มอบนโยบายและแนวทางขับเคลื่อนกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งมีภารกิจหลักครอบคลุมภาคการเกษตร ตั้งแต่เรื่องน้ำ ดิน การปลูกพืช ทำปศุสัตว์ ประมง ที่จะใช้เป็นแนวทางขับเคลื่อนงานในเชิงบูรณาการทั้งกระทรวง ในปี 2564 โดยเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (ปี 2561-2580) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฯ และแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคง

กำหนดตัวชี้วัด หรือเป้าหมายความสำเร็จ ได้แก่ 1.ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศสาขาเกษตรเพิ่มขึ้น 3.8% 2.ผลิตภาพการผลิตของภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.2% 3.เกษตรกรที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนลดลงไม่น้อยกว่า 10% ต่อปี และ 4.พื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าปีละ 3.5 แสนไร่ ภายในปี 2565

สาระสำคัญอยู่ที่แผนปฏิบัติที่ต้องขับเคลื่อน ประกอบด้วยแผนย่อย 6 แผนงานที่จะมุ่งเน้น โดยให้ทุกหน่วยงานเร่งผลักดัน และจะใช้เป็นกรอบในการจัดทำงบประมาณประจำปี 2565 ได้แก่

เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น มุ่งเน้นการพัฒนาต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรอัตลักษณ์ ที่มีความโดดเด่นในแต่ละพื้นที่ โดยเน้นการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ ด้วยอาศัยนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อยกระดับศักยภาพและขีดความสามารถของเกษตรกรและชุมชน สร้างอัตลักษณ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในตัวสินค้าด้วยเรื่องราว (story)

เกษตรปลอดภัย การผลิตสินค้าเกษตรจะต้องปรับตัวเข้าสู่ระบบคุณภาพมาตรฐาน ให้ทุกหน่วยงานบูรณาการร่วมกันในการลด ละ เลิกใช้สารเคมี ขณะเดียวกันก็พัฒนาระบบคุณภาพมาตรฐาน ระบบการตรวจรับรอง

เกษตรชีวภาพ ให้ความสําคัญกับกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งส่งเสริมการผลิตและการแปรรูปพืชสมุนไพร ส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์เกษตรชีวภาพ ฯลฯ

เกษตรแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์เกษตร ให้ความสําคัญตลอดห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตร โดยพัฒนาและใช้วัตถุดิบและผลิตผลทางการเกษตร เชื่อมโยงสู่การแปรรูปในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมองค์ความรู้และภูมิปัญญาที่ทันสมัย

เกษตรอัจฉริยะ เป็นระบบการเกษตรที่ชาญฉลาด เริ่มต้นจากการมีข้อมูลทางการเกษตร ประกอบกับระบบเทคโนโลยีและแบบจําลองต่าง ๆ จุดเน้นในปีงบประมาณ 2565 คือ การให้เกษตรกรและหน่วยงานเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูล เทคโนโลยีและ applications ต่าง ๆ และเน้นใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เบื้องต้นได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ให้ดูแลและคาดการณ์ผลผลิตข้าวให้มีความถูกต้องแม่นยำ

การพัฒนาระบบนิเวศการเกษตร มุ่งเน้นในประเด็นการอนุรักษ์ การส่งเสริมการรวมกลุ่ม การสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มเครือข่าย การพัฒนาโลจิสติกส์ เน้นการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

แนวทางดำเนินการ จะให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนภารกิจเร่งด่วน อาทิ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เกษตรทฤษฎีใหม่ ผลักดันเกษตรมูลค่าสูง พัฒนาช่องทางเชื่อมโยงการตลาดสินค้าเกษตรทั้งในและต่างประเทศ การใช้ big data, smart farmer ครบวงจร การแก้ปัญหาของเกษตรกร อาทิ ผลกระทบจากโควิด ปัญหาหนี้สิน ฯลฯ


พร้อมวางรากฐานการทำงานของกระทรวงรองรับความปกติใหม่ (new normal) ทุกแนวทางตอบสนองเป้าหมาย การยกระดับคุณภาพชีวิต รายได้ ภาคการเกษตรไทยให้มั่นคงและยั่งยืน