ทำบุญสร้าง “รพ.สนาม” อาวุธสำคัญ “สู้โควิด”

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
กฤษณา ไพฑูรย์

ตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของไทยล่าสุดพุ่งสูงกว่าหมื่นคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

บ่งบอกถึงความจำเป็นที่แต่ละจังหวัดต้องเร่งสร้าง “โรงพยาบาลสนาม” เนื่องจากโรงพยาบาลทั้งของรัฐ และเอกชนมีจำนวนเตียงจำกัด

โดยเฉพาะจังหวัดที่ถูกยกระดับเป็น “พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด”

เป็นที่น่าสังเกตว่า คนติดเชื้อจำนวนมากไม่แสดงอาการป่วย หรือมีอาการน้อยมาก

ทางออกในการแก้ปัญหาจำเป็นต้องแยกผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการไปอยู่ในโรงพยาบาลสนาม เพื่อไม่ให้แพร่กระจายโรค ส่วนผู้ติดเชื้อที่มีอาการป่วยถึงส่งเข้ารักษาในโรงพยาบาล

ตอกย้ำชัดเจนขึ้นจากข้อเขียนของ รศ.นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ให้ความรู้ไว้ใน “เพจบันทึกเรื่องน่ารู้ by Dr.Adune” ตอนหนึ่งสะท้อนให้เห็นความสำคัญของ “โรงพยาบาลสนาม คือ อาวุธสำคัญของการสู้ COVID-19 รอบนี้”

โดยคุณหมออดุลย์บอกว่า ในสถานการณ์โควิด-19 ปี 2563 ไทยรบชนะ ด้วยการ “ปิดประเทศ” ความร่วมมือในการสอบสวนโรค และป้องกันบุคลากรการแพทย์ด้วยชุด PPE ครั้งแรกยังไม่มีโรคโควิด-19 แพร่ระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน (ซึ่งเป็นผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ของไทย) โรคไม่ได้กระจายตัวมาก อยู่ในวิสัยที่จะสอบสวนติดตามได้ คนยอมกักตัว 14 วันเมื่อเข้าประเทศไทย

แต่สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ปี 2564 ไม่เหมือนกัน การรับมือรอบนี้ “ยากกว่า” เพราะมีการกระจายตัวมากกว่า การติดตามตัวกลุ่มเสี่ยงยากมาก โดยเฉพาะการที่บุคคลดังกล่าวไปในที่ “ปกปิด” มาก่อน

กลยุทธ์ในการสู้กับโรคครั้งนี้ คือ คนป่วยโควิดทุกคนต้องอยู่ในที่ปลอดภัย คือ 1) ปลอดภัยจากการไม่ไปแพร่เชื้อให้คนอื่น 2) ปลอดภัย กรณีเมื่อผู้ป่วยมีอาการหนักขึ้นจะได้รับการดูแล แต่จำนวนคนป่วยหลักพันคนต่อวัน พื้นที่ และหอผู้ป่วยในโรงพยาบาลไม่สามารถรองรับได้ 3) มากกว่า 70% ของคนป่วยไม่มีอาการ ช่วยตัวเองได้ 4) อีกทั้งการป่วยครั้งนี้ พอครบ 14 วันก็ปลอดภัย

จากทั้ง 4 ปัจจัยนี้ “โรงพยาบาลสนาม” ที่มีความพร้อมจึงเป็นคำตอบ ถ้าเรามีที่ที่ทำให้คนรู้สึกปลอดภัย ทั้งผู้ป่วยติดเชื้อ และคนทั่วไปรู้ว่า ไปอยู่โรงพยาบาลสนามไม่ลำบาก มีหมอดูแล ถ้าป่วยหนักจะได้รับการย้ายไปโรงพยาบาล และเมื่ออยู่ครบ 14 วันจะได้กลับบ้าน

โรงพยาบาลสนามจะช่วยให้ผู้ติดเชื้อปลอดภัย และไม่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อ ผู้ป่วยใหม่ลดลง ดังนั้น จึงต้องทำความเข้าใจกับสังคมว่า ไม่ต้องกังวล ถ้าสงสัย หรือมีความเสี่ยงให้ไปพบแพทย์ เพราะจะได้รับการดูแลอย่างดี ถ้าไม่มีอาการจะได้อยู่ในโรงพยาบาลสนาม

“เราจะชนะศึกนี้ในเวลาอันไม่นาน ด้วยกลยุทธ์ที่สำคัญ คือ โรงพยาบาลสนาม และแอปหมอชนะ” คุณหมออดุลย์กล่าวทิ้งท้าย

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาหลายพื้นที่เกิดกระแสต่อต้านในการสร้างโรงพยาบาลสนาม ยกตัวอย่างจังหวัดสมุทรสาคร ช่วงแรก ๆ มีการต่อต้านกันมาก ทำให้มีการวางแผนจะนำผู้ติดเชื้อไปอยู่ในพื้นที่ทหารในจังหวัดราชบุรี แต่ถูกต่อต้าน

แต่ในที่สุด เจ้าอาวาสวัดโกรกกราก อ.เมืองสมุทรสาคร และชาวบ้านที่อยู่ใกล้วัด ได้ยื่นมือเข้ามาสนับสนุนการทำงานของสาธารณสุข ด้วยการนำอาคารบนพื้นที่ 5 ไร่ มาทำโรงพยาบาลสนาม ตามมาด้วย นายวัฒนา แตงมณี นายก อบต.พันท้ายนรสิงห์ นำโครงการวัฒนาแฟคตอรี่ที่ยังขายไม่ได้มาทำโรงพยาบาลสนาม และอีก 2 วัดที่เดินรอยตาม คือ วัดสุทธิวาตวราราม และวัดเทพนรรัตน์ เป็นต้น

ดังนั้น การสร้างความรู้ ความเข้าใจในการสร้าง “โรงพยาบาลสนาม” จึงเป็นเรื่องจำเป็น และเร่งด่วน ที่รัฐบาลต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องระบบความปลอดภัยให้กับชุมชนรอบข้าง

ที่สำคัญอีกประการ องค์กรภาคเอกชนในแต่ละจังหวัดที่มีทั้งเงิน และความพร้อมเรื่องที่ดิน อย่าปล่อยหรือโยนภาระเรื่องการสร้างโรงพยาบาลสนามให้หน่วยงานราชการในจังหวัด โดยเฉพาะบุคลากรของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลของภาครัฐ อสม.ภายในจังหวัดที่ทำงานล้นมือหนักหนาสาหัสกันอยู่แล้ว กับงบประมาณจังหวัดอันน้อยนิด หรือหวังแต่จะ “ล็อบบี้” เอางบประมาณฉุกเฉินจากส่วนกลางเข้ามาดำเนินการจะล่าช้าไม่ทันการ


หากมีความพร้อมลุยสร้างได้ทันที ตามหลักพุทธศาสนาบอกว่า อานิสงส์ในการทำประโยชน์แก่ส่วนรวม ช่วยเหลือต่อชีวิตคนนั้นย่อมได้บุญกุศลที่ยิ่งใหญ่