ระวังกรุงเทพฯแตก

Photo by AFP
คอลัมน์ สามัญสำนึก
สมปอง แจ่มเกาะ

ศุกร์ที่ผ่านมา (15 ม.ค.) เสร็จภารกิจรีบกลับบ้าน

โชคดี ถนนหนทางโล่ง รถราไม่ติด คงจะเป็นเพราะฤทธิ์เดชของโควิด-19 ใช้เวลาเดินทางสักครึ่งชั่วโมงเห็นจะได้

ถึงบ้านก่อน 2 ทุ่มเล็กน้อย รีบกดรีโมตไปที่เลข 33 ช่อง 3 รอดู “ข่าวนอกลู่” ของ “พิศณุ นิลกลัด”

ผมเป็นแฟนประจำของคุณพิศณุมาแต่ไหนแต่ไร ไม่ต้องบรรยายสรรพคุณมาก นี่คือ ผู้ประกาศข่าว ผู้บรรยายกีฬากูรูชั้นครู ดูแล้วได้ทั้งความบันเทิง ได้ทั้งความรู้และแง่คิด

ไม่ผิดหวัง…ข่าวนอกลู่ 1 ใน 3 ที่คุณพิศณุเล่า เป็นสถานการณ์โควิด-19 รอบใหม่ที่อุดรธานีว่า แม้จะเจอคนติดเชื้อเพียงแค่ 1 คน แต่มีไทม์ไลน์ของคนติดเชื้อต่างจังหวัดเดินทางเข้าไปในพื้นที่ ทำให้ประชาชนหวาดผวาอยู่ไม่น้อย

พร้อม ๆ กับภาพบรรยากาศของโรงรับจำนำ 1 เทศบาลนครอุดรธานี ที่คุณพิศณุอธิบายว่า ยุคเศรษฐกิจแบบนี้คนหาเช้ากินค่ำต่างพากันหาที่พึ่ง เดินเข้าโรงรับจำนำ นำสิ่งของไปจำนำหาเงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน บางคนนำเครื่องใช้ไฟฟ้า ทีวี หม้อหุงข้าว เตารีด เครื่องมือทำมาหากิน เครื่องตัดหญ้า เครื่องทำน้ำแข็งบด หรือแม้กระทั่งเครื่องขูดมะพร้าวก็ยังนำมาจำนำ

ของบางอย่างจำนำได้เงินเพียง 200 บาทก็เอา ชาวบ้านบอกว่า เงินที่ได้ก็นำไปเป็นค่านมให้ลูกและค่าลูกไปโรงเรียน

ฟังแล้วก็ได้แต่เศร้าใจ…นี่เป็นชีวิตจริงในยามยากของคนตัวเล็ก ๆ ของสังคม

ล่าสุด เพิ่งทราบข่าวจากเพื่อน ๆ ว่า เพื่อนสมัยเรียนมหาวิทยาลัยที่ไปลงหลักปักฐานเปิดร้านอาหารที่ระยองมานานหลายปี เธอประกาศขายกิจการแล้ว เพราะสู้โควิดไม่ไหวจริง ๆ

เจอโควิดครั้งแรกเมื่อต้นปี 2563 เธอสู้และประคับประคองสถานการณ์มาเรื่อย พอโควิดคลี่คลาย กิจการก็ค่อย ๆ เริ่มฟื้น แม้จะยังไม่เต็มร้อย แต่ก็หายใจได้เต็มปอดขึ้น

จู่ ๆ โควิดก็กลับมาโจมตีใหม่ ที่กำลังจะฟื้นก็กลับกลายเป็นฟุบ

นี่คือพิษสงของโควิด-19 อย่างแท้จริง

นั่นเป็นรูปธรรมเพียงส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของไวรัสร้าย

โควิดโจมตีรอบนี้หนักจริง ๆ การทำมาค้าขายฝืดเคือง คนตกงาน หนี้สิน ฯลฯ วนเวียนกลับมาอีกรอบ ซ้ำรอยเดิม แต่หนักขึ้น

นาทีนี้ ทุกคนต้องดิ้นปรับตัวเพื่อสู้ ปรับแผนการดำเนินธุรกิจ ชะลอการลงทุน รักษาแคชโฟลว์ เพื่อประคับประคองสถานการณ์และรอโอกาส

ทุกคนล้วนเข้าใจดีว่า ถึงวันนี้แม้จะมีวัคซีนมาแล้ว แต่โควิด-19 ก็จะยังอยู่กับเราไปอีกนาน

ย้อนกลับไปตั้งแต่เมื่อช่วงต้นปีจนถึงวันนี้ หากสังเกตจะพบว่าสถิติจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ยังไม่มีท่าทีว่าจะลดลง บางวัน 200 บางวัน 300 บางวันขยับขึ้นไป 500 ก็มี เฉลี่ยสักวันละ 300 กว่าคน เห็นจะได้

โดยเฉพาะจำนวนผู้ป่วยของกรุงเทพฯ ที่เริ่มมี “ตัวเลขบวก” อย่างน่าจับตา

เมื่อวาน (18 ม.ค.) ศบค.รายงานว่า ผู้ป่วยโควิดของกรุงเทพฯ (18 ธ.ค 63-18 ม.ค. 64) ขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 3 ของประเทศแล้ว ด้วยจำนวนผู้ป่วย 593 คน แซงหน้าระยอง ที่มี 565 คน เป็นรองเฉพาะสมุทรสาคร ที่มี 4,518 คน และชลบุรี 647 คน

แม้จำนวนผู้ป่วยในกรุงเทพฯ อาจจะยังดูห่างไกลจากสมุทรสาครอยู่มาก แต่ก็ไม่ควรประมาทด้วยประการทั้งปวง

นั่นเพราะกรุงเทพฯเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดของประเทศ ตัวเลขตามทะเบียนราษฎรอาจจะมีเพียง 5-6 ล้านคน แต่เมื่อรวมกับประชากรแฝง ว่ากันว่าอาจจะมีมากถึง 10-12 ล้านคนเลยทีเดียว และด้วยวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนในเมืองใหญ่ ผู้คนแออัด อยู่เป็นกลุ่มก้อน ในอพาร์ตเมนต์ คอนโดฯ รถเมล์ รถไฟฟ้า ฯลฯ ล้วนมีความเสี่ยงมากขึ้น

หากโควิดตีกระเจิงเมื่อไหร่ หนัก-เหนื่อยแน่นอน

เพราะกรุงเทพฯเป็นศูนย์รวมเศรษฐกิจ การเงิน เป็นศูนย์กลางความเจริญของประเทศ


ระวังให้ดี !