แผนเศรษฐกิจ ‘โจ ไบเดน’ อัดฉีดเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ดัน GDP โต-ตลาดแรงงานฟื้น

ดุลยธรรม
ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ

มีการคาดการณ์โดยสถาบันการเงินหลายแห่งว่า ผลของแผนเศรษฐกิจ American Rescue Plan 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาว่า หากรัฐบาลโจ ไบเดน สามารถดำเนินการได้ตามรายละเอียดของแผนเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ตามที่ได้ประกาศเอาไว้เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา อาจทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 0.7-2% จากที่สำนักวิจัยส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้เดิม และอาจทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น

แผนเศรษฐกิจ American Rescue Plan น่าจะหนุนให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐสูงถึง 8-9% ในปีนี้ และตลาดแรงงานจะเข้าสู่การจ้างงานเต็มที่ตามปกติได้ภายในปลายปีหน้า ในทางตรงกันข้ามหากไม่มีมาตรการนี้อาจต้องใช้เวลา 3-4 ปีตลาดแรงงานจึงปรับเข้าสู่ภาวะปกติ

ทั้งนี้ เม็ดเงินงบประมาณขนาดใหญ่ภายใต้ Build Back Better Campaign Agenda ของโจ ไบเดน เมื่อบวกเข้ากับงบประมาณใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้สหรัฐอเมริกาแซงญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และเยอรมนี ในแง่ของสัดส่วนการใช้จ่ายทางการคลังที่เป็น fiscal support เทียบกับจีดีพีเพื่อสู้กับวิกฤตสุขภาพที่นำมาสู่วิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ (health crisis and economic crisis)

ด้วย fiscal support เทียบกับจีดีพีที่ขึ้นมาอยู่อันดับที่หนึ่งของโลก รวมเม็ดเงินทั้งหมดตั้งแต่เกิดโรคระบาดอยู่ที่ 5.2 ล้านล้านดอลลาร์ (CARES Act 2.4 Trillion+COVID Relief 0.9 Tril.+Biden’s American Fiscal Recue Plan 1.9 Tril.) ประกอบกับสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนคลี่คลายลง

ขณะที่ผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 บรรเทาลง โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาในระยะต่อไป สถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้เงินทุนที่ไหลเข้าตลาดการเงินเอเชีย ตลาดหุ้นเศรษฐกิจดาวรุ่ง (emerging markets) รวมทั้งตลาดหุ้นไทยไหลย้อนกลับ ไปตลาดสหรัฐอเมริกาบางส่วน ทำให้ราคาหุ้นและค่าเงินอาจเกิดการปรับฐานครั้งใหญ่ในช่วงต่อไป

กระแสเม็ดเงินที่ไหลเข้ามายังเอเชียตลอดระยะเวลา 18 เดือนที่ผ่านมา อาจมาถึงจุดวกกลับไปยังสหรัฐอเมริกา โดยที่ตลาดหุ้นที่จะมีการปรับฐานลงแรงสุดน่าจะเป็นตลาดหุ้นจีน ตลาดหุ้นไทย แต่อาจจะเกิดขึ้นหลังไตรมาสแรก

หลังจากที่ American Recue Plan เริ่มมีผลเต็มที่ตั้งแต่เดือนมีนาคม และน่าจะทำให้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไตรมาส 2 ของสหรัฐปรับขึ้น แรงดึงดูดเม็ดเงินลงทุนบางส่วนไหลย้อนกลับไปยังตลาดหุ้นสหรัฐ

ในส่วนของเม็ดเงินกว่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์นี้ หากศึกษาในรายละเอียดพบว่ามีทั้งมาตรการช่วยเหลือโดยตรงไปยังภาคธุรกิจ ชุมชน และประชาชน ถือเป็นเม็ดเงินสูงกว่าข้อเสนอของพรรครีพับลิกันมาก

ในจำนวนนี้จะใช้เม็ดเงิน 4 แสนล้านดอลลาร์สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุข รวมทั้งการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึงให้กับประชาชน

ขณะเดียวกัน จะมอบเงินชดเชยรายได้ครอบครัวละ 2,000 ดอลลาร์ต่อเดือน จนกว่าการจ้างงานจะกลับคืนมา นอกเหนือจากเงินประกันการว่างงานในระบบประกันสังคม การคุ้มครองที่อยู่อาศัย และการช่วยเหลือทางด้านอาหารโภชนาการ รวมเม็ดเงินทั้งสิ้น 1 ล้านล้านดอลลาร์

ส่วนเม็ดเงินอีก 440,000 ล้านดอลลาร์จะนำไปช่วยเหลือธุรกิจ SMEs และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเรื่องการขนส่ง การลงทุนทางด้านไอทีดิจิทัล และ cyber security กองทุนช่วยเหลือเด็กในรูปกองทุน Child Care Stabilization Fund

การให้สิทธิพิเศษทางด้านภาษี และ tax credit ต่าง ๆ มีเงินงบประมาณสนับสนุนไปยังสถานศึกษาเพื่อให้มีการเปิดการเรียนการสอนอย่างปลอดภัย (safety reopen and operate schools) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การก่อหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาล ยอดรวมตั้งแต่สมัยรัฐบาลทรัมป์ต่อเนื่องมายังรัฐบาลโจ ไบเดน สหรัฐอเมริกา สามารถทำได้เพราะเงินดอลลาร์ยังเป็นเงินสกุลหลักของระบบการเงินโลกอยู่

แต่การก่อหนี้ในระดับนี้ย่อมส่งผลให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงในระยะปานกลางและระยะยาว สหรัฐอเมริกาอาจใช้วิธีการจ่ายหนี้ด้วยการทำให้เกิดเงินเฟ้อ อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นช่วยลดหนี้สาธารณะผ่าน 3 ช่องทาง

ช่องทางแรก การปล่อยเงินเข้ามาในระบบเพิ่มจนเกิดเงินเฟ้อ (seigniorage)

ช่องทางที่ 2 อัตราเงินเฟ้อจะค่อย ๆ ลดมูลค่าที่แท้จริงของหนี้สาธารณะ หรือทำให้มูลค่าหนี้ภาครัฐลดลงนั่นเอง

ช่องทางที่ 3 เงินเฟ้อส่งผลต่อดุลการคลังของประเทศ จากงานวิจัยของ Krause and Moyen โดยอาศัย long term public debt ภายใต้ New Keynesian Model พบว่าการเพิ่มของอัตราเงินเฟ้อ 2-6% ทำให้หนี้สาธารณะลดลงได้ถึง 29% แต่การศึกษาไม่ได้รวมผลกระทบของเงินเฟ้อที่มีต่อต้นทุนในระบบเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน ก็อาจมีความเป็นไปได้เช่นเดียวกันที่แผนการใช้งบฯ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์อาจถูกปรับลดโดยรัฐสภา เนื่องจากเกรงผลกระทบจากวิกฤตการขาดดุลงบประมาณมหาศาล และหนี้สาธารณะ ผลต่อเศรษฐกิจ ตลาดการเงิน จึงต้องรอประเมินอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม กระแสเม็ดเงินไหลกลับตลาดการเงินสหรัฐอาจทำให้ดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงทิศทางการอ่อนค่า อันเป็นผลจากปัจจัยพื้นฐานที่ยังมีการขาดดุลการค้า และขาดดุลงบประมาณมหาศาล

ส่วนกรณีประเทศไทย การที่รัฐบาลไทยจะแจกเงินเพิ่มอีก 3,500 บาท ให้กับประชาชนกว่า 30 ล้านคน เป็นระยะเวลา 2 เดือน พร้อมเปิดลงทะเบียน “คนละครึ่ง” อีก 1 ล้านสิทธิ และลดค่าน้ำค่าไฟอีก 2 เดือน ไม่ได้มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ

เพียงแต่บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่มีการ lockdown ในบางพื้นที่ โดยภาพรวมแล้วมาตรการเยียวยาประชาชนจากผลกระทบโควิดรอบใหม่ไม่เพียงพอ เพียงแค่บรรเทาความเดือดร้อนไปได้ช่วงสั้น ๆ

โจทย์ของรัฐบาล คือ ทำอย่างไรให้ภาคการส่งออก ภาคลงทุนขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการจ้างงาน เพราะมีแนวโน้มว่าการเลิกจ้างรอบใหม่กำลังเกิดขึ้น พร้อมกับสถานการณ์การลดเงินเดือน ลดชั่วโมงการทำงาน

ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรเน้นยึดหลักรัฐศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาการชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยของคนหนุ่มสาว

แนวทางที่ดีที่สุดควรเน้นเจรจาหารือกับผู้ชุมนุม ละเว้นการใช้ความรุนแรง หรือจับกุมด้วยความรุนแรง เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมเหล่านี้คือเยาวชนผู้เป็นอนาคตของชาติ และต้องดูแลบ้านเมืองต่อไปในอนาคต

โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเขาจะต้องแบกรับภาระสังคมผู้สูงวัยหนักมาก และต้องรับผิดชอบต่อปัญหาต่าง ๆ ที่คนรุ่นก่อนหน้านี้ได้สร้างเอาไว้ และสะสมหมักหมมเอาไว้จนยากที่จะแก้ไข

หากไม่ใช้ “แนวทางการปฏิรูปครั้งใหญ่” ไปจับกุมผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรง อาจนำมาสู่เหตุการณ์บานปลาย ส่งผลกระทบต่อเนื่องทั้งเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นนักลงทุน

สำหรับประเด็นเรื่องการจัดทำงบประมาณปี 2565 และการก่อหนี้สาธารณะ รัฐบาลควรก่อหนี้สาธารณะเพิ่มเติมเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในโครงการที่ทำให้เกิดการจ้างงานขนาดใหญ่ในประเทศ งบประมาณปี 2565 ที่มีการกำหนดวงเงินแผนการใช้จ่ายภาครัฐลดลงจากปี 2564 เป็นการกำหนดวงเงินการใช้จ่ายที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้อาจต่ำกว่าประมาณการมากพอสมควร แม้จะมีแนวโน้มเป็นบวก

เนื่องจากวงงบประมาณวงเงินที่ตั้งไว้ 3.1 ล้านล้านบาท อาจไม่เพียงพอต่อการรับมือวิกฤตเศรษฐกิจ และการว่างงานยืดเยื้อ

พิจารณาในรายละเอียดกรอบวงเงินการใช้จ่ายปี 2565 นั้น ลดลงถึง 5.66% หรือประมาณ 185,900 ล้านบาท ทั้งที่ควรเพิ่มกรอบวงเงินการใช้จ่ายอีกอย่างน้อย 2-3% แทนที่จะลดลง 5-6% โดยให้เพิ่มไปที่งบฯลงทุนอย่างต่ำอีก 100,000-200,000 ล้านบาท เพื่อการจ้างงานในประเทศ

โดยเฉพาะการก่อสร้างปรับปรุงระบบชลประทานขนาดเล็ก การขุดลอกคูคลองแม่น้ำ และการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการปรับทักษะการทำงานทั้งระบบ

ขอเสนอให้ทำงบประมาณปี 2565 เพิ่มจากงบประมาณปี 2564 อีกอย่างน้อย 2-3% โดยให้แหล่งรายรับมาจาก 2 ส่วน คือ กู้เงิน และการเดินหน้าจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้ง ภาษีใหม่ ๆ เช่น ภาษีออนไลน์ และภาษี betterment tax เป็นต้น

การที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2565 อยู่ที่ 3.5% และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.2% ดูแล้วมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นจริงน้อยมาก หากเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้าหมายจึงควรต้องทบทวนให้มีการจัดเก็บภาษีที่ดินตามอัตราที่เคยกำหนดเอาไว้เดิม ไม่ควรปรับลดลง

นอกจากนี้ ควรพิจารณากู้เงินเพิ่มจากที่วางแผนไว้ว่าจะก่อหนี้สาธารณะเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณที่ 700,000 ล้านบาท อาจต้องกู้ 1 ล้านล้านบาทเป็นอย่างน้อย

ส่วนหนี้สาธารณะจะทะลุเพดาน 60% ของจีดีพีหรือไม่ อยู่ที่ว่ารัฐบาลใช้จ่ายเงินงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลแค่ไหน

หากรัฐบาลนำเงินกู้ไปใช้จ่ายอย่างมียุทธศาสตร์ ตรงเป้าหมาย มีประสิทธิภาพสูง ไม่รั่วไหลทุจริตคอร์รัปชั่นแล้ว จะกลับมาเป็นรายได้ของประชาชน รายได้ของภาคธุรกิจ มีการจ้างงานในระบบเพิ่มขึ้น แล้วรัฐบาลจะเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องเพิ่มอัตราภาษี


ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะลดลงโดยอัตโนมัติ การกู้เงินเพิ่มถึง 1 ล้านล้านบาทจากที่วางแผนกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี’65 เพียงแค่ 700,000 ล้านบาท ก็จะไม่สร้างปัญหาวิกฤตฐานะทางการคลังในระยะปานกลางหรือระยะยาวแต่อย่างใด