ตรรกะชำรุด Slippery Slope Fallacy

ประชาชน เดิน
คอลัมน์ ช่วยกันคิด
รณดล นุ่มนนท์

ฉบับนี้ผมจะขอเขียนถึงเรื่องเหตุผลและเรื่องอารมณ์ความรู้สึก แรงจูงใจ 2 ประการ ที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ เพราะเป็นที่ยอมรับกันว่า คนเราจะอยู่เพียงลำพังไม่ได้ ต้องมีความสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกัน เพราะฉะนั้นความคิดเห็นที่แตกต่างกันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ที่สำคัญคือจะทำอย่างไรให้มีการยอมรับความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เพราะบ่อยครั้งความคิดที่ต่างกันมักจะเป็นสาเหตุของการโต้เถียงรุนแรง เกิดความบาดหมาง นำไปสู่สถานการณ์ที่ไม่พึงปรารถนา ทำให้หลายคนเลือกที่จะเลี่ยงการถกเถียง ใครพูดอะไรก็พยักหน้าตาม สรุปกันว่าอย่างไรก็ว่าตามนั้น

“ผมหรือดิฉันขอเป็นกลาง ไม่ขอออกความเห็น” มักจะเป็นคำพูดที่เราได้ยินบ่อย ๆ ในการประชุม เรียกว่าเป็นคน “อยู่เป็น” ทั้ง ๆ ที่ในโลกความเป็นจริง ความเป็นกลางไม่มีหรอก ทุกคนต้องมีความคิดเห็นและโอนเอียงไปไม่ฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่ง

ในเวทีการประชุม การสร้างบรรยากาศให้เกิดการปะทะทางความคิดเป็นเรื่องสำคัญ ต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น เปิดใจรับฟัง ให้ความเคารพต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่น่าเสียดายที่ว่า ส่วนใหญ่ผู้นำเสนอมักหยิบยกเหตุผลที่ไม่เป็นตรรกะ โดยที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจมาโน้มน้าวผู้อื่น เป็นตรรกะ ประเภท “ตรรกะชำรุด” ซึ่งมี 2 ลักษณะใหญ่ ๆ

ลักษณะแรกคือ แบบ “มั่วนิ่ม” ยกเมฆ เอาสีข้างเข้าถู อ้างความเห็นของคนหมู่มาก แบบมัดมือชก สรุปดื้อ ๆ โดยไม่คำนึงถึงเหตุผล เช่น การพูดว่า “เราไม่ควรฆ่าสิ่งมีชีวิตใด ๆ เพราะเป็นการผิดศีล 5” คำกล่าวนี้ฟังดูเหมือนมีตรรกะ แต่หากพิจารณาในอีกสภาวะหนึ่ง เช่น การฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตก็อาจจะเป็นข้อยกเว้นได้ เป็นต้น

และที่น่าตกใจคือการใช้ตรรกะชำรุดแบบมั่วนิ่มนี้ มักจะจบด้วยการฟันธง ใช้อำนาจเข้าข่มด้วยวลีเด็ด ๆ เช่น “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” หรือ “เอาอย่างนี้ก็แล้วกันนะ” ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งจำต้องสมยอม

อย่างไรก็ตาม ตรรกะชำรุดที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ฝ่ายที่เห็นต่างยังสามารถไล่ทัน และโต้แย้งได้ แต่ยังมีตรรกะชำรุดลักษณะที่ 2 ที่น่าสะพรึงกลัวกว่าคือตรรกะแบบวิบัติด้วยการอ้างอารมณ์ความรู้สึกผิด ๆ ขุดหลุมพรางให้อีกฝ่ายคล้อยตาม

เป็นตรรกะที่เรียกว่า “slippery slope fallacy” คือ การผูกโยง เหตุการณ์หนึ่งนำไปสู่อีกเหตุการณ์หนึ่งที่จะส่งผลร้าย เป็นลูกโซ่ต่อเนื่องกันเป็นทอด ๆ และจบลงด้วยเหตุการณ์วินาศสันตะโร

พูดง่าย ๆ คือเป็นการ “มโนแบบไฟไหม้ฟาง” เปรียบเสมือนรถยนต์ถูกปล่อยให้ขับลงจากยอดเขาบนถนนที่ลื่น ทำให้เกิดอุบัติเหตุตกเหวได้ ตรรกะวิบัติแบบนี้ เมื่ออีกหนึ่งได้รับฟังก็จะหลงเชื่อ เหมือนเข้าไปติดอยู่ในกับดัก เพราะธรรมชาติของมนุษย์มักจะมีความกังวล และความกลัวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

และนี่คือเหตุผลสำคัญที่ฝ่ายไม่เห็นด้วยมักจะหยิกยกมาใช้เพื่อต่อต้านการเปลี่ยนแปลง เหมือนกับการสร้าง “หนังผี” ที่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งต้องคล้อยตามเพราะกลัวว่า การเปลี่ยนแปลงจะนำไปสู่ความหายนะ

จะขอยกตัวอย่างของตรรกะลักษณะ “slippery slope fallacy” ในบางเรื่องพอเป็นสังเขป เช่น “กฎหมายควบคุมการครอบครองอาวุธปืน หากออกมาบังคับใช้จะทำให้เราไม่มีอาวุธไว้ป้องกันตัวเอง เป็นช่องทางให้ผู้ก่อการร้ายเข้ามาโจมตีได้โดยง่าย ท้ายสุดจะไม่มีความสงบภายในประเทศ”

หรือ “ถ้าปล่อยให้ตามใจปากด้วยการกินโดนัท 1 ชิ้นวันนี้ เราก็จะกินอีกในวันพรุ่งนี้ และกินเพิ่มอีกหลาย ๆ ชิ้นในวันต่อ ๆ ไป ท้ายสุดจะห้ามใจไม่ไหว กินขนม และของหวานอื่น ๆ ตามมา จนโรคเบาหวานถามหา”

หรือ “หากเราปล่อยให้เด็กไว้ผมยาว พ่อแม่จะเดือดร้อน ต้องหาแชมพูมาสระผม สิ้นเปลือง ที่สำคัญเด็กจะหมกมุ่น ไม่สนใจเรียน เป็นปัญหาสังคมในอนาคต”

หรือ “หากปล่อยให้ลูกไปกินข้าวร้านหน้าบ้าน ที่มีคนติดโควิด-19 เดินผ่านไปเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน จะทำให้ลูกติดโควิด-19 ทุกคนในบ้านจะถูกกักบริเวณ มีผลกระทบต่อหน้าที่การงาน”

นี่เป็นเพียงไม่กี่ตัวอย่างที่ดูเหมือนกับว่า เป็นการคิดเฉียบแหลม ฟังดูมีเหตุมีผล ด้วยเหตุนี้การจะหักล้างตรรกะวิบัตินี้ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เราต้องพยายามแยกแยะและพิสูจน์ให้ได้ว่า การใช้ตรรกะที่ว่า เหตุการณ์เริ่มต้นจะนำไปสู่อีกเหตุการณ์หนึ่ง เป็นเรื่องที่มโนขึ้น ไม่เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน

และเราจะสามารถหยุดยั้งไม่ให้เหตุการณ์แรกลุกลามไม่ไปเป็น “หนังผี” ได้ เช่น การกินโดนัทวันนี้ 1 ชิ้น และต้องกินวันต่อ ๆ ไป อีกหลายชิ้น ไม่สำคัญเท่ากับการหลีกเลี่ยงการกินขนมหรือของหวานที่มากเกินไปในแต่ละวัน รวมทั้งการหมั่นออกกำลังกาย เพื่อป้องกันโรคเบาหวาน

ขณะเดียวกัน การออกกฎหมายครอบครองอาวุธปืน ไม่ได้หมายความว่า ทหาร ตำรวจ ผู้รักษากฎหมาย จะไม่มีอาวุธไว้ใช้ในการรักษาความมั่นคงของบ้านเมือง หรือในกรณีเด็กไว้ผมยาว ก็พิสูจน์ไม่ได้ว่า จะทำให้เด็กไม่สนใจการเรียน เหมือนกับกรณีคนติดโควิด-19 เดินผ่านร้านอาหารเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ไม่ได้หมายความว่า เมื่อลูกไปกินข้าวร้านอาหารนั้น จะติดโควิด-19 หากทุกคนในครอบครัวตั้งการ์ดสูง ดูแลสุขอนามัยอยู่ตลอดเวลา

กล่าวโดยสรุป ความคิดที่แตกต่างกันเป็นเรื่องธรรมดา การถกเถียงอย่างมีเหตผุล เพื่อหาข้อยุติร่วมกัน เป็นเรื่องที่ดี แต่การใช้ตรรกะวิบัติหรือตรรกะชำรุด เช่น ในกรณีของ slippery slope fallacy เป็นเรื่องต้องพึงระมัดระวัง ไม่ให้เราตกเข้าไปอยู่ในกับดักหลุมพราง

 

หมายเหตุ – แหล่งที่มา 1/Thana.in.th. 2021. Fallacy คุณใช้เหตุผลอย่างเหมาะสมหรือไม่-Thana.In.Th. [online] Available at : <https://thana.in.th/
2010/06/09/fallacy/> [Accessed 23 January 2021]. 2/The MATTER. 2021. 
ผมยาวแล้วโลกการศึกษาจะถล่ม ? รู้จัก Slippery Slope ตรรกะที่บังวิสัยทัศน์ยิ่งกว่า
ทรงผม. 3/[online] Available at : <https://thematter.co/social/slippery-slope-
logic/129357> [Accessed 23 January 20 Examples.yourdictionary.com. 
2021. Slippery Slope Examples In Real Life. [online] Available at : <https://examples.yourdictionary.com/slippery-slopeexamples.html> 
[Accessed 23 January 2021]. 21]. 4/Unlockmen. 2021. คิดว่ามองการณ์ไกล 
ที่ไหนได้ “SLIPPERY SLOPE” อาวุธลับตรรกะวิบัติของคนคิดเองเออเอง. [online] Available at : <https://www.unlockmen.com/slippery-slope/> [Accessed 23 January 2021]. 5/Owl.excelsior.edu. 2021. [online] Available at :<https://owl.excelsior.edu/wpcontent/uploads/sites/2/2016/03/slipperyslopeframe2.png> [Accessed 23 January 2021].