“สภาท่องเที่ยว & หอการค้า” เร่งมาตรการอุ้ม “ท่องเที่ยว”

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ
ณัฏฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า [email protected]

ถอดใจกันเป็นแถว !

ต้องบอกว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดระลอกใหม่นี้มีผลต่อการตัดสินใจอำลาวงการของคนท่องเที่ยวไม่น้อยทีเดียว

จากการพูดคุยกับคนในแวดวงท่องเที่ยวหลายคนส่วนใหญ่บอกว่าหมด “ความหวัง” กับคำพูดสวย ๆ ที่ว่า ธุรกิจท่องเที่ยวของไทยกำลังจะค่อย ๆ พลิกฟื้นกลับมาแล้ว

และพูดในทำนองเดียวกันว่า โควิดระลอกนี้น่าจะฟื้นยากกว่าปีที่แล้ว เพราะผู้ประกอบการ เจ้าของกิจการ ส่วนใหญ่ไม่มีเงินเหลือที่จะมาเติมสภาพคล่องกันแล้ว

พร้อมวิเคราะห์ว่า การระบาดรอบแรกเมื่อปีที่แล้ว แม้ว่าธุรกิจส่วนใหญ่ต้องปิดตัวชั่วคราวนานถึง 3-4 เดือน แต่รัฐบาลประกาศนโยบายช่วยภาคธุรกิจท่องเที่ยวออกมาเร็ว เจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่จึงยอมลงเงินเพิ่มเพื่อหวังว่ามาตรการรัฐจะช่วยต่อลมหายใจได้

และเริ่มกลับมามี “ความหวัง” อีกครั้ง เมื่อสถานการณ์โดยรวมเริ่มดีขึ้นในช่วงตุลาคม-พฤศจิกายนของปีที่แล้ว

แต่ทันทีที่มาเจอกับการระบาดในประเทศระลอกใหม่ในช่วงเดือนธันวาคมอีกครั้ง ครั้งนี้ทำเอาทุกคน “ล้มทั้งยืน” เพราะต้องกลับมาอยู่ในภาวะเหมือนถูก “ล็อกดาวน์” การเดินทางอีกครั้ง

แน่นอน ซัพพลายเชนท่องเที่ยวทั้งหมดได้รับผลกระทบอย่างหนัก ขนาดโรงแรม, สายการบิน, ร้านอาหาร ที่อานิสงส์จากโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ยังกระอัก แล้วกลุ่มอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นบริษัททัวร์, รถนำเที่ยว, เรือนำเที่ยว, ร้านขายสินค้าที่ระลึก, สวนสนุก/ธีมปาร์ก, โชว์ ฯลฯ ซึ่งเป็นกลุ่มที่แทบจะไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐในช่วงที่ผ่านมาเลย จะ “หนัก” ขนาดไหน

ดังนั้น ตัวเลขที่คาดการณ์กันว่าในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้น่าจะมีแรงงานจากภาคท่องเที่ยว “ตกงาน” พุ่งทะลุ 2 ล้านคนจึงไม่ใช่อะไรที่เกินคาดเดา

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า รอบนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจท่องเที่ยวแอ็กชั่นเร็วมาก ไม่ว่าจะเป็น ททท. สมาคมโรงแรมไทย, สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว รวมถึงสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หรือสภาท่องเที่ยว

ทุกหน่วยงานเร่งสำรวจผลกระทบรวมถึงความต้องการที่อยากให้ภาครัฐช่วยเหลือกันอย่างรวดเร็ว พร้อมทำสรุปข้อมูลและส่งต่อไปยังกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวฯ, ททท., กระทรวงการคลัง ฯลฯ

โดยในส่วนของสมาคมท่องเที่ยวต่าง ๆ รวมถึงสมาคมโรงแรมได้ผนึกกำลังกันรายงานผลกระทบ พร้อมนำเสนอมาตรการที่อยากให้ภาครัฐช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูท่องเที่ยวต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ในนาม “สภาท่องเที่ยว” ไปเมื่อ 26 มกราคมที่ผ่านมา

ซึ่งมาตรการหลัก ๆ ที่อยากให้ภาครัฐช่วย ประกอบด้วย ขอให้รัฐ copayment แรงงานในระบบ 50% เป็นเวลา 1 ปี, จัดตั้งธนาคารแรงงานท่องเที่ยว (Tourism Labor Bank), สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ในอัตราดอกเบี้ย 2%, พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 2 ปี ฯลฯ

รวมถึงการนำงบประมาณที่เหลือจากโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” มาเดินหน้าโครงการต่อ โดยเปิดกว้างให้ซัพพลายเชนอื่น ๆ ด้านการท่องเที่ยวเข้าร่วมด้วย (ไม่ใช่แค่โรงแรม สายการบิน และร้านอาหาร), ผลักดันโครงการเที่ยวคนละครึ่ง ฯลฯ

จากนั้นอีกไม่กี่วัน “สภาหอการค้า” และ “หอการค้าไทย” ได้นำทีมคณะกรรมการเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ พร้อมหารือถึงมาตรการความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ซึ่งหลัก ๆ ก็คือ ภาคธุรกิจท่องเที่ยวเช่นกัน

โดยเสนอให้ผลักดันท่องเที่ยวคุณภาพสูงด้วย wellness tourism และช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงแรม ทั้งมาตรการสินเชื่อ soft loan เพื่อเสริมสภาพคล่อง การสนับสนุนค่าจ้าง copay เพื่อรักษาการจ้างงานเดิม รวมถึงพักชำระเงินกู้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการให้เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนแล้ว และมี health passport เข้าประเทศโดยไม่มีการกักตัว 14 วัน เป็นต้น

เรียกว่า ข้อเรียกร้องหลักของ “สภาท่องเที่ยว” และ “หอการค้าไทย” นั้นไปในทิศทางเดียวกัน หรือเหมือนกันเกือบ 100% เลยทีเดียว

ที่สำคัญ คณะที่ตามทีม “หอการค้าไทย” ไปพบ รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ก็ล้วนเป็นคนในวงการท่องเที่ยวแทบทั้งสิ้น

ทำเอาคนหลายภาคส่วน “งงหนักมาก” และเกิดคำถามว่า ทำไม “หอการค้าไทย” ถึงนำเสนอในเรื่องเดียวกับ “สภาท่องเที่ยว” และทำไมคนท่องเที่ยวถึงไปร่วมผลักดันผ่านหอการค้าไทย ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้น สทท.ก็ได้ทำหน้าที่นี้ไปแล้ว

“หอการค้าไทย” มีพลังมากกว่า ?

หรือว่ามีภาพลักษณ์ที่ดีกว่า ?

แล้ว “สภาท่องเที่ยว” ล่ะ !

สำหรับผู้เขียนมองว่า ท่ามกลางวิกฤตแบบนี้อย่ามองเป็นเกมวัดพลังกันเลย มาช่วยกันลุ้นให้มาตรการต่าง ๆ ออกมาให้ทันเวลากันดีกว่า