ตลาดนัดจตุจักร หนี้สงสัยจะสูญ ‘กทม.-รถไฟ’

ตลาดนัดจตุจักร
(File Photo by Mladen ANTONOV / AFP)
คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
ประเสริฐ จารึก

นับจากวันที่ 1 ธันวาคม 2561 ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ส่งมอบพื้นที่ “ตลาดนัดจตุจักร” เนื้อที่ 68 ไร่ 1 งาน 88 ตารางวา กลับสู่อ้อมกอดของกรุงเทพมหานคร (กทม.) อีกครั้ง ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 20 พฤศจิกายน 2561

ถึงขณะนี้ล่วงเลยมากว่า 2 ปี ยังไม่มีการเซ็นสัญญาผูกพันกันทางกฎหมายแต่อย่างใด นอกจากสัญญาปากเปล่าและสัญญาใจที่ให้ไว้ต่อกัน

การโอน “ตลาดนัดจตุจักร” จาก ร.ฟ.ท.ให้กับ กทม.ผ่านการผลักดันจากคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 มี “บิ๊กป้อม-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ” เป็นประธานเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ค้ารายย่อยหลัง ร.ฟ.ท.ปรับขึ้นค่าเช่าแผง ขึ้นเท่าตัว

โดยมองว่า “กทม.” มีความพร้อมในการเข้าบริหารจัดการ “ตลาดนัดจตุจักร” ในเรื่องการจัดระเบียบแผงค้า รักษาความปลอดภัย ความสะอาด ได้ดีกว่า ร.ฟ.ท.

ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 จึงได้สั่งการให้ “ร.ฟ.ท.” สังกัดกระทรวงคมนาคม ประสานงานกับ “กทม.” สังกัดกระทรวงมหาดไทย เร่งรัดการดำเนินการโอนความรับผิดชอบการบริหารจัดการตลาดนัดจตุจักร

จนนำมาสู่การมีมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 ให้กระทรวงคมนาคมโอนความรับผิดชอบการบริหารจัดการ “ตลาดนัดจตุจักร” ไปอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของ “กทม.”

โดย “กทม.” ต้องจ่ายค่าเช่าที่ดินในอัตราปีละ 169.42 ล้านบาท ระยะเวลาให้เช่า 10 ปี หรือไม่เกินในปี 2571 และให้ “ร.ฟ.ท.” ทบทวนค่าเช่าโดยรวมทุก ๆ 3 ปี โอนสัญญาเช่าต่าง ๆ จำนวน 32 สัญญาให้ “กทม.” และกำหนดค่าเช่า 1,800 บาท/แผง/เดือน ลดจากราคาเดิมที่ ร.ฟ.ท.เก็บ 3,175 บาท/แผง/เดือน

ขณะที่ “กทม.” จะรับโอนสิทธิและหน้าที่ในสัญญาว่าจ้างบริการงานรักษาความปลอดภัยจนสิ้นสุดสัญญาวันที่ 13 พฤษภาคม 2561 สัญญาว่าจ้างงานทำความสะอาดและจัดเก็บขยะแบบครบวงจรจะสิ้นสุดวันที่ 31 พฤษภาคม 2565

ปัจจุบัน “กทม.” เข้าครอบครอง “ตลาดนัดจตุจักร” ยังไม่จ่ายค่าเช่าตามที่ตกลงกันไว้แม้แต่สลึงเดียวรวม 2 ปี เป็นเงินทั้งสิ้น 338 ล้านบาท

เนื่องจากสัญญาที่จะเซ็นร่วมกันยังไม่เรียบร้อย อยู่ระหว่างสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญา ซึ่งการจ่ายค่าเช่าจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสัญญาเกิด

ถามว่า…ทำไมถึงปล่อยเวลามาเนิ่นนานขนาดนี้

ต้นสายปลายเหตุ เนื่องจาก “กทม.และ ร.ฟ.ท.” มีความเห็นไม่ตรงกัน จึงทำให้การรันสัญญาล่าช้า

ไม่ว่า ค่าเช่า การรับมอบสัญญาทั้ง 32 สัญญา จำนวนแผงค้าที่ตีทะเบียนและไม่ตีทะเบียน ส่วนแบ่งรายได้ที่ ร.ฟ.ท.จะต้องได้นอกจากค่าเช่าที่ดินแล้ว

ขณะที่สถานะ “ตลาดนัดจตุจักร” ก็ไม่เหมือนเดิม เมื่อปี 2562 “กทม.” นำไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ “สำนักงานตลาดฯ” จากเดิมเป็นเอกเทศ มีรายได้อู้ฟู่ไม่ขึ้นอยู่กับใคร

สำหรับ “สำนักงานตลาดฯ” เป็นหน่วยงานการพาณิชย์ของ กทม. ที่สามารถหารายได้เองจากตลาดนัดขนาดใหญ่ ตลาดชุมชนที่ดูแลอยู่ 12 แห่งทั่วกรุง แต่ละปีมีรายได้หมุนเวียนประมาณ 400-500 ล้านบาท

แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งระลอกเก่า ระลอกใหม่ ทำให้รายได้หายไปร่วม 310 ล้านบาท จากการออกมาตรการลดและยกเว้นค่าเช่าให้ผู้ค้าในตลาด เพื่อเป็นการลดภาระท่ามกลางบรรยากาศการค้าการขายซบเซา

จากข้อมูลพบว่า หลังเกิดการระบาดของโควิด ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศ ทำให้ลูกค้าใน “ตลาดนัดจตุจักร” หายไปมากกว่า 50%

ก่อนเกิดโควิดอยู่ที่ 100,000 คน ช่วงโควิดระบาดรอบแรกลดเหลือ 10,000 คน จากนั้นค่อย ๆ ตีตื้นขึ้นมาอยู่ที่ 60,000-70,000 คน ล่าสุดเกิดการระบาดรอบสองวูบเหลือ 40,000 คน

ปัจจุบันปัญหาของ “ตลาดนัดจตุจักร” ไม่ใช่แค่รายได้ที่หายไป ยังมีเรื่องสภาพคล่องและอีกสารพัดปัญหาที่ซุกอยู่ใต้พรม

หลัง “กทม.” นำมาควบรวมกับ “สำนักงานตลาดฯ” แล้ว ทำให้ “สำนักงานตลาดฯ” ตกอยู่ในสภาพ “เอาเนื้อหมูไปปะเนื้อช้าง”

ต้องนำรายได้จากตลาดอื่นมาจุนเจือ “ตลาดนัดจตุจักร” ที่ดูภายนอกเหมือนรวย แต่จริง ๆ แล้วข้างในไม่เป็นอย่างที่คิด เป็นเพราะอะไร ผู้บริหาร กทม.น่าจะรู้ดี

หากวันที่ต้องจับปากกาเซ็นสัญญากับ “ร.ฟ.ท.” อย่างเป็นทางการ “กทม.” จะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายหนี้เก่าและค่าเช่าใหม่

ถ้าหากไม่มี “ร.ฟ.ท.” จะขอคืนกลับมาดูแลเหมือนเดิมหรือไม่ ก็น่าติดตาม

เพราะ “ตลาดนัดจตุจักร” มีมูลค่าทรัพย์สินสูงถึง 15,292 ล้านบาท หากบริหารดี ๆ น่าจะมีรายได้เป็นกอบเป็นกำมาปลดแอกหนี้ที่ ร.ฟ.ท.แบกอยู่กว่า 1 แสนล้านได้ ไม่มากก็น้อย