ส่องไอเดีย ปตท. ลงทุนอาหาร-ต่อยอดอนาคต

ปตท.
คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
กษมา ประชาชาติ

“ธุรกิจอาหารขึ้นชื่อว่าเป็นธุรกิจยอดนิยม “เข้าง่าย-ออกง่าย” เป็นคำกล่าวของ นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

ซึ่งคงจะจริงตามนั้น สะท้อนจากข้อมูลกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้รายงานปี 2563 ในจำนวนโรงงานที่แจ้งปิดโรงงานไปทั้งหมด 719 แห่ง คนงาน 29,917 คน เงินลงทุนรวม 41,722.30 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ “อาหาร” เป็นอุตสาหกรรมที่ติดท็อป 5 มีจำนวน 52 โรงงาน แรงงาน 3,500 คน เงินทุน 10,704 ล้านบาท

จากผลพวงจากการแพร่ระบาดของโควิดที่ทำให้ปิดตัว หลังมาตรการล็อกดาวน์ประเทศ ไม่มีการเดินทางท่องเที่ยว กระทบต่อโรงงานกลุ่มนี้มีสัดส่วน 50-70% ของทั้งอุตสาหกรรม

แต่ก็ใช่ว่า “ธุรกิจอาหาร” จะแผ่วลง เพราะวิกฤตคือโอกาส จึงทำให้ยังมีผู้ประกอบการส่วนหนึ่งที่สามารถจับเทรนด์ พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ ปรับตัวจนอยู่รอดได้

ด้วยความที่อาหารเป็นปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิต จึงไม่มีทางที่สินค้านี้จะดับสลาย เพียงแต่ว่าต้องจับทางให้ถูกว่า ผู้บริโภคอาหารยุคใหม่ต้องการสินค้าแบบไหน

“อาหารสุขภาพ” หรือ “อาหารอนาคต” (future food) เป็นคำตอบของผู้บริโภคยุคใหม่

มีข้อมูลจากสถาบันอาหารระบุว่า ตลาดอาหารอนาคตในประเทศ ปี 2562 มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 1.96 แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 จากปี 2561 และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นี่ยังไม่นับรวมตลาดส่งออกที่มีมูลค่ามหาศาล

จึงไม่แปลกที่ “บิ๊กธุรกิจ” ทั้งบริษัทไทยและต่างชาติ ทั้งผู้ผลิตในและนอกวงการอาหารได้เบนเข็มสู่การผลิตอาหารสุขภาพ ยกตัวอย่างให้เห็นชัด ๆ คือ บริษัท ไทยยูเนี่ยน จำกัด (มหาชน) หรือทียู ซึ่งมองว่าผู้บริโภคอนาคตจะคำนึงถึงสุขภาพมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของบริษัทที่เน้นเรื่อง health and nutrition พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ

โดยบริษัทได้ขยายการลงทุน “อาหารอนาคต” ต่อเนื่อง เช่น โรงงานผลิตโปรตีนไฮโดรไลเซต และคอลลาเจนเปปไทด์ ผลิตภัณฑ์แคลเซียมจากกระดูกทูน่า โดยวางเป้าหมายว่าสินค้านี้จะมีมูลค่าคิดเป็น 10% ของรายได้รวม หรือประมาณ 10,000 ล้านบาท ในอนาคต

หรืออย่างซีพีเอฟ ซึ่งซีอีโอ “ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ” ได้เคยประกาศนโยบายเมื่อเข้ารับตำแหน่งว่า เตรียมพัฒนาอาหารโปรตีนทางเลือก (อัลเทอร์เนทีฟโปรตีน) ร่วมกับพันธมิตร ซึ่งกลุ่มอาหารโปรตีนทางเลือกที่บริษัทสนใจพัฒนาในเบื้องต้น คือ แพลนต์โปรตีน หรือกลุ่มอาหารโปรตีนที่ได้จากพืช

วิถีการขับเคลื่อนการลงทุนอาหารอนาคตของทียู และซีพีเอฟ ถือเป็นการ “ต่อยอด” จากการผลิตสินค้าอาหารกระป๋อง อาหารสำเร็จรูปแบบเดิม ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

แต่ที่น่าสนใจไม่น้อย คือ การปรับพอร์ตการลงทุนของกลุ่ม ปตท. เจ้าตลาดพลังงานที่ปรับโฟกัสมาลุยธุรกิจอาหารอนาคตด้วย โดยตั้งบริษัท อินโนบิก (เอเชีย) ไว้ในกลุ่มธุรกิจใหม่ และกำลังขยับเตรียมลงทุน

“ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเชีย) จำกัด เล่าถึงแนวคิดในการต่อยอดธุรกิจอาหาร ซึ่งเป็น 1 ใน 4 สินค้าเป้าหมายนอกจากยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ และการวินิจฉัยโรค ที่อินโนบิกกำลังจะมุ่งไป

โดยอาหารที่อินโนบิกโฟกัส คือ การผลิตอาหารที่ใช้ “โภชนาการบำบัด” หรือ pharmar nutrition หรืออาหารที่เป็นยาได้ หรืออาหารชนิดใหม่ที่ใช้เทคโนโลยี หรือนวัตกรรม (novel food) หรืออาหารที่มีหน้าที่ต่าง ๆ (functional food) หรืออาหารอนาคต (future food) ซึ่งจะต่างจากโออาร์ที่จะเน้นอาหารทั่วไป

เขาเล่าว่า เส้นทางการผลิตอาหารอนาคตสามารถมาได้จาก 2 ทาง คือ คนที่ทำอาหารบวกนวัตกรรมอย่างทียู ซีพีเอฟ ก็อาจจะอัพเกรด หรือบางอุตสาหกรรมที่เกษตรกรก็คอนเวิร์ดมาได้ เพื่อเพิ่มมูลค่าได้ กับอีกกลุ่มคือคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี หรือเคมี ก็ต่อมาทางไบโอเทค มาเป็นไบโอไซเอนซ์ อย่างดูปองท์ หรือ ปตท.

“เรื่องอาหารมีหลาย lavel เช่น เนสท์เล่ไบโอไซเอนซ์ เพิ่งแตกไลน์อาหารเสริม แต่หากไปดูไทม์ไลน์จะพบว่ามันผ่านการซื้อกิจการอะไรมาเยอะแยะ กว่าจะออกมาเป็นอาหารสำหรับผู้ป่วย ซึ่งสุดท้ายมันก็คงต้องเดินตามฟอร์แมตนี้ ซึ่งเราต้องดูว่า 1) การลงทุนนี้มันทำให้ประเทศไทยแข็งแรงขึ้นหรือไม่ 2) อาหารแบบนั้นบางอันแพง คือพอเป็น ปตท. ภาพพวกนี้อยู่ในหัวพวกเราตลอดมา เพราะถ้าเป็นคอมเมอร์เชียล อาหารพวกนั้นต้องแพง บางคนมีกำลังซื้อ แล้วคนไม่มีกำลังซื้อจะอย่างไร เรามองว่าเป้าหมายของ SDGs Goal ทำอย่างไรให้มีอาหารที่เพียงพอ อาหารที่มีคุณภาพในราคาที่เข้าถึงได้ ซึ่งการพัฒนาเรื่องนี้ต้องคิดถึงมิติสังคม มิติเศรษฐกิจ และมิติของนวัตกรรมด้วย”

อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการต่อยอดอาหารอนาคต ซึ่งเป็น new S-curve ถือเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นก 3 ตัว เพราะไม่เพียงเป็นการลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตของแต่ละบริษัทเท่านั้น แต่บิ๊กธุรกิจกลุ่มนี้ยังเป็นหัวหอกการลงทุน เพื่อเพิ่มมูลค่าประเทศ ในฐานะที่เราเป็นประเทศเกษตรกรรม อนาคตหากสำเร็จ เราอาจจะมีตลาดใหม่รองรับผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น

สุดท้ายภาครัฐต้องขอบคุณ เพราะไม่ต้องมาวางแผนแก้ปัญหาสินค้าเกษตรราคาตกเป็นรายปี สามารถประหยัดงบประมาณนำไปใช้ด้านอื่นได้อีก