‘โลกคนละใบ’ ที่ไกลกันมากขึ้น ในยุคโควิด-19

คอลัมชั้น 5 ประชาชาติ
อำนาจ ประชาชาติฯ

ผลพวงจากวิกฤตไวรัสวายร้าย “โควิด-19” ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ธนาคารโลกประเมินว่า ช่วงปี 2563-2564 จำนวนคนจนจะเพิ่มขึ้นกว่า 100 ล้านคน

โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เคยประเมินว่า ผลกระทบจาก “โควิด-19” จะส่งผลให้กลุ่ม “ครัวเรือนเปราะบาง” เสี่ยงต่อการตกเป็น “ครัวเรือนยากจน” ประมาณ 1.14 ล้านครัวเรือน

ซึ่ง “ครัวเรือนเปราะบาง” ประกอบด้วย 1) กลุ่มครัวเรือนที่พึ่งพิงรายได้จากเงินช่วยเหลือจากบุคคลอื่นภายนอกครัวเรือน ประมาณ 6.37 แสนครัวเรือน ได้แก่ ครัวเรือนที่ไม่มีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ ครัวเรือนสูงอายุ และครัวเรือนแหว่งกลาง (ผู้สูงอายุอาศัยอยู่กับเด็ก)

2) กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้จากการทำงานลดลงมาก ประมาณ 4.67 แสนครัวเรือน ได้แก่ ครัวเรือนที่ทำงานในสาขาที่เสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง เช่น ทำงานในภาคการท่องเที่ยว หรือประกอบอาชีพอิสระ

และ 3) กลุ่มครัวเรือนเกษตรที่ไม่มีที่ดินทำกิน หรือมีที่ดินทำกินน้อย ประมาณ 4.9 แสนครัวเรือน

นี่เป็นการประเมินไว้เมื่อตอนไตรมาส 3 ปี 2563 เนื่องจากเห็นแล้วว่าผลกระทบจาก “โควิด-19” ทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวรุนแรง ส่งผลกระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ของประชาชน

ล่าสุด สภาพัฒน์เพิ่งแถลงตัวเลขการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ (จีดีพี) รอบสุดท้ายของปี 2563 ไป พบว่าในไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปีแห่ง “วิกฤตโควิด-19” เศรษฐกิจไทยยังคงหดตัว -4.2% ส่งผลให้ภาพรวมทั้งปีที่แล้ว เศรษฐกิจไทยหดตัวไป -6.1% ต่ำที่สุดในรอบ 22 ปี นับจากวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” เลยทีเดียว

มองไปข้างหน้า ถ้าการระบาดของไวรัสไม่รุนแรง หรือเกิด “ระลอกใหม่” ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เศรษฐกิจไทยก็น่าจะทยอยฟื้นตัวขึ้นได้ เพียงแต่จะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ และคงเป็นไปแบบที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินไว้

นั่นก็คือ แต่ละภาคเศรษฐกิจ/ธุรกิจ จะฟื้นตัวไม่เท่ากัน

สิ่งที่น่ากังวลก็คือ ในความหมายของการฟื้นตัวไม่เท่ากัน หมายถึง “ความเหลื่อมล้ำ” ในสังคมไทยที่จะถ่างมากขึ้นใช่หรือไม่

โดยจากที่ได้พูดคุยกับผู้จัดการกองทุนรายใหญ่คนหนึ่ง เขายังออกปากแสดงถึงความกังวลในเรื่องนี้ พร้อมยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนฐานรากของประเทศที่มีโอกาสถูกเลิกจ้างได้มากขึ้น หลายคนขาดรายได้ หลายคนต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้น ทำให้หนี้สินล้นพ้นตัว ไม่รู้ว่าจะชำระคืนได้เมื่อไหร่

ทว่ากลับพบว่า สินทรัพย์บางอย่างกลับ “ขายดี” โดยเฉพาะบ้าน และรถยนต์ ที่มีราคาค่อนข้างแพง สะท้อนได้ว่าคนอีกกลุ่มหนึ่ง แทบไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ จากสถานการณ์ “โควิด-19” เลย

เขาชี้ให้เห็นอีกว่า หลังจากนี้แนวโน้มเศรษฐกิจที่มองกันว่าจะทยอยฟื้นตัวขึ้นนั้น อาจจะฟื้นตัวเป็นแบบตัว “K” หรือ “K-shaped recovery” ก็ได้

กล่าวคือมีกลุ่มคนที่ไม่ได้รับผลกระทบจาก “โควิด-19” หรือได้รับผลกระทบน้อยมาก ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็จะสะสมความ “มั่งคั่ง” ไปได้เรื่อย ๆ

สวนทางกับคนอีกกลุ่ม และเป็นกลุ่มใหญ่ของประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจาก “โควิด-19” จนชีวิตแย่ลง ๆ และแม้ว่าในระยะต่อไปไวรัสจะเบาบางแล้ว คนกลุ่มนี้ก็อาจจะฟื้นตัวกลับมาได้ลำบาก หรือบางคนอาจจะไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้อีกเลยก็ได้

ดังนั้น “K-shaped recovery” คือ ภาพของ “ความเหลื่อมล้ำ” ที่นับวันจะถ่างช่องว่างออกมากขึ้น โดยมีสถานการณ์ “โควิด-19” เป็นตัวเร่ง

ช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่า ภาครัฐพยายามออก “มาตรการ” ต่าง ๆ เพื่อเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ ตั้งแต่ “เราไม่ทิ้งกัน” “ไทยเที่ยวไทย” “คนละครึ่ง” มาจนถึงล่าสุด “เราชนะ” และ “ม.33 เรารักกัน”

โดยเฉพาะ “เราชนะ” ที่ประเมินว่า จะมีผู้ได้รับสิทธิราว 31 ล้านคน ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีเสียงท้วงติงว่า แล้วผู้ที่ไม่มี “สมาร์ทโฟน” จะทำอย่างไร จะถูกกีดกันการเข้าถึงความช่วยเหลือจากรัฐหรือไม่ เพราะคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ คนยากจน คนชายขอบต่าง ๆ

จากภาพที่เห็นผู้คนแห่ไปต่อแถวยาวเป็นหางว่าวกันที่หน้าสาขาธนาคารกรุงไทย เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา น่าจะบ่งบอกอะไรได้เป็นอย่างดี