อาเซียนกับประเทศคู่เจรจา กระชับสายใย ไทย-อินเดีย

คอลัมน์ ระดมสมอง

โดย ประดาป พิบูล

ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา อาเซียนมุ่งพัฒนาโดยมีมิตรประเทศที่ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในทุกมิติ และมีผลประโยชน์ร่วมกันที่เรียกว่า “ประเทศคู่เจรจา” ทั้งหมด 9 ประเทศ ประกอบด้วย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา แคนาดา เกาหลีใต้ จีน อินเดีย รัสเซีย และอีก 2 กลุ่มประเทศ ได้แก่ สหประชาชาติและสหภาพยุโรป รวมทั้งสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และปากีสถาน ซึ่งร่วมมือกันเฉพาะในบางสาขา

สำหรับปีนี้ (2560) “อินเดีย” มีความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะครบรอบ 25 ปีแห่งความสัมพันธ์กับอาเซียน และสายใยทางการทูตกับไทยครบ 70 ปี จึงเป็นโอกาสอันดีที่อาเซียนและไทยควรให้ความสนใจอินเดียมากขึ้น

ก่อนหน้านี้สถานทูตไทย ณ กรุงนิวเดลี ได้พยายามปรับทัศนคติคนไทยโดยพิมพ์หนังสือออกเผยแพร่สองเล่ม ได้แก่ “มองอินเดียใหม่ : เปิดโลกธุรกิจอินเดีย มุมมองใหม่ที่คุณไม่เคยรู้” (ปี 2558) และ “ถอดรหัสอินเดีย 2015 : รู้จัก รู้ใจกุญแจความสำเร็จของธุรกิจไทยในแดนภารตะ”

โลกได้เปลี่ยนไปมากจากเมื่อต้นศตวรรษนี้ อินเดียในปัจจุบันได้ปรับตัวไปอย่างเกินความคาดหมายภายใต้การนำของ นายกรัฐมนตรี นเรนทร โมที ซึ่งในปี 2555 ได้ตกลงกับผู้นำทั้งสิบของอาเซียน ยกระดับความสัมพันธ์เป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์”เพื่อกระตุ้นให้คนไทย ชาวอาเซียน และต่างชาติ ตระหนักถึงสถานภาพของอินเดียในยุค 4.0 ทางการไทยได้จัดเวทีอภิปรายและนิทรรศการด้านธุรกิจ อาเซียน-อินเดีย 2017 ขึ้น ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อต้นเดือนสิงหาคม โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวย้ำในพิธีเปิดว่า “อาเซียน-อินเดีย เป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก” และได้แสดงความชื่นชมที่มีภาคธุรกิจจากอาเซียนและอินเดียเข้าร่วมงานถึง 219 บริษัท (โดยมี 94 รายจากไทย และ 48 รายจากอินเดีย)

ภาพลักษณ์ใหม่ของอินเดียที่ปรากฏจากเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลข้อสนเทศที่เด่น ๆ ได้แก่ 1.การดำเนินนโยบาย “รุกตะวันออก” แทนนโยบาย “มุ่งตะวันออก” โดยให้ความสำคัญและผลักดันการลงมือปฏิบัติเพื่อกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับอาเซียน เสริมสร้างห่วงลูกโซ่ในกระบวนการผลิตและเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งในหลายรูปแบบ 2.การส่งเสริมนโยบาย “ผลิตในอินเดีย” เพื่อสร้างงานให้ประชาชน ด้วยการปฏิรูปกฎระเบียบให้เอื้อต่อการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการแก้ไขภาษีการค้าและบริการให้มีอัตราเดียวกันทั้งประเทศ ในช่วงแรกอินเดียจะให้การสนับสนุนอุตสาหกรรม 25 สาขา อาทิ การก่อสร้าง ยานยนต์ เครื่องไฟฟ้าและการบิน

3.อินเดียเป็นตลาดใหญ่ ด้วยประชากร 1,300 ล้านคนมีชนชั้นกลาง 350 ล้าน เศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก ด้วยมูลค่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ใน 5 ปีข้างหน้า คาดว่าเศรษฐกิจอินเดียจะขยายตัวร้อยละ 7.3 ทุกปี (ข้อมูลจากโออีซีดี ปี 2560) 4.การเตรียมความพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งขบวนการผลิตจะถูกขับเคลื่อนด้วยระบบคอมพิว เตอร์ สิ่งของที่ใช้ประจำวันเชื่อมโยงสื่อสารกันได้โดยผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และการสร้างโรงงานที่ใช้ระบบดิจิทัล 5.สนับสนุน Start up เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ทั้งนี้โดยจะปรับระบบเศรษฐกิจให้เหมาะกับการค้าและธุรกิจที่ใช้ระบบดิจิทัล

6.เมื่อปีที่แล้ว ชาวอินเดียมาเที่ยวเมืองไทยถึง 1.2 ล้านคนนับว่ามากเป็นอันดับ 6 และใช้จ่ายเฉลี่ยวันละ 5,600 บาทต่อคน 7.อินเดียเป็นสะพานเชื่อมโยงกับอนุภูมิภาคทางเศรษฐกิจที่สำคัญสองกลุ่มคือ BIMSTEC หรือ บิมสเตก (บังกลาเทศ อินเดีย เมียนมา ศรีลังกา ไทย เนปาล และ ภูฎาน) ซึ่งขณะนี้กำลังร่างแผนแม่บทการเชื่อมโยงระหว่างกัน อันจะนำไปสู่ความร่วมมือที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ซึ่งอาเซียนได้ประสบความสำเร็จมาแล้วจากยุทธศาสตร์การเชื่อมโยง 2553 อีกกลุ่มได้แก่ SAARC หรือซาร์ค (อินเดียและเอเชียใต้ ได้แก่ บังกลาเทศ ศรีลังกา เนปาล ภูฏาน อัฟกานิสถาน ปากีสถาน และมัลดีฟ)

อาเซียนและอินเดียมีความตกลงการค้าเสรี ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของอินเดีย มีมูลค่า 2.7 แสนล้านบาท (ข้อมูล ณ ปี 2559) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโบไอได้ให้สิทธิพิเศษกับ 15 โครงการของอินเดีย มูลค่า 922 ล้านบาท บริษัทอินเดียระดับยักษ์ใหญ่ อาทิ แอลแอนด์ที คอนสตรัคชั่น ลงทุนด้านพลังงานในจังหวัดเลย กลุ่มอดิตยาเบอร์ลา ด้านเคมีภัณฑ์ ทาทาสตีล ผลิตรถกระบะ กลุ่มอินโดรามา ด้านสิ่งทอและกลุ่มเดินเรือพรีเชียสชิพปิ้ง ด้านชิพปิ้งส่วนบริษัทไทยที่รุกเข้าไปในอินเดียมีอาทิ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ ธนาคารกรุงไทย อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ปูนซิเมนต์ไทย ไทยยูเนียน พฤกษา เรียลเอสเตท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ และไทยซัมมิท โอโตพาร์ท

ถึงเวลาแล้วที่ภาคธุรกิจไทยจะหันมา “รุกตะวันตกรุกอินเดีย” อย่างจริงจัง มิฉะนั้นก็อาจจะ “ตกขบวนรถไฟและตามคู่แข่งไม่ทัน” ดังที่สถานทูตไทยได้เตือนไว้