ปรากฏการณ์ “รายย่อย” VS “ฟองสบู่”

คอลัมน์ สามัญสำนึก
สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

กระแสที่นักลงทุนรายย่อยโดดเข้ามาในตลาดหุ้น จากปรากฏการณ์ “เกมสต็อป” ที่ตลาดหุ้นสหรัฐมาถึงตลาดหุ้นไทยที่ “OR” เปิดขายหุ้นไอพีโอมีรายย่อยสนใจแห่จองซื้อมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 5.3 แสนราย

โดยในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดนักลงทุนไทยหน้าใหม่เปิดพอร์ตหุ้นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนหนึ่งอาจเพราะมีเวลาว่างจากการถูกล็อกดาวน์อยู่บ้าน รวมถึงบรรดาคนรุ่นใหม่ นักศึกษาจบใหม่ที่สนใจการลงทุนเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองมากขึ้น

ท่ามกลางภาวะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำติดดินแบบที่แทบไม่ได้อะไร จนทำให้เกิดการแสวงหาผลตอบแทนการลงทุน หรือที่เรียกว่า search for yield โยกเงินฝากเงินเก็บไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น
ขณะที่ความร้อนแรงของดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐในปีที่ผ่านมาทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ จากแรงหนุนของกลุ่มหุ้นเทคโนโลยีทั้งหลายที่ทำให้นักลงทุนเพลิดเพลินกับผลตอบแทน

ทำให้ปีที่ผ่านมานักลงทุนไทยที่มีศักยภาพ บรรดาขาใหญ่ให้ความสนใจกระโดดไปลงทุนตลาดหุ้นสหรัฐมากขึ้น เพราะหุ้นไทยมีความน่าสนใจน้อยลง เพราะไม่มีหุ้นเทคโนโลยี หรือหุ้นที่อยู่ในเมกะเทรนด์ ยกเว้นช่วงนี้ที่มีหุ้น OR เข้ามาปลุกกระแสและสร้างสีสัน

ขณะที่นักลงทุนอีกส่วนก็หันไปลงทุน “กองทุนหุ้นต่างประเทศ” แบบอาศัยมืออาชีพช่วยบริหาร ซึ่งกลายเป็นกระแสร้อนแรงตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา เมื่อเกิดปรากฏการณ์นักลงทุนรายย่อยแห่เปิดบัญชีซื้อ “กองทุนรวม” โดยเฉพาะกองทุนหุ้นต่างประเทศ

เพราะปีที่ผ่านมากองทุนหุ้นต่างประเทศให้ผลตอบแทนการลงทุนที่สวยหรูมาก โดยเฉพาะพวกกองทุนหุ้นเทคที่บางกองให้ผลตอบแทนกว่า 100%

ร้อนแรงมากจนบรรดาผู้จัดการกองทุนและนักวิเคราะห์ทั้งหลายก็เริ่มส่งสัญญาณเตือนความเสี่ยง จากระดับราคาหุ้นเทคทั้งหลายปรับตัวขึ้นไปสูงมากแล้ว อย่างเช่น หุ้นเทสลา ที่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาระดับราคายังอยู่ที่ 300-400 ดอลลาร์สหรัฐ ต้นปีก็ทะยานขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 700-800 ดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ต่าง ๆ รวมถึงบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) พบว่าแทบทุกบริษัทมีลูกค้าหน้าใหม่เข้าคิวมาเปิดบัญชีเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ถึงขั้นทำให้ฐานลูกค้าเติบโตเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา จนหลายบริษัทรองรับความต้องการลูกค้าไม่ทันถึงขั้นต้องเพิ่มพนักงาน

ขณะที่ราคาหุ้นสหรัฐและสินทรัพย์เสี่ยงอย่าง “บิตคอยน์” ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรงได้รับแรงหนุนจากปัจจัยบวก ทั้งจากที่หลายประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่โดยเฉพาะสหรัฐที่มีการอัดมาตรการการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ การใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย (คิวอี) ต่อเนื่อง ทำให้มีสภาพคล่องทะลักเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง

จากระดับราคาหุ้นเทคทั้งหลายปรับตัวขึ้นอย่างรุนแรง ขณะนี้หลายฝ่ายก็เริ่มตั้งคำถามและส่งสัญญาณ “ฟองสบู่”

หลังจากที่ดัชนี S&P 500 ปรับเพิ่มขึ้น 75% จากระดับต่ำสุดในเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ขณะที่ดัชนี NASDAQ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่านับตั้งแต่เกิดโควิด-19 ระบาด โดยช่วงปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา “มาร์ก ยุสโก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Morgan Creek Capital Management ระบุว่า “ตอนนี้ตลาดหุ้นสหรัฐกำลังเกิดฟองสบู่แบบเดียวกับที่เกิดในปี 2000 เพียงแต่ไม่สามารถบอกได้ว่าฟองสบู่นี้จะแตกเมื่อไหร่”

ปรากฏการณ์นักลงทุนรายย่อยที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องดีที่คนไทยมีความสนใจเรื่องการลงทุนเพื่อการออมมากขึ้น แต่ถ้าเป็นกลุ่มที่เน้นเก็งกำไรระยะสั้นก็ต้องยอมรับความเสี่ยงมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในภาวะที่สัญญาณฟองสบู่แบบนี้

อย่างที่กูรูด้านการลงทุนหลายคนบอกไว้ว่า “การลงทุนเป็นการวิ่งมาราธอน (ระยะยาว) ไม่ใช่การวิ่งแข่ง 100-200 เมตร”