ยุบสภา-ลาออก ?

คอลัมน์ สามัญสำนึก 
อิศรินทร์ หนูเมือง

สมมุติฐานทางการเมือง หลังคำพิพากษาจากศาลชั้นต้น สั่ง “จำคุก” 3 รัฐมนตรี นอกจากการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีคนมองทะลุไปถึง การ “ถอนตัว” และการ “ยุบสภา”

เพราะทั้ง พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ พ้นจากรัฐมนตรีกระทรวงดีอีเอส

ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ พ้นจากรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ

ถาวร เสนเนียม พ้นจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

ทว่า กรณี พุทธิพงษ์-ถาวร ยังได้ไปต่อ เพราะคำพิพากษาไม่ได้ตัดสิทธิทางการเมือง แต่ณัฏฐพล-พ้นทุกตำแหน่ง ด้วยโทษจำคุก+ตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี

เพราะ 3 รัฐมนตรี ไม่เพียงเป็นอิฐก้อนสำคัญ ที่ทำให้มีการสืบทอดอำนาจ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกรัฐมนตรีต่อเนื่อง 2 สมัย แต่ยังเป็นเครือข่ายอำนาจที่แข็งแกร่ง อันต่อท่อมาจากสุเทพ เทือกสุบรรณ และฐานเสียงของมวลมหาประชาชน กปปส.

ดวงเมือง-ดวงรัฐบาลจึงมีผู้รู้เส้นสนกลใน พยากรณ์ไว้ 4 ทาง

ทางแรก ปรับ ครม.ครั้งใหญ่ ล้างไพ่ใหม่ สลับตำแหน่งจากทุกพรรคร่วมรัฐบาล 11 พรรค 276 เสียง (ไม่รวมงูเห่า)

ทางที่สอง ประชาธิปัตย์ถูกริบโควตารัฐมนตรีคืน 1 ตำแหน่ง ถอนตัวออกจากการร่วมรัฐบาล โดยอ้างเงื่อนไข จัดโควตารัฐมนตรีไม่เป็นไปตามที่ตกลง และรัฐบาลไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญตามคำสัญญา

ทางที่สาม นายกรัฐมนตรีบริหารการเมืองไม่ลงตัว ลาออก จัดตั้งรัฐบาลใหม่ในขั้วเดิม

ทางที่สี่ นายกรัฐมนตรียุบสภา เลือกตั้งใหม่ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับเดิม

ทางเลือกภายใต้สถานการณ์และปัจจัยทางการเมืองของ “ประยุทธ์” มีความเป็นไปได้ทั้ง 4 ทาง

หากมองจากปัจจัยบวก 3 เรื่อง คือ การมี “วัคซีนโควิด” และการคลายล็อก ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว เริ่มเงยหัว ฟื้นตัวขึ้นมาได้

การแจกเงินเยียวยากำลังออกดอกออกผลกับคนทั้ง 41 ล้านคน ผ่านการเติมเงินในบัตรคนจน คนละครึ่ง เราชนะ และ ม.33 เรารักกัน รวมทั้งข้าราชการที่รอลุ้นเข้าร่วมขบวนเกือบล้านคน นับเป็นคะแนนนิยมสะสมแต้มในการเลือกตั้งได้เป็นกอบเป็นกำ

ประจวบเหมาะกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีหนทางไปสู่การคว่ำมากกว่าการแก้ไข ด้วยปัจจัยที่ชงโดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน ตัวทำเกมแกนกลางระหว่างรัฐสภาและรัฐบาล มีดัชนีชี้นำมาว่า “แก้ทั้งฉบับไม่ได้-ตั้ง ส.ส.ร.ไม่ได้” เป็นเหตุให้กระบวนการแก้ไขตกไปทั้งฉบับ

ต้องนับหนึ่งใหม่ในอีก 3 เดือน กว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะตั้งไข่ใหม่-ลากยาว จนสิ้นสมัยรัฐบาลอาจจะแก้ไขไม่ได้เลย

ทั้ง 3 ปัจจัยเจือสม ทำให้เกิดปฐมเหตุการถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล และตามด้วยการยุบสภาในสถานการณ์ที่ถือว่าได้เปรียบภายใต้การเลือกตั้งในระบบรัฐธรรมนูญฉบับเก่า

แต่หากคุยกับรัฐมนตรีระดับตัวจริงเสียงจริงในสนามเลือกตั้ง เขากลับเห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่กล้าถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล ด้วยเหตุแห่งการถูกริบเก้าอี้รัฐมนตรี และเกมไม่แก้รัฐธรรมนูญ เพราะกลัวการเลือกตั้งที่กำลังถูกรุมจากมรสุมทุกสารทิศ

ดังนั้น การอยู่ต่อแบบสังคมก้มหน้า-ค้ำบัลลังก์ “ประยุทธ์” จนครบวาระ สไตล์ประชาธิปัตย์ ก็เป็นทางเลือก

เช่นเดียวกับพรรคภูมิใจไทย ที่อยู่ในสถานะได้เปรียบที่สุดในรัฐบาลกำลังเบ่งตัวเลข ส.ส.ทะลุ 61+ งูเห่า อีก 4 เสียง ยกระดับเป็นพรรคอันดับ 2 เป็นได้ทั้งแกนกลางและแกนนำ ค้ำบัลลังก์ได้อีกขา

แถม พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีเครื่องมือ-ไม้ตาย พระราชกำหนดการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ประกาศใช้มาแล้ว 1 ปี นับแต่เดือนมีนาคม 2563-มีนาคม 2564

ดังนั้น ความเป็นไปได้ที่จะมีการ “ยุบสภา” หรือการ “ลาออก” แม้กระทั่งการ “ถอนตัว” ยังคงดำรงสถานะ “การขู่” และการต่อรองทางการเมืองกันเองในหมู่เครือข่ายผู้มีอำนาจ

เพราะไม่ว่าเหตุใด ๆ เกิดขึ้น ทั้งอุบัติเหตุการเมือง-การระบาดรอบใหม่ของโควิด ล้วนถูกผลักให้ “พล.อ.ประยุทธ์” รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว สถานะพรรคร่วมรัฐบาลจึงลอยตัวบนเรือเหล็ก

ทางเลือกที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้เกมลาออก-ยุบสภา ยังเป็นไปได้น้อยในเวลานี้ ?


อุปสรรคของ “พล.อ.ประยุทธ์” จะมีก็แต่เพียงการดำรงสถานะการสืบทอดอำนาจนั้น ไม่ง่ายอีกต่อไป