ปัญหาหลังโควิดที่ต้องรับมือ หนี้พุ่ง-สภาพคล่องล้น-ฟองสบู่ตลาดเงิน

การเงิน ตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ กราฟ เศรษฐกิจ
ช่วยกันคิด
ถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง

โควิด-19 ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในปี 2020 เป็นมูลค่ามหาศาล โดยประมาณว่าเศรษฐกิจโลกน่าจะหดตัวถึงร้อยละ 4.3 รุนแรงกว่าวิกฤตการเงินปี 2009 ที่หดตัวร้อยละ 1.7

ประเทศพัฒนาได้รับผลกระทบรุนแรง ทั้งนี้เป็นผลจากการปิดเมืองและการปิดประเทศในส่วนของประเทศยุโรป และสหรัฐในช่วงที่มีการระบาดอย่างหนัก ประเทศในกลุ่มละตินอเมริกา แอฟริกา และเอเชียใต้ เป็นอีกกลุ่มที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบหนัก

ขณะที่ประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกได้รับผลกระทบน้อยกว่า (จีน ไต้หวัน เกาหลี) ประเทศจีนเป็นประเทศใหญ่ประเทศเดียวที่มีอัตราการขยายตัวในปี 2020 (+2.4%) นอกจากนี้ยังมีอีก 2 ประเทศในเอเชียที่สามารถรับมือกับโควิด-19 ได้ดี และสามารถทำให้เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ คือ ไต้หวัน (+1.5%) และเวียดนาม (3.4%)

สำหรับปี 2021 นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองในด้านบวกว่า การระบาดของโควิด-19 จะคลี่คลายได้หลังจากมีการเร่งผลิตและกระจายได้อย่างครอบคลุมนับแต่กลางปีเป็นต้นไป ทำให้เศรษฐกิจกลับมาดำเนินกิจกรรมได้ตามปกติ คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะกลับมาขยายตัวได้ร้อยละ 4-5

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ยังคงอยู่ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ได้ทิ้งปัญหาให้กับเศรษฐกิจโลกอย่างน้อย 4 ประการ ที่จะส่งผลต่อการขยายตัวในอนาคต คือ การเพิ่มขึ้นของอัตราการว่างงาน มาตรการล็อกดาวน์ ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการจ้างงาน

โดยในช่วงเดือนเมษายน มีคนว่างงานสูงถึง 2,700 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 81 ของกำลังแรงงานทั้งโลก โดยอัตราการว่างงานของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 8.8 ในเดือนเมษายน 2020 (ปรับลดลงมาที่ร้อยละ 6.9 ในเดือนพฤศจิกายน) และในประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศ อัตราการว่างงานเพิ่มมาอยู่ในระดับร้อยละ 10-23 เช่น อินเดีย ไนจีเรีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น

นอกจากนี้ มีแนวโน้มว่าการแพร่ระบาดของโรคในครั้งนี้จะเร่งให้เกิดการนำระบบดิจิทัลออโตเมชั่น และการใช้หุ่นยนต์ มาทดแทนแรงงานรวดเร็วขึ้นในระยะข้างหน้า

ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ประมาณการว่าจำนวนประชากรที่อยู่ในภาวะยากจนเพิ่มขึ้นถึง 131 ล้านคนในปี 2020 และคาดการณ์ว่าในปี 2030 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า จะมีประชากรกว่า 797 ล้านคนที่จะตกอยู่ในกลุ่ม extreme poverty (ตามคำจำกัดความของธนาคารโลก คือ คนที่มีรายได้น้อยกว่า 1.9 เหรียญ หรือประมาณ 57 บาทต่อวัน) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 9 ของประชากรโลก (จากสถิติในปี 2017 มีประชากรที่ตกอยู่ในกลุ่มนี้ 689 ล้านคน)

แม้กระทั่งในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐ ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็เห็นเด่นชัดขึ้น ประชากรประมาณ 8 ล้านคนในสหรัฐต้องตกงานในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้คนที่อยู่ในภาวะความยากจนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 9.3 ในเดือนมิถุนายน เป็นร้อยละ 11.7 ในเดือนพฤศจิกายน 2020

ในขณะที่มูลค่าสินทรัพย์รวมของมหาเศรษฐี 644 คนในสหรัฐเพิ่มขึ้นจาก 2.95 ล้านล้านเหรียญ (ณ เดือนมีนาคม) เป็น 3.88 ล้านล้านเหรียญ หรือ +31.6% ณ เดือนตุลาคม โดยคนที่รวยที่สุด 5 คนแรก มีสินทรัพย์ 596 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 66%

หนี้ภาครัฐเร่งตัว รัฐบาลทั่วโลกได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่องเพื่อลดผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 และการล็อกดาวน์เศรษฐกิจ โดยมีมูลค่ากว่า 12.7 ล้านล้านเหรียญ หรือประมาณ 15% ของจีดีพีโลก (โดยเยอรมนี ญี่ปุ่น และสหรัฐ รวมกันมากกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งหมด) ทำให้หนี้ภาครัฐทั่วโลกเพิ่มขึ้นกว่า 9.9 ล้านล้านเหรียญ ทำให้หนี้ต่อจีดีพีน่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 97 ของจีดีพี

ซึ่งหนี้ที่สะสมเพิ่มขึ้นนี้ จะเป็นภาระในอนาคต (ซึ่งถ้าดอกเบี้ยต่ำก็อาจจะไม่มีปัญหา) ทำให้การดำเนินนโยบายแก้ปัญหาแรงงาน ความเหลื่อมล้ำ และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนทำได้จำกัด และอาจจะไม่สามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่พอเพียงหากเกิดวิกฤตในอนาคต

สภาพคล่องล้น ฟองสบู่ในตลาดการเงิน ธนาคารกลางทั่วโลกได้ช่วยพยุงเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 โดยการเพิ่มปริมาณเงินอย่างมหาศาลเข้าระบบกว่า 8 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งเมื่อรวมกับมาตรการกระตุ้นภาครัฐทำให้สภาพคล่องล้นระบบ (เพราะไม่ได้ถูกใช้ไปในการลงทุน)

สภาพคล่องส่วนเกินดังกล่าวไหลเข้าตลาดการเงินเพื่อไปซื้อสินทรัพย์การเงิน เสี่ยงต่อการเกิดภาวะฟองสบู่ โดยเฉพาะตลาดหุ้น อาทิ หุ้น S&P 500 ปรับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 ทั้ง ๆ ที่เศรษฐกิจสหรัฐหดตัวเกือบร้อยละ 4 ภาวะฟองสบู่ในตลาดการเงินเป็นปัญหาที่อาจจะส่งผลเสถียรภาพของระบบการเงินและการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจ