ESG Bond เทรนด์ใหม่ ระดมทุน-ลงทุนตอบโจทย์ความยั่งยืน

คอลัมน์ ระดมสมอง

Krungthai COMPASS

วิกฤต COVID-19 ทำให้ทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินงานที่ต้องยึดหลัก “ESG” หมายถึงการใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม (environment) ควบคู่กับการพัฒนาสังคม (social) โดยเฉพาะมิติความเท่าเทียม การไม่ละเลยเรื่องธรรมาภิบาล (governance) และการคำนึงถึงความยั่งยืน (sustainability)

เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นวัคซีนสำคัญที่เสมือนเกราะกำบังและช่วยลดทอนผลกระทบจากแรงกระแทกต่าง ๆ ที่ไม่คาดคิดในอนาคตได้

หลายประเทศทั่วโลกกำลังออกแบบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจใหม่ ที่มุ่งไปสู่ “green recovery” เช่น สหรัฐ ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดี Joe Biden ที่ล่าสุดได้กลับเข้าสู่ข้อตกลงปารีสอีกครั้ง พร้อมออก executive order ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการส่งเสริม green economy ขณะที่ประเทศจีนก็ตั้งเป้าบรรลุ “Carbon Neutrality” ภายในปี 2060

ส่วนประเทศไทยเราเองวางแผนที่จะขับเคลื่อนประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ในช่วงปี 2021-2026

แน่นอนว่าแนวคิดเหล่านี้จะนำไปสู่การลงทุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนในมิติ ESG และ BCG ที่เข้มข้นขึ้น และจะทำให้เครื่องมือในการระดมทุนและการลงทุนที่ตอบโจทย์ทิศทางเหล่านี้มีบทบาทมากขึ้นตามไปด้วย และหนึ่งในนั้น คือ การระดมทุนผ่านตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม (green bond) ตราสารหนี้เพื่อสังคม (social bond) และตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (sustainability bond) เรียกรวม ๆ ว่า คือ “ESG bond”

เรื่องนี้เป็นเทรนด์ใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก และในไทย ผู้เขียนจึงอยากชวนทุกท่านมาทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กันว่า “ESG bond” คือ เครื่องมือการระดมทุน และการลงทุนแบบใด และทิศทางการพัฒนาของ “ESG bond” เพื่อให้ทุกภาคส่วนพร้อมรับเทรนด์นี้ และสามารถกลับมาฟื้นตัวและก้าวสู่อนาคตอย่างยั่งยืน

“ESG bond” คือตราสารหนี้ที่ผู้ระดมทุนต้องการนำเงินไปใช้เพื่อดำเนินโครงการต่าง ๆ ภายใต้แนวคิดการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมุ่งพัฒนาสิ่งแวดล้อม สังคม และการมีธรรมาภิบาลที่ดี ซึ่งปัจจุบันแบ่งเป็น 3 ประเภทสำคัญ

ได้แก่ 1) ตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม (green bond) หมายถึง ตราสารหนี้ที่ผู้ออกตราสารต้องการระดมทุนเพื่อนำเงินไปลงทุนหรือชำระคืนหนี้สินเดิม (refinancing) ในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น โครงการพลังงานหมุนเวียน และสร้างอาคารเพื่อสิ่งแวดล้อม

2) ตราสารหนี้เพื่อสังคม (social bond) จะนำเงินที่ระดมทุนได้ไปใช้ในโครงการพัฒนาสังคม อาทิ โครงการเพื่อลดปัญหาการว่างงาน และส่งเสริมความเท่าเทียมในสังคม

และ 3) ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (sustainability bond) คือ ส่วนผสมระหว่าง green bond และ social bond ซึ่งมุ่งหวังทั้งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพัฒนาสังคมควบคู่กันไป

การระดมทุนผ่าน “ESG bond” ทั่วโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยข้อมูลล่าสุดจาก Climate Bonds Initiative (CBI) ชี้ว่า มูลค่าตราสารหนี้ออกใหม่ทั่วโลกที่อยู่ในกลุ่มเพื่อสิ่งแวดล้อม สังคม และความยั่งยืน ในช่วงครึ่งแรกของปี 2020 มีจำนวนมากกว่า 250 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับทั้งปี 2019 ที่อยู่ที่ 341 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ คือ green bond ในโครงการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมพลังงาน ก่อสร้างและอสังหาฯ และคมนาคมขนส่ง

ข้อดีหลัก ๆ ของ “ESG bond” ในมุมผู้ออกตราสาร คือ จะช่วยยกระดับภาพลักษณ์องค์กร และสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน เพราะเป็นการสื่อสารทีเด่นชัดว่า องค์กรให้ความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และความยั่งยืนอย่างจริงจัง นอกจากนั้นยังช่วยดึงดูดและกระจายฐานนักลงทุนสู่กลุ่มใหม่ ๆ และอาจส่งผลดีต่อองค์กรในระยะยาว ขณะที่ในมุมของนักลงทุนก็จะได้รับผลตอบแทนที่น่าพอใจ ในบริษัทที่มีศักยภาพเติบโตอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ บทความจาก Harvard Business Review ซึ่งอ้างอิงงานวิจัยของ Boston University Questrom School of Business ชี้ว่า จากการศึกษาบริษัทที่มีการออก green bond ทั่วโลกกว่า 217 แห่ง ในช่วงปี 2013-2017 พบว่า ราคาหุ้นของบริษัทนั้น ๆ พุ่งสูงขึ้น 0.67% (average cumulative abnormal return) ในช่วงที่มีการประกาศว่าจะออก green bond เนื่องจากเป็นการส่งสัญญาณที่ดีต่อนักลงทุน สร้างความเชื่อมั่นในตัวบริษัท ส่วนหนึ่งเพราะต้องมีผู้เชี่ยวชาญภายนอกมาทบทวนการออก green bond เพื่อให้ได้ตามมาตรฐานสากล

อย่างไรก็ดี ผู้ออกตราสารหนี้ประเภทนี้อาจเผชิญต้นทุนที่สูงขึ้น เนื่องจากการมีขั้นตอน การสอบทาน และการรายงานต่าง ๆ ที่เข้มข้นมากกว่าการออกตราสารหนี้แบบปกติทั่วไป

ในปี 2020 ประเทศไทยมีการออก “ESG bond” มากถึง 86,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัวจากปี 2019 หลังจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนใหความสนใจออกตราสารหนี้ประเภทนี้มากขึ้น นำโดยกระทรวงการคลังที่มีการออก sustainability bond เป็นครั้งแรก มูลค่ามากถึง 5 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของวิกฤต COVID-19 เป็นสำคัญ

นอกจากนั้นยังมีบริษัทต่าง ๆ อาทิ บจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ที่ออก green bond เป็นมูลค่า 8,600 ล้านบาท เพื่อนำไปสนับสนุนโครงการระบบขนส่งที่ลดการก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (low carbon transportation) และ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ที่ออก green bond มูลค่า 5,000 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้สำหรับโครงการด้านพลังงานหมุนเวียน (renewable energy)

การเติบโตของ “ESG bond” ในไทย นอกจากมาจากแรงผลักดันด้าน supply แล้ว ยังเกิดจากการตอบรับที่ดีของ demand ทั้งนักลงทุนสถาบัน นักลงทุนรายใหญ่และรายย่อยอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากการที่มีนักลงทุนต้องการซื้อ sustainability bond ในลอตแรกของปี 2020 ของกระทรวงการคลัง มากกว่าที่มีอยู่ถึง 3.05 เท่า

เช่นเดียวกับ green bond ของ BTS ที่มีนักลงทุนแสดงความจำนงลงทุนกว่า 3.3 เท่า ส่วนกรณี green bond ของ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) พบว่ามียอดแสดงความจำนงลงทุนรวมกว่า 9 เท่า ของมูลค่าหุ้นกู้ทั้งหมดที่เสนอขาย ยิ่งไปกว่านั้น ในบางรุ่นยังพบว่าสัดส่วนนี้สูงเกินกว่า 13 เท่าของมูลค่าที่เสนอขาย

อีกปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนให้ “ESG bond” ในไทยเติบโตเร็ว คือ การสนับสนุนจากหน่วยงานกำกับดูแล เช่น ก.ล.ต. ได้เริ่มมีการกำหนดกฎเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติในการเสนอขาย “ESG bond” ที่ชัดเจนตั้งแต่ปี 2018

นอกจากนั้นยังได้มีการยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นคำขออนุญาตและค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้ (filing) สำหรับ “ESG bond” จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2021 ตลอดจนการผลักดันให้มี reviewer หรือคนที่ตรวจสอบว่า หุ้นกู้นี้เป็น “ESG bond” หรือไม่ ที่เป็น local firm ด้วย พร้อมทั้งส่งเสริมให้กองทุนต่าง ๆ หันมาลงทุนในหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนมากขึ้น

Krungthai COMPASS มองว่าในอนาคต ตลาด “ESG bond” ของไทยจะเติบโตเพิ่มขึ้นตามทิศทางการปฏิรูปเศรษฐกิจที่มุ่งไปสู่ green recovery โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการให้ความสำคัญในเรื่อง ESG ของภาคเอกชน และแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ปี 2021-2026 ของภาครัฐ ซึ่ง Krungthai COMPASS ประเมินว่าจะทำให้การลงทุนเพิ่มอย่างน้อย 8.2 แสนล้านบาท ในช่วง 5 ปีข้างหน้า

ส่วนฝั่งสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เผยว่า มีแผนที่จะออก sustainability bond ต่อเนื่อง เพื่อให้มียอดเงินคงค้างขั้นต่ำอยู่ในระดับ 1 แสนล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 6.5 หมื่นล้านบาท หลังล่าสุดได้มีการออกเพิ่มอีก 1.5 หมื่นล้านบาท ในเดือน ม.ค. 2021

นอกจากนั้น สบน.จะเร่งสนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจ มีการออก green bond และ social bond มากขึ้น อาทิ ส่งเสริมให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาเพิ่มคะแนนให้กับรัฐวิสาหกิจที่มีการออกหุ้นกู้ดังกล่าวเป็นพิเศษ

“ESG bond” จึงนับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการระดมทุน ตลอดจนทางเลือกใหม่ ๆ สำหรับนักลงทุน และยังถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อน ผ่อนคลายปัญหาสังคม และปูพรมสู่ความยั่งยืนให้แก่ประเทศได้อีกด้วย