ความพอดี คือความสุขที่แท้จริงของชีวิต

คอลัมน์ นอกรอบ
รณดล นุ่มนนท์

นับตั้งแต่ต้นปีผมตั้งใจจะเขียนถึงภาพยนตร์ที่ได้ชมมา แต่ยังหาเรื่องถูกใจไม่ได้ จนเมื่อสัปดาห์ก่อนได้ดูหนังเรื่อง Innocent Moves หรือในชื่อภาษาไทยว่า “อัจฉริยะเจ้าหนูหมากรุก” เป็นเรื่องชีวิตของ จอช เวตซ์กิ้น (Josh Waitzkin) นักกีฬาหมากรุกชาวอเมริกัน ผู้ได้รับฉายาว่า “บ๊อบบี้ ฟิชเชอร์น้อย” ด้วยสไตล์การเล่นที่รุกไว ใจกล้า

หากจำกันได้ ผมเคยเขียน Weekly Mail ถึงภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับหมากรุกมาก่อนเมื่อปลายปีที่แล้ว คือนิยายเรื่อง The Queen’s Gambitซึ่งเป็นเรื่องราวของ เอลิซาเบธ ฮาร์มอน (Elizabeth Harmon) เด็กสาวกำพร้าที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมายเพื่อเอาชนะใจตนเอง และชนะศึกบนกระดานจนไปถึงจุดเส้นชัย และนี่อาจทำให้หลายคนคิดว่าผมคงชอบหนังแบบหมากรุกหมากไล่

แต่จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องบังเอิญมากกว่า เพราะภาพยนตร์หมากรุกทั้งสองเรื่องมีแนวคิดมุมมองแตกต่างกัน ที่สำคัญก็คือ ผู้เขียนบทภาพยนตร์ Innocent Moves คือ เฟร็ด เวตซ์กิ้น (Fred Waitzkin) คุณพ่อของ จอช เวตซ์กิ้น หนังเรื่องนี้จึงเป็นชีวิตจริง ๆ ของครอบครัวจอชนั่นเอง

Innocent Moves เป็นภาพยนตร์เก่าที่เข้ามาฉายตั้งแต่ปี 1993 แต่ Netflix เพิ่งนำกลับมาฉายใหม่ โดยดัดแปลงมาจากหนังสือเรื่อง Searching for Bobby Fischer ของเฟร็ด

ตลอดเวลา 110 นาที ผู้ชมจะได้รับทราบเรื่องราวของหนูน้อย จอช เวตซ์กิ้น ตั้งแต่อายุเพียง 6 ขวบที่ใช้ชีวิตเหมือนกับเด็กทั่วไปในนครนิวยอร์ก มองไปทางไหนมีแต่ตึกสูงระฟ้า เด็ก ๆ จึงชอบมาเล่นในสวนสาธารณะ เปลี่ยนบรรยากาศที่ต้องอยู่ในอพาร์ตเมนต์อย่างคับแคบและแออัด

หลังโรงเรียนเลิกบอนนี่ แม่ของจอชจะมารับเขาและน้องสาวกลับบ้าน เดินผ่านสวนสาธารณะทุก ๆ เย็น จนกระทั่งวันหนึ่งเขาเห็นเซียนหมากรุกกำลังโขกกันอย่างสนุกสนาน จอชตื่นตาตื่นใจมาก รบเร้าขอแม่นั่งดูวิธีเล่นของบรรดาเซียนเหล่านั้น
และด้วยเวลาไม่นาน จอชสามารถจดจำกลยุทธ์ต่าง ๆ จนเอาชนะเซียนหมากรุกมือเก๋าที่เคยแนะนำเขาได้ สร้างความประหลาดใจให้ผู้เป็นพ่อกับแม่มาก และนี่คือจุดแปรผันที่ทำให้ชีวิตของจอชเปลี่ยนแปลงไป

เมื่อพ่อได้เห็นพรสวรรค์ของจอชก็มุ่งมั่นจะปั้นลูกให้เป็นยอดนักหมากรุก ด้วยการจ้างครูบรู๊ชปรมาจารย์ด้านหมากรุกมาเป็นครูสอนพิเศษ และย้ายจอชไปอยู่โรงเรียนเอกชนที่สอนวิชาหมากรุกเป็นวิชาพิเศษโดยเฉพาะ รวมทั้งห้ามไม่ให้จอชไปเล่นกับเหล่าเซียนในสวนสาธารณะอีก เพราะอยากให้มุ่งเรียนตามตำราที่ครูสอนเท่านั้น

จอชไม่ทำให้พ่อแม่ผิดหวัง เพราะสามารถเอาชนะคู่แข่งได้ในทุก ๆ ทัวร์นาเมนต์ ทั้งประเภททีมและประเภทเดี่ยว เป็นนักหมากรุกอันดับต้น ๆ ในช่วงวัยเด็ก แต่หลังจากดื่มด่ำด้วยคำว่า “ชนะ ชนะ ชนะ”

จอชเริ่มเปลี่ยนไปจากเด็กที่ร่าเริง ไร้เดียงสา กลายเป็นเด็กที่ดูซึมเศร้าและขาดความเชื่อมั่น เริ่มรู้สึกว่าหมากรุกไม่สนุกสำหรับเขาอีกต่อไป ครูบรู๊ชผู้สอนเน้นอยู่ตลอดเวลาว่าเขาต้องเล่นเพื่อ “ชัยชนะ” ไม่ต้องสนใจความผิดความถูก
เขาต้องดูถูกคู่แข่งว่า “ต่ำต้อย ไร้ความสามารถ” ต้องฝึกให้รู้สึกฮึกเหิม นึกถึงแต่ “ความเป็นเลิศ” และทุกครั้งครูบรู๊ชจะมีการให้คะแนน และบอกว่า สักวันหนึ่งจอชจะได้รับประกาศนียบัตร

แต่ปรากฏว่าเขากลับถูกหักคะแนนเพราะทำไม่ได้ตามที่ครูสอน จนทำให้เขาท้อแท้ถึงกับโพล่งถามอย่างเหลืออดว่า “เมื่อไหร่ผมจะได้ประกาศนียบัตรจากครูสักทีละครับ”

ยิ่งไปกว่านั้น ทุก ๆ ครั้งที่พ่อพาไปแข่งขัน เขาจะเห็นแววตาของพ่อที่ตั้งความหวังไว้สูงว่า “ต้องชนะ” ยิ่งทำให้เกิดความเครียดเพราะไม่ใช่จอชกลัวว่าจะแพ้ แต่เพียงกลัวว่าพ่อจะเสียใจ

มีอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อจอชแกล้งแพ้ให้กับคู่แข่งอย่างดื้อ ๆ พ่อผิดหวังมาก คาดคั้นหาคำตอบ ขณะที่ทั้งสองคนคุยกันอยู่ข้างนอกท่ามกลางสายฝน จอชไม่พูดอะไร มองพ่อด้วยแววตาที่เศร้าหมอง แล้วเอ่ยตามประสาเด็กว่า

“พ่อครับทำไมพ่อไปยืนห่างอย่างนั้น” พ่อได้สติดึงลูกชายเข้ามากอดไว้แนบอก และลูกก็พร่ำรำพันว่า “ผมไม่อยากถูกหมายหัวว่าจะต้องเป็นผู้เล่นหมากรุกเก่งที่สุด ทำไม ทุกครั้งที่ผมชนะไม่มีใครแปลกใจเลย ผมเป็นคนธรรมดา ๆ ผมเป็นผู้แพ้ไม่ได้หรือครับ” (Maybe it’s better not to be the best. Then you can lose and it’s OK)

บอนนี่แม่ของจอชกลายเป็นผู้มีสัญชาตญาณดีที่สุด เธอบอกกับสามีว่า “จอชไม่ได้กลัวความพ่ายแพ้ แต่กลัวคุณจะไม่รักเขา” (He is not afraid of losing. He’s afraid of losing your love.)

และนี่คือจุดเตือนสติให้ผู้เป็นพ่อกลับมาสู่โลกของความเป็นจริง พาจอชกลับไปสู่โลกในวัยเด็กที่โหยหาความรัก ความอบอุ่น ไปวิ่งเล่นตามประสาเด็ก และกลับไปนั่งเล่นหมากรุกกับบรรดาเซียนในสวนสาธารณะเหมือนเก่า จนทำให้จอชได้กลับมาเล่นหมากรุกด้วยความรัก ความสนุก นำเกมบุ่มบ่ามแบบเซียนหมากรุก ผสมด้วยความคิดสุขุม หลายชั้น ที่ครูบรู๊ชฝึกสอนมาเป็นสไตล์การเล่นของตัวเอง

ก่อนที่จอชจะเข้าแข่งขันศึกชิงแชมป์หมากรุกเยาวชนของสหรัฐ พ่อพาจอชไปพักผ่อนตกปลา แทนที่จะถูกจับมานั่งขับเคี่ยว ฝึกฝนตำราหมากรุก และที่สร้างความประหลาดใจอย่างมากก็คือ ก่อนที่จะลงแข่งรอบชิงชนะเลิศ ครูบรู๊ชได้นำประกาศนียบัตรใส่กรอบสวยงามมามอบให้ ใบประกาศนียบัตรเขียนว่า

“นี่คือคำรับรองจากใจของครูว่า จอช เวตซ์กิ้น สมควรอย่างยิ่งสำหรับตำแหน่งปรมาจารย์” (This is to certify that Josh Waitzkin has, in the eyes of his teacher, attained the rank of Grandmaster)

พร้อมเข้าสวมกอดลูกศิษย์อย่างอบอุ่น ผลการแข่งขันเป็นอย่างไร ผมขอไม่เฉลย เพื่อไม่ให้เสียอรรถรส สำหรับพวกเราที่อาจจะอยากดูภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยตนเอง เพียงแต่อยากจะบอกว่า ฉากสุดท้ายประทับใจมากที่สุดเมื่อจอชเดินไปกอดคอมอร์แกน เพื่อนในสนามแข่งที่ตกรอบไปตั้งแต่รอบแรก ๆ

พร้อมคำถามว่า “นายอยากรู้ความลับอะไรไหม” ก่อนที่จะพูดต่อว่า

“นายเป็นผู้เล่นที่เก่งกว่าเรามากตอนเราอายุเท่ากับนาย” มอร์แกนตอบขอบคุณพร้อมด้วยรอยยิ้ม

จอชกลายเป็นนักหมากรุกที่เก่งที่สุดในระดับเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีของสหรัฐ เขาเล่นหมากรุกด้วยความสนุก สบายใจ พร้อม ๆ กับการเล่นกีฬานานาชนิด ทั้งเบสบอล อเมริกันฟุตบอลและซอกเกอร์ แถมยังไปตกปลากับพ่อในทุก ๆ ฤดูร้อน

ภาพยนตร์เรื่องนี้จบลงด้วยข้อคิดที่ว่า ความพอดีและความเป็นธรรมชาติ เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความสุขและความพอใจในการใช้ชีวิต

หมายเหตุ – แหล่งที่มา

1/Facebook.com. 2021. เข็นเด็กขึ้นภูเขา. [online] Available at:<https://www.facebook.com/kendekthai/photos/a.468916916480833/1130310070341511>[Accessed 13 March 2021]

2/GotoKnow.2021.หนัง Searching for Bobby Fisher_เด็กชายจอชผู้เปี่ยมพรสวรรค์ด้านหมากรุก. [online] Available at: <https://www.gotoknow.org/posts/588539> [Accessed 13 March 2021]