การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐปี 2021 ส่งผลทั้งบวกและลบต่อเศรษฐกิจโลก

คอลัมน์ ช่วยกันคิด
ถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปี 2021 ดูสดใส ทั้ง ๆ ที่สหรัฐเป็นประเทศที่มีการติดเชื้ออย่างรุนแรง โดยที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงที่สุดในโลก (กว่า 30 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 4 ของผู้ติดเชื้อทั่วโลก) และมีจำนวนผู้เสียชีวิตมากที่สุดกว่า 500,000 คน หรือประมาณ 20% ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลก

สาเหตุที่สหรัฐมีแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจดีกว่าหลายประเทศ ทั้ง ๆ ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง (โดยเศรษฐกิจสหรัฐหดตัวกว่าร้อยละ 10 ในไตรมาส 2 ปีที่แล้ว)

ทั้งนี้ เพราะรัฐบาลสหรัฐได้ใช้เงินพยุงเศรษฐกิจกว่า 2 ล้านล้านเหรียญ โดยเฉพาะการให้เงินช่วยเหลือกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการว่างงาน และช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19

นอกจากนี้ ธนาคารกลางของสหรัฐได้อัดฉีดเงินเข้าระบบกว่า 3 ล้านล้านเหรียญ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบการเงิน ซึ่งรวมแล้วเป็นการอัดฉีดเงินกว่า 5 ล้านล้านเหรียญ หรือร้อยละ 25 ของจีดีพีของสหรัฐ ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี และเศรษฐกิจสหรัฐในปี 2020 จึงหดตัวเพียงร้อยละ 3.5 (ดีกว่าที่ได้คาดการณ์ในช่วงเดือนเมษายน 2020 ว่า สหรัฐจะหดตัวประมาณร้อยละ 6)

สำหรับในปี 2021 นั้น การฟื้นตัวของสหรัฐก็มีแนวโน้มดีต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุน คือ

1.สหรัฐยังคงดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดนได้ผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น มูลค่าสูงถึง 1.9 ล้านล้านเหรียญ และมีแนวโน้มว่าจะมีการเสนองบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีก 3 ล้านล้านเหรียญ (เป็นการลงทุนต่อเนื่องหลายปี) ซึ่งการอัดฉีดเงินอย่างต่อเนื่องของรัฐบาล ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐมีแรงส่งในการฟื้นตัวได้เร็วและแรงกว่าประเทศอื่น ๆ

2.แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวต่อเนื่อง การจ้างงานเพิ่มขึ้นตามลำดับ แต่ธนาคารสหรัฐก็ยังมีท่าทีว่าจะรักษาระดับสภาพคล่องในระบบให้มีต่อเนื่อง และปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่ในระดับต่ำ (ใกล้ 0) ไปอีกอย่างน้อย 2-3 ปี ซึ่งเป็นการใช้นโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

3.ปัจจัยบวกที่สำคัญอีกประการ คือ การเร่งผลิตและฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสหรัฐตั้งเป้าว่า ประชาชนสหรัฐจะได้รับการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงภายในกลางปี 2021 นี้ ทำให้ความกังวลเรื่องการติดเชื้อลดลง ธุรกิจและประชาชนกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ตามปกติ

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมเศรษฐกิจสหรัฐจึงจะฟื้นตัวแรงและรวดเร็วกว่าประเทศอื่น ๆ โดยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวได้ร้อยละ 5-6 ในปีนี้ และกว่าร้อยละ 3 ในปีหน้า (บางสำนักคาดการณ์ว่า จะขยายตัวถึงร้อยละ 7 ในปีนี้ และร้อยละ 5 ในปีหน้า)

ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐนั้นจะส่งผลทั้งในด้านบวกและด้านลบต่อเศรษฐกิจโดยรวม โดยหากมองในแง่บวก การฟื้นตัวของสหรัฐจะช่วยพยุงเศรษฐกิจโลกโดยรวมให้ฟื้นตัวตามไปด้วย เพราะสหรัฐ คือ ผู้บริโภครายใหญ่ของโลก ทำให้การส่งออกน่าจะขยายตัวได้ดีในปีนี้

แต่ในอีกด้านหนึ่ง การฟื้นตัวของสหรัฐ โดยใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ทำให้รัฐบาลต้องกู้เงินมหาศาล ภาระหนี้ของรัฐบาลสหรัฐในอนาคตสูงตามไปด้วย (หนี้ภาครัฐต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นจาก 79% ในปี 2019 เป็น 100% ในปี 2020) ส่งผลให้ดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง (จาก 0.9% ปลายปี 2020 มาเป็น 1.6% ในปัจจุบัน)

ซึ่งสำหรับประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ เช่น ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย อาจได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐ ซึ่งเป็นตัวชี้นำดอกเบี้ยโลก จะเห็นว่าดอกเบี้ยพันธบัตรหลายประเทศได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามสหรัฐไปแล้ว

นอกจากนี้ ประเทศที่เศรษฐกิจอ่อนแอ โดยเฉพาะประเทศที่มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และขาดดุลการคลัง หรือเป็นประเทศที่มีหนี้สูง ยังได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของดอลลาร์ (ซึ่งสะท้อนจากความเชื่อมั่นในการฟื้นตัวของสหรัฐ) โดยธนาคารกลางบางประเทศ เช่น บราซิล รัสเซีย และตุรกี เริ่มต้องเริ่มปรับดอกเบี้ยระยะสั้นขึ้น เพื่อพยุงค่าเงินของตนไม่ให้อ่อนค่าเร็วเกินไป

และสิ่งที่ต้องกังวลในอนาคต คือ หากเมื่อธนาคารกลางสหรัฐดึงสภาพคล่องออกจากระบบ ประเทศตลาดเกิดใหม่ทั้งหลายก็จะได้รับผลกระทบจากภาวะการเงินตึงตัวอีกครั้ง (เหมือนเมื่อครั้งปี 2013) โดยแบงก์ออฟอเมริกา เมอร์ริล ลินช์ คาดการณ์ว่า ธนาคารสหรัฐน่าจะเริ่มดึงเงินออกจากระบบในต้นปี 2022