ฝันกลางฝนสงกรานต์ ถึง…ยุค Post COVID

มาตรการเยียวยา
ชั้น 5 ประชาชาติ
กษมา ประชาชาติ

ฝนตกก่อนเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ ใจลอยนึกถึง “วันหยุด”ที่รัฐบาลมอบให้ยาวนานถึง 6 วัน ตั้งแต่ 10-15 เมษายน 2564 บางคนอาจหยุดเพิ่มวันที่ 16 รวมวันเสาร์-อาทิตย์ 17-18 เมษายน เรียกว่ายาวนานถึง 9 วัน

นอกจากรัฐบาลใจดีขยายวันหยุดแล้ว ยังได้อัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มแบบรัว ๆ ทั้ง ม33 เรารักกัน ต่อโครงการคนละครึ่งเฟส 3 และยังจะมีโครงการเราเที่ยวด้วยกันอีก

เป้าหมายหลัก คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาจับจ่ายใช้สอย เพราะมีตัวเลขจากรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ และ รมว.พลังงาน (คุณสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) ออกมาระบุว่า ยอดเงินออมคนไทยปี 2563 พุ่งขึ้น 11% จากปกติแค่ 8% สะท้อนว่าคนไทยเก็บเก่ง 555 ไม่ใช่นะ สะท้อนว่าคนไทย “ไม่มั่นใจในอนาคต” ต่างหาก จึงเน้นออมวันนี้เพื่อวันหน้า เพลย์เซฟไว้ก่อน

และด้วยยอดเงินออมที่พุ่งเป็นแสนล้านบาท หากมีการนำมาใช้จะมีพลังมาร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตตามเป้าหมายที่รัฐบาลยึดไว้ที่ 4% ได้

ซึ่งแม้ว่าจะสวนทางกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่คาดการณ์ว่าจีดีพีไทยจะขยายตัวเพียง 2.7% ไม่เกิน 3% จากผลกระทบต่อเนื่องจากรายได้การท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัว แต่รัฐบาลเลือกจะปลุกความเชื่อมั่น ด้วยการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เร็วขึ้น จากเดิมมีแผนจะเปิดในเดือนตุลาคม ให้นำร่องเปิดแบบแซนด์บอกซ์ที่ “ภูเก็ต” ก่อนในเดือนกรกฎาคมนี้ นับถอยหลังอีกเพียง 2 เดือน สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งทำคู่ขนานไปด้วยคือความชัดเจนของการกระจายวัคซีน การสร้างความเข้มแข็งให้พื้นที่เสี่ยง และการ์ดต้องไม่ตกหากมีระลอก 3 เกิดขึ้น แน่นอนว่าความหวังที่รอมานานต้องพังลงไปอีก ต้องไม่มีการระบาดคลัสเตอร์ใหม่

แต่หากแผนการกระตุ้นการจับจ่าย การเปิดรับนักท่องเที่ยวไปได้ตามหวัง ก็จะขับเคลื่อนห่วงโซ่ของธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคธุรกิจท่องเที่ยว บริการร้านอาหาร อะไรต่าง ๆ ให้หมุนต่อไปได้ มีเงินจ้างงาน ลดปัญหาการตกงาน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วไทยที่มีจำนวนกว่า 3.1 ล้านราย จ้างงานกว่า 12 ล้านคน อาจจะได้รับอานิสงส์ไปด้วย ไม่กลายเป็นเอสเอ็มอีหนี้เน่า

อนาคตหากธุรกิจขยับ ประเทศพอมีช่องให้หายใจบ้าง การอุดหนุนต่าง ๆ อาจจะลดลงบ้าง รัฐบาลควรดึงเงินที่เหลือจากการ very กู้ ไปสร้างความเข้มแข็งให้ภาคธุรกิจในอนาคต ทั้งการเสริมแกร่งความรู้ การพัฒนาเทคโนโลยีต่อยอดนวัตกรรมต่าง ๆ แบบนโยบายที่ไทยแลนด์ 4.0 อะไรที่เคยวาดไว้ เพราะยุคหลังโควิด post COVID เราจะแค่รักษาจำนวนผู้ติดเชื้อให้นิ่ง คนตายไม่เพิ่มอย่างเดียวไม่ได้ แต่คนที่อยู่รอดต้องแข็งแรงและสมาร์ทด้วย

จากหนังสือ “โลกเปลี่ยน คนปรับ หลุดจากกับดัก ขยับสู่ความยั่งยืน” ที่เขียนโดย อาจารย์สุวิทย์ เมษินทรีย์ เล่าถึงการเริ่มต้นชีวิตใหม่หลังโควิดว่า สังคมหลังโควิดมีระบบนิเวศที่จะเปลี่ยนไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง เริ่มต้นด้วยการมีหลักคิดที่ถูกต้อง ตามมาด้วยการพัฒนาหรือการเพิ่มทักษะ ไม่ว่าจะเป็นทักษะการใช้ชีวิต และทักษะการทำงานและการอยู่ร่วมกับผู้อื่น และเมื่อหลักคิดต่างกันนำไปสู่นิยามความสำเร็จและความล้มเหลวที่ต่างออกไป ทั้งยังทำให้การใช้ความพยายามและความมุ่งมั่นไปสู่หลักคิดนั้นอยู่ในระดับที่ต่างกันด้วย

ในโลกก่อนโควิด ผู้คนจำนวนมากกลัวความเปลี่ยนแปลง กลัวความล้มเหลว จนไม่กล้าคิด ไม่กล้าฝัน ไม่กล้าทำ นำไปสู่ความผิดหวังและสิ้นหวัง พอมาถึงยุคโควิด ทำให้เราได้เห็นการตอบสนองต่อภาวะวิกฤตแบบที่แตกต่างกัน บางกลุ่มยังอยู่ใน fear zone ซึ่งจะมีพฤติกรรม เช่น กักตุนอาหาร ไม่ทำความเข้าใจถึงสถานการณ์ พร่ำบ่นถึงความเลวร้าย

บางกลุ่มอยู่ใน learning zone ตั้งสติ ปรับตัว ตรวจสอบข้อมูล ปล่อยวาง และตระหนักโดยไม่ตระหนก

และบางกลุ่มอยู่ใน growth zone ซึ่งจะเข้าใจสถานการณ์วิกฤต เห็นอกเห็นใจคนอื่น ยอมรับและปรับตัว มองหาโอกาสในวิกฤต และเห็นแนวทางที่สามารถทำประโยชน์ต่อสาธารณะได้

นั่นจึงไม่แปลกที่ผู้บริหารภาคธุรกิจหลายรายมองว่า “โควิดคือโอกาส” เพราะโควิดเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตก็มาเร็วขึ้น เช่น การทำงานจากทางไกลโดยใช้ระบบไอทีต่าง ๆ ถูกพัฒนามากมาย การลงทุนนวัตกรรมสินค้าใหม่ ๆ ก็มาเร็วกว่าที่คาด

อย่างไรก็ตาม อาจารย์สุวิทย์มองว่า จริง ๆ แล้ว โลกหลังโควิดยังอาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงและภัยคุกคามอีกมากมาย ชีวิตเป็นสิ่งที่เลือกไม่ได้ แต่พวกเรามีสิทธิ์จะเลือกอยู่และเลือกใช้ชีวิตได้ว่าจะอยู่ในโซนไหน

สอดรับกับที่ “สุพัฒนพงษ์” ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “พลิกโควิด เป็นโอกาส ประเทศไทยไปต่อ” ในงานสัมมนา “ปี 2021 ประเทศไทยไปต่อ” ที่ บมจ.มติชนจัดขึ้นวันที่ 25 มี.ค. 2564 ว่า เรื่องโควิดไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ๆ ในรอบ 100 ปีอาจเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง การแก้ปัญหาโควิดครั้งนี้จะทำให้เรามีภาพจำไว้เล่าให้ลูกหลานฟังว่าเรารับมืออย่างไร เราพิสูจน์ว่าสามารถรับมือการระบาดระลอกใหม่ ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2563 มีผู้ติดเชื้อเป็นหมื่น ๆ ให้เหลือเป็นเพียงหลักร้อยใน 3 สัปดาห์ เราพบวิถีการควบคุมการระบาดแล้ว เราต้องสร้าง “ประวัติศาสตร์” หน้าใหม่ในยุค post COVID ว่าไม่เพียงต้องอยู่รอด แต่ต้องรอดอย่างสวยงามด้วย