มือไม่ถึง

เตียง รพ.สนาม
Photo by AFP
คอลัมน์ สามัญสำนึก
สมปอง แจ่มเกาะ

โควิด-19 กลับมาโจมตีใหม่รอบนี้ ชาวบ้าน ร้านตลาด ประชาชนรากหญ้าตาดำ ๆ ร้องระเบ็งเซ็งแซ่ไปทั่วสารทิศ

ร้องเพราะการทำมาค้าขายที่กำลังจะฟื้นตัวขึ้นมาได้บ้างก็กลับฟุบหนักลงไปอีก บริษัทห้างร้านโรงงานจะต้องปิดตัวปลดคนงานอีกกี่มากน้อยแค่ไหน

ร้องเพราะตกงาน ไม่มีงานทำ ไม่มีเงินใช้หนี้ ไม่มีจะกิน ฯลฯ

เดือดร้อนซ้ำหนักกันไปทุกหย่อมหญ้า

ช่วงเช้า (23 เมษายน) ระหว่างเดินทางเข้าประจำการที่โรงพิมพ์ คลิกมือถือเพื่ออัพเดตตัวเลขรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,070 คน ! ทำลายสถิติใหม่

แต่ล่าสุดวันนี้ทุบสถิติใหม่ ทำ new high อีกครั้ง ด้วยตัวเลข  2,839 ราย เสียชีวิตเพิ่มอีก 8 คน รวมเสียชีวิตสะสม 129 คน

จากก่อนหน้านี้ที่ตัวเลขจะวิ่งไต่ระดับขยับตัวขึ้นมาเป็นระยะ ๆ ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา

หากยังจำกันได้ จำนวนผู้ป่วยทะลุหลักพันเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 เมษายน ด้วยตัวเลข 1,335 คน จากนั้นก็วิ่งขึ้น-วิ่งลงเล็ก ๆ น้อย ๆ ในกรอบ 1,300-1,500 และ 1,767 (18 เมษา) ก่อนจะทำลายสถิติใหม่ในวันนี้

จากวันที่ 14 เมษา ถึงวันนี้ รวม 10 วัน เท่ากับว่า ตัวเลขเฉลี่ยจำนวนผู้ป่วยรายใหม่มีสูงถึงราว ๆ 1,657 คน เลยทีเดียว

และยังไม่รู้ว่าพรุ่งนี้ มะรืนนี้ หรือวันถัด ๆ ไป จะมีการทำลายสถิติใหม่อีกหรือไม่

ครับ ยอมรับว่าอึ้ง และตกใจไม่น้อย กับตัวเลขที่ทะลุสองพัน (คน)

และยังนั่งลุ้นว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) จะมีมาตรการอะไรออกมาสกัดหรือไม่

สาย ๆ ขึ้นมาหน่อย ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ หลักใหญ่ใจความท่านบอกว่า

“สถานการณ์การแพร่เชื้อขณะนี้ สามารถควบคุมได้”

“แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันจะสูงขึ้น แต่ตัวเลขเฉลี่ยยังอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้”

“คาดว่า จากนี้ไปอีก 2 สัปดาห์ ตัวเลขจะลดลง”

ท่านย้ำอย่างมั่นใจ

แต่อีกด้านหนึ่ง กลับมีเสียงสะท้อนจากบรรดาแพทย์-พยาบาล-เภสัชกร “นักรบเสื้อกาวน์” ที่กำลังสู้รบกับโควิด-19 ในสมรภูมิรบ ออกมาเป็นระลอก ๆ ถึงความยากลำบากในการทำงาน การรักษาคนไข้

ยกตัวอย่างแค่เรื่องยาต้านไวรัส 2 ตัว favipiravir ชนิดกิน และ remdesivir สำหรับฉีด ขณะที่ฟากฝั่งการเมืองและส่วนกลางบอกว่า ยามีเพียงพอ

แต่ในข้อเท็จจริงกลับพบว่า ตอนนี้โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนทั่วสารทิศต้องวิ่งหายืมยากันจ้าละหวั่น และไม่รู้จะมียารักษาคนไข้ได้อีกกี่วัน

เปรียบเสมือน การส่งทหารกล้าไปรบ แต่ไม่มีอาวุธให้

ทำไมไม่สต๊อกยาไว้ที่สนามรบให้มาก ๆ ให้เพียงพอกับความต้องการ เพื่อที่ทีมแพทย์จะหยิบใช้ได้อย่างทันท่วงที

ที่สำคัญ ตอนนี้ควรต้องเร่งสต๊อกหรือสั่งยาเข้ามาให้เพียงพอกับความต้องการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเร่งด่วน

หากหายาไม่ทัน คนไข้คงตายกันอีกไม่น้อย

นี่อาจจะเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนถึงการบริหารจัดการของกระทรวงสาธารณสุขในยามหน้าสิ่วหน้าขวานได้ไม่มากก็น้อย

นี่ยังไม่นับรวมถึงการบริหารการจัดการวัคซีนที่มะงุมมะงาหรา โอ้เอ้ ชักช้า จนภาคเอกชนอดรนทนไม่ได้ ต้องรวมตัวรวมพลังลุกขึ้นมากระทุ้ง

ไม่เพียงเฉพาะแค่เรื่องการจัดหาวัคซีนเท่านั้น แต่การบริหารจัดการเรื่องการฉีดก็ต้วมเตี้ยมเหลือใจ

จึงไม่แปลกใจที่ช่วงหลัง ๆ มานี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ยังต้องกระโดดลงมาบัญชาการด้วยตัวเอง เพราะท่านรู้อยู่แก่ใจว่า หากขืนปล่อยไว้ เศรษฐกิจไทยล่มสลายแน่

ถึงบรรทัดสุดท้ายนี้ สรุปคำจำกัดความได้สั้น ๆ ว่า การบริหารการจัดการระบบสาธารณสุขล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

อย่าลืม…กรุงศรีอยุธยา ไม่ (เคย) สิ้นคนดี