ตั้งกองทุนอุตสาหกรรมยา 5 หมื่นล้าน หนุนเอกชน ‘วิจัย-พัฒนา’

คอลัมน์ ดุลยธรรม
ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ

การกลายพันธุ์ของไวรัส COVID-19 จะทำให้วัคซีนที่ใช้กันอยู่ได้ผลน้อยลง อาจจำเป็นต้องฉีดวัคซีนใหม่ทุกปี สร้างต้นทุนมหาศาลต่อประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่สามารถผลิตวัคซีนเองได้ และต้องอาศัยนำเข้า และวิกฤต COVID-19 เป็นวิกฤตสาธารณะครั้งใหญ่คุกคามประชากรทั่วโลกมากกว่า 7 พันล้านคนพร้อม ๆ กัน จึงประสบภาวะขาดแคลนวัคซีน

จำเป็นที่ประเทศไทยต้องจัดตั้งกองทุนเพื่อลงทุนในอุตสาหกรรมยา และวัคซีน ซึ่งควรจะลงทุนเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนและขับเคลื่อนให้กลไกตลาดและภาคเอกชนพัฒนาการวิจัยและสร้างนวัตกรรมด้านนี้อย่างจริงจัง

ปัจจุบันตลาดยาและวัคซีนในไทยและในระดับโลกนั้นไม่ได้เป็นตลาดแข่งขันสมบูรณ์ รัฐจำเป็นต้องมีบทบาทส่งเสริม ขณะเดียวกันต้องกำกับไม่ให้เกิดการผูกขาด เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการใช้บริการได้เมื่อจำเป็น

เนื่องจากอุตสาหกรรมยาและวัคซีนต้นทุนการวิจัยและพัฒนาสูงมาก จึงปิดกั้นการเข้าสู่ตลาดของผู้ผลิตรายใหม่สัญชาติไทย บริษัทยาข้ามชาติขนาดใหญ่ควบคุมองค์ความรู้ สิทธิบัตรอย่างสิ้นเชิง ทำให้ไทยอยู่ในฐานะผู้ซื้อที่ไม่มีอำนาจต่อรองอะไร

สำหรับการจัดตั้งกองทุนเพื่อลงทุนในอุตสาหกรรมยาควรใช้งบประมาณอย่างต่ำ 50,000 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมอุดหนุนอุตสาหกรรมยาทั้งการวิจัยและพัฒนายา ซึ่งเป็นยาสารเคมี และยาชีวภาพ เพราะบริษัททางด้านเทคโนโลยีชีวภาพจะเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และอุตสาหกรรมทางด้าน genomics จะเป็นอุตสาหกรรมที่ขยายตัวอย่างก้าวกระโดด

หากมีการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด และไวรัสสายพันธุ์อื่น ๆ และจำเป็นต้องฉีดวัคซีนทุกปี อาจมีประชาชนจำนวนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงยาหรือวัคซีนรุ่นใหม่ได้ รัฐบาลอาจต้องใช้มาตรการการบังคับใช้สิทธิบัตร (compulsory licensing) ซึ่งเป็นการที่รัฐบาลอนุญาตให้ผู้ผลิตยาที่ไม่ใช่เจ้าของสิทธิบัตรยาผลิตยา หรือนำเข้ายานี้จากประเทศอื่นที่มีราคาถูกกว่า

โดยรัฐบาลจะต้องจ่ายค่าตอบแทนแก่เจ้าของสิทธิบัตรยาเพื่อชดเชยในความเสียหายที่ขายยาหรือวัคซีนไม่ได้ โดยสามารถนำมาตรการนี้มาใช้ได้ในสถานการณ์ที่อาจจะเกิดการแพร่ระบาดจากโควิดกลายพันธุ์ในอนาคต หรือรับมือกับโรคระบาดอุบัติใหม่ต่าง ๆ โดยใช้เงินจากกองทุน 50,000 ล้านบาทที่จัดตั้งขึ้นได้

ในทางตรงกันข้าม หากเราไม่ลงทุนอย่างจริงจังในเรื่องดังกล่าว และไม่พัฒนาระบบและกลไกในการจัดการเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ข้อได้เปรียบทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไรกับสังคมไทย

ล่าสุดมีข่าวดีว่า มีการผลิตยาเม็ด “Molnupiravir” ได้ผลดีรักษาผู้ป่วยโควิดระยะแรก ได้รับการพัฒนาร่วมกันโดยบริษัทยารายใหญ่สองแห่ง คือ “Rigibel” ในเยอรมนี และ “Merck” ในสหรัฐอเมริกา และประสบความสำเร็จในการทดลองทางคลินิกขั้นที่ 1 และ 2 ในมนุษย์ การทดลองทางคลินิก ระยะที่ 3 ในปัจจุบันใกล้สิ้นสุดลงและได้ผลดีมาก

หากยาชนิดนี้ประสบความสำเร็จตามที่คาด ในอนาคตผู้ป่วยสามารถรับประทานยาได้ด้วยตัวเองที่บ้าน และหายใน 5 วัน ซึ่งสะดวกในการใช้มาก จะทำให้การรักษาไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ในอนาคตก็เหมือนกับการรักษาโรคหวัดในตอนนี้

อย่างไรก็ตาม ไทยต้องรอนำเข้าและยังไม่แน่ใจว่า คนไทยสามารถจะได้ใช้ยาแบบนี้เมื่อไหร่ ดังนั้น การพึ่งพาตนเองทางด้านยารักษาโรคและวัคซีนเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งกับประเทศ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่หากผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในระลอก 3 เกินกว่า 3,000 รายต่อวัน ติดต่อกันเป็นเวลาเกิน 3 เดือน คาดว่าอุปทานของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์น่าจะไม่สามารถรองรับความต้องการในการรักษา ส่งผลต่อระบบสาธารณสุขทั้งระบบ และอาจทำให้ยอดผู้เสียชีวิตจากการเจ็บป่วยสูงขึ้น

ประเทศไทยจึงต้องเร่งป้องกัน COVID-19 ไม่ให้เกิดกลายพันธุ์ ด้วยการฉีดวัคซีนให้ครบ 70% เป็นอย่างน้อยก่อนเปิดประเทศ โดยตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป 500,000 คนต่อวัน

หากทำได้นอกจากช่วยสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อแล้ว ยังมีกรณีตัวอย่างบางประเทศสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ด้วยการฉีดวัคซีน ผลดีที่ตามมาคือเศรษฐกิจ หรือกิจการบางอย่างสามารถฟื้นตัวได้ค่อนข้างเร็ว