
คอลัมน์ บทบรรณาธิการ
แม้เทียบไม่ได้กับสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศอินเดีย ที่วิกฤตรุนแรงมีผู้ป่วยเกินกว่า 3 แสนคนต่อวัน ยอดผู้เสียชีวิตวันละกว่า 2 พันคน แต่การแพร่ระบาดของโควิดในประเทศไทยที่ขณะนี้หลายจังหวัดทุกภูมิภาคมีผู้ติดเชื้อในระดับตำบล หมู่บ้าน เท่ากับสังคมไทยทั้งในเมืองในชนบทกำลังตกอยู่ในวงล้อมโควิด-19
ประกอบกับผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิตภายในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยหลายรายต้องกักตัวเองอยู่ในบ้าน ไม่มีหน่วยงานใดรับตัวเข้ารักษาในสถานพยาบาล รวมทั้งการหยิบยกเหตุผลข้ออ้างเตียงเต็ม นำมาซึ่งเหตุการณ์น่าเศร้าสลด บางคนอาการเข้าขั้นโคม่า หรือเสียชีวิต กดดันให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องปรับระบบปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เพราะนับวันความเชื่อมั่นในรัฐบาลยิ่งติดลบ
- เช็กผลเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม ส.ก. ใครชนะ เรียลไทม์
- สรุปคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 100% ที่ 2 สุชัชวีร์ เฉือน วิโรจน์ 785 คะแนน
- ดร.เอ้ สุชัชวีร์ เปิดตัวภรรยา คนที่ 2 ลมใต้ปีกในสนามผู้ว่าฯ กทม.
อย่างไรก็ตาม ยอดผู้ป่วยใหม่ที่พุ่งขึ้นต่อเนื่องกว่า 2 พันคนต่อวัน ยังไม่มีแนวโน้มจะลดน้อยลง ทั้งที่หลายจังหวัดทยอยประกาศมาตรการคุมเข้ม นอกจากนี้ มีการคาดการณ์ว่าภายในเดือน พ.ค. 2564 ผู้ติดเชื้อโควิดรายวันจะพีกสุด สถานการณ์จากนี้ไปจึงน่าห่วงว่าระบบสาธารณสุขไทยจะรับมือไหว หรือถึงขั้นต้องปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม
ไม่แปลกที่ภาคเอกชนหลายองค์กรจะสะท้อนมุมมองต่างไปจากก่อนหน้านี้ ที่เคยประสานเสียงค้านการประกาศล็อกดาวน์ เพราะหวั่นจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจเหมือนที่เคยเกิดขึ้นช่วงภาครัฐใช้ยาแรงต้นปี 2563 ก็เริ่มส่งสัญญาณกลาย ๆ ว่า ถ้าหากสถานการณ์บีบบังคับให้ต้องออกมาตรการคุมเข้มขึ้นอีกก็พร้อม ดีกว่าโควิด-19 จะลามจนเอาไม่อยู่
ท่ามกลางโควิดมฤตยูที่ยังไม่รู้จุดจบ รัฐบาล กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องปรับระบบการทำงาน การบริหารจัดการให้ตอบโจทย์การแก้ปัญหาในภาวะวิกฤตมากกว่าที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็เร่งสกัดการติดเชื้อแพร่เชื้อ ควบคุมสถานการณ์ให้คลี่คลายโดยเร็ว
ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ตัวแทนภาคเอกชนอย่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ตลอดจนองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ เสนอตัวพร้อมสนับสนุนช่วยเหลือรัฐกู้วิกฤตโควิด ระลอก 3 ที่ลุกลามหนักขึ้น โดยเฉพาะการแบ่งเบาภาระในการจัดหา การกระจายฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันให้คนทั้งประเทศ
คำตอบสุดท้าย ความหวังสูงสุดจะบรรลุเป้าหมายหรือไม่อย่างไร ผลในทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมเท่านั้นจะเป็นเครื่องชี้วัดถึงความสำเร็จ เพราะบนทางเลือก ทางแยกที่มีให้เลือกเดิน รัฐบาลในฐานะผู้บริหารประเทศ กับเอกชนที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จะต่างคนต่างทำ นำไปสู่สถานการณ์ระบบสาธารณสุขกำแพงแตกรับมือไม่ไหว หรือจะใช้จุดแข็งที่มีฝ่าวิกฤตโควิดล้อมเมือง