บทเรียนโควิด เดิมพัน “ชีวิต”

คอลัมน์สามัญสำนึก
สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

การระบาดของโควิดระลอก 3 ด้วย “ไวรัสกลายพันธุ์” ที่มาพร้อมกับความไม่รับผิดชอบของบุคคลชนชั้นผู้นำ ที่จุดระเบิดการระบาดรอบใหม่ทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ต้นเม.ย. ถือเป็นภาวะวิกฤตของประเทศที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งทะลุหลักพัน จนเกือบแตะ 3 พันคน

ขณะที่ความล่าช้าของการฉีดวัคซีน ทำให้นักธุรกิจขาใหญ่ออกมาสะท้อนถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดหา “วัคซีนทางเลือก”

พร้อมการผนึกกำลังของภาคเอกชน ภายใต้หมวกของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดย “สนั่น อังอุบลกุล” ประธานกรรมการหอการค้าไทย ประกาศแท็กทีม 40 ซีอีโอ มาช่วยสนับสนุนแผนการฉีดวัคซีนของรัฐบาล เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ ที่มาพร้อมแผนการทำงานชัดเจน ที่สะท้อนการทำงานของมืออาชีพภาคธุรกิจที่แท็กทีมกันมาเป็นอย่างดี และกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ

เพราะทุกฝ่ายยอมรับว่า “วัคซีน” คือหัวใจสำคัญที่สุดในการจัดการกับทั้งโรคระบาดและปัญหาเศรษฐกิจ เพราะตราบที่ประชาชนยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ขณะที่โควิด-19 ยังอยู่บนโลกใบนี้ การที่จะกลับมาฟื้นเศรษฐกิจเป็นเรื่องยาก และปัญหาการระบาดระลอกใหม่ก็พร้อมที่จะกลับมาได้ตลอดเวลา

“ญนน์ โภคทรัพย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น และในฐานะประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่กล่าวว่า การระบาดระลอก 3 รุนแรงกว่าทุกครั้ง และแทบจะเกินขีดความสามารถของสาธารณสุขไทยจะรับไหว แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้มาถึงการ “เดิมพันครั้งสุดท้าย” ทั้งเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชน รวมถึงการอยู่รอดของธุรกิจและเศรษฐกิจไทย

กระทั่งเมื่อ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประชุมคณะที่ปรึกษาภาครัฐและเอกชน เรื่องการยกระดับแผนกระจายวัคซีนเป็น “วาระสำคัญเร่งด่วนสูงสุด” โดยตั้งศูนย์บริหารจัดการวัคซีนแบบเบ็ดเสร็จ ที่มีนายกฯเป็นประธาน พร้อมกับเป้าหมายฉีด 30 ล้านคนใน 3 เดือน เป็นการส่งสัญญาณจัดการเรื่อง “วัคซีน” หลังจากบิ๊กธุรกิจทั้งหลายออกมาเรียกร้อง

อีกด้านที่ประชาชนกังวลมากก็คือ ความพร้อมของระบบสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วย หลังสัปดาห์ที่ผ่านมามีคนไทยติดเชื้อจำนวนมากต้องกักตัวอยู่บ้านเพื่อรอเตียงโรงพยาบาล จนทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากอาการหนักขึ้น และบางรายกว่าจะถึงมือหมอก็สายไปเสียแล้ว

ปัญหาคืออะไรกันแน่ โรงพยาบาลเตียงเต็มจริงหรือ

ทั้งที่ผ่านมาหลายฝ่ายมั่นใจว่า ระบบสาธารณสุขเมืองไทยมีความพร้อมรับมือ เช่นที่ก่อนหน้า รัฐบาลประกาศเตรียมเปิดประเทศ พร้อมแผนดึงนักธุรกิจ เศรษฐีต่างชาติให้มาอยู่เมืองไทยเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพราะประเทศไทยมีความพร้อมทั้งด้านอาหารและสาธารณสุข

บทเรียนจากการระบาดระลอก 3 สะท้อนให้เห็นว่า ระบบสาธารณสุขไทยยังมีปัญหา ไม่ใช่เรื่องศักยภาพหรือความพร้อม แต่เป็นปัญหา “การบริหารจัดการ” ในภาวะวิกฤต รวมถึงการเชื่อมโยงฐานข้อมูลต่าง ๆ ที่ขาดการบูรณาการ

เช่นเดียวกับที่ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า บทเรียนจากโควิด-19 ทำให้เรารู้ว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้มีความทนทาน (resilience) เหมือนที่เคยคิด แม้ที่ผ่านมาประเทศไทยเจอวิกฤตการเงินโลกก็ผ่านมาได้สบาย เพราะความจริงคือหมัดที่ชกเข้ามาโดนเราถาก ๆ แต่โควิดโดนจุดตายของไทยเต็ม ๆ จากที่พึ่งพาธุรกิจท่องเที่ยวมากแบบไม่ได้วางแผน

ทำให้ครั้งนี้เศรษฐกิจไทยทรุดหนักกว่าเพื่อนบ้าน ฟื้นตัวก็ช้ากว่าด้วย

นอกจากนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยมีกันชน (cushion) ไม่มากพอ โดยเฉพาะปัญหา “หนี้ครัวเรือน” สูงมาก ประชาชนมีแต่หนี้ ไม่มีเงินออม ทำให้รับภาวะช็อกการขาดรายได้ไม่ได้ และเป็นจุดเปราะบางของเศรษฐกิจไทย

นี่คือบทเรียนโควิด-19 ที่เดิมพันด้วยชีวิตประชาชน ที่ต้องการความร่วมแรงร่วมใจการทำงานในภาวะวิกฤตอย่างแท้จริง