ฉ้อโกงด้านอาหารทะเล ปัญหาที่น่าวิตกกังวลของทั่วโลก

นอกรอบ

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ
ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

ตลาดอาหารทะเลโลกกำลังเผชิญกับปัญหาการสำแดงแหล่งที่มี การระบุประเภท ชนิด แม้กระทั่งน้ำหนักของอาหารทะเลไม่ตรงกับปริมาณที่เป็นจริง กรณีดังกล่าวสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. รายงานต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า การติดฉลากอาหารทะเลที่ไม่ถูกต้องกำลังระบาดอย่างมากในภาคอุตสาหกรรมอาหารทะเล โดยมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 55 ของผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในบางประเทศที่มีการควบคุมที่ไม่มากพอในการป้องกันในเรื่องนี้

สำหรับการติดฉลากอาหารทะเลที่ไม่ถูกต้อง มีตั้งแต่การระบุชนิดของปลาที่จำหน่ายผิดชนิดไปจนถึงการโกงน้ำหนัก ไม่ว่าจะเป็นการระบุจำนวนปลาที่บรรจุมากเกินจริง รวมไปถึงการใส่น้ำแข็งเพื่อเพิ่มน้ำหนัก

การติดฉลากที่ไม่ถูกต้องกลายเป็นปัญหารุนแรงขึ้นในระหว่างห่วงโซ่อุปทาน สัตว์น้ำที่จับได้จะถูกส่งจากเรือจับไปยังเรือขนส่งเพื่อการแปรรูป ซึ่งเป็นการง่ายและได้กำไรสูงจากการปลอมปนแหล่งที่มาของสัตว์น้ำ โดย Dane Chauvel ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Organic Ocean Seafood ณ นครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา กล่าวกับ The Food Institute ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญถึงแม้ว่าเขาจะทราบข้อมูลค่าความเสียหายจากปัญหาดังกล่าว แต่ก็ส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ เมื่อมีการตัดแต่งปลาด้วยการลอกหนัง ตัดครีบ หรือตัดหาง แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ยังไม่สามารถแยกแยะชนิดปลาได้ ส่งผลให้มีการนำปลาราคาถูกมาจำหน่ายเป็นปลาราคาแพง

สำนักข่าว The Guardian รายงานว่า ปัญหานี้กำลังเป็นปัญหาระดับโลกจากผลการวิเคราะห์จำนวน 44 เรื่อง ใน 30 ประเทศทั่วโลก ทั้งจากร้านอาหาร ผู้จำหน่ายสัตว์น้ำ และซูเปอร์มาร์เก็ต พบว่าค่าเฉลี่ยของการจัดฉลากที่ไม่ถูกต้องคิดเป็นร้อยละ 36 จากผลิตภัณฑ์จำนวน 9,000 รายการ โดยประเทศที่พบความคลาดเคลื่อนจากฉลากมากที่สุด คือ สหราชอาณาจักร และแคนาดา ซึ่งมีอัตราสูงถึงร้อยละ 55 ตามด้วยสหรัฐอเมริกาที่ระบุผิดพลาดคลาดเคลื่อนร้อยละ 38

จากงานศึกษาของสหภาพยุโรป (EU) เมื่อปี ค.ศ. 2018 พบว่า ร้อยละ 70 ของปลากะพง (snapper) ที่จำหน่ายในสหราชอาณาจักรเป็นสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วปลาดังกล่าวมีมากกว่า 38 สายพันธุ์ และบางสายพันธุ์ยังถูกพิจารณาว่าใกล้สูญพันธุ์อีกด้วย

ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงจากงานศึกษาเมื่อปีที่แล้ว โดย Rashid Sumaila นักเศรษฐศาสตร์ประมงจากสถาบัน Institute for the Oceans and Fisheries แห่งมหาวิทยาลัย University of British Columbia ระบุว่า ปลาจำนวน 8-14 ล้านตันถูกจับอย่างผิดกฎหมายในแต่ละปี ส่วนใหญ่มาจากเรือประมงจากต่างชาติ และใช้วิธีขนส่งมายังเรือประมงใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของฉลากที่ไม่ถูกต้อง

Sumaila กล่าวกับสำนักข่าว The Guardian ว่า มีผู้สามารถสร้างรายได้จำนวนมหาศาลจากการกระทำนี้ โดยเขาสรุปว่า การกระทำลักษณะนี้จะทำให้อุตสาหกรรมประมงเสียรายได้ปีละ 26-50 พันล้านเหรียญสหรัฐ

การแก้ปัญหาที่เป็นไปได้ Chauvel กล่าวว่า กฎระเบียบของรัฐบาลที่เข้มงวดเป็นสิ่งสำคัญ ระหว่างนี้บางบริษัทหันมาใช้เทคโนโลยี blockchain ในขณะที่บริษัท Oceana ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างเนื้อเยื่อเพื่อตรวจสอบ DNA โดยการทำงานร่วมกันกับนักวิทยาศาสตร์จากมหา’ลัย Guelph เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทเป็นปลาชนิดที่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม บางครั้งจะพบการติดฉลากที่ไม่ถูกต้องบนผลิตภัณฑ์ เนื่องจากปลาสายพันธุ์หนึ่งมีลักษณะเหมือนกันกับอีกสายพันธุ์อย่างมาก กรณีนี้คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราไม่สามารถสุ่มตรวจ DNA ได้ตลอดเวลา อาจทำได้ในบางครั้งบางคราวเพราะค่าใช้จ่ายในการวิเคราะห์สูง

เหตุผลในการมองโลกในแง่ดีสำหรับปัญหาดังกล่าว ในทางที่ดีได้มีงานศึกษาที่เผยแพร่เมื่อระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาของ Canadian Food Inspection Agency โดยพบว่าร้อยละ 92 ของตัวอย่างปลามีการติดฉลากที่เหมาะสมจากการสุ่มตัวอย่างระหว่างวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2019 ถึงในที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 2020 ในปลาบัตเตอร์ฟิช ปลาคอด ปลาฮาลิบัต ปลากะพงขาว ปลากะพงแดง (สีแดงและสีอื่น ๆ) ปลาทูน่า และปลาหางเหลือง

เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น รัฐบาลแคนาดาได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 24.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยครอบคลุมถึงปี ค.ศ. 2024 เพื่อแก้ไขปัญหาการฉ้อโกงด้านอาหาร เพื่อปกป้องผู้บริโภคจากการหลอกลวง และปกป้องบริษัทต่าง ๆ จากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม