“เจดี-อาลีบาบา” มังกรอีคอมเมิร์ซบุกไทย

คอลัมน์ ชั้น 5ประชาชาติ
โดย เชอรี่ ประชาชาติ [email protected]

สมรภูมิอีคอมเมิร์ซในบ้านเราคึกคักยิ่ง จากการยกทัพเข้าสู่ตลาดของยักษ์อีคอมเมิร์ซจากจีน ทั้งเบอร์หนึ่ง”อาลีบาบา” ของ “แจ็ก หม่า” หลังซื้อลาซาด้า และจับมือกับ “กลุ่มแอสเซ็นด์” เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซี.พี. ล่าสุดเบอร์สอง “เจดีดอตคอม” ของ “ริชาร์ด หลิว” คู่แข่งอาลีบาบาก็มา โดยร่วมกับยักษ์ค้าปลีกไทย “กลุ่มเซ็นทรัล” ทั้งคู่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ ต้องการเป็นผู้นำค้าปลีกออนไลน์ในไทย

จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อ 2 มังกรจีนบุกไทย

ในมุมผู้บริโภคน่าจะดีจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น และส่งผลให้ตลาดอีคอมเมิร์ซโดยรวมโตแน่นอน แต่ผู้ประกอบการไทยเองก็ต้องเตรียมให้พร้อมรับการแข่งขัน และโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมากให้ได้

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. เปิดเผยผลสำรวจมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซในปี 2559 ว่า มี 2,560,103.36 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็น B2B ที่ 1,542,167.50 ล้านบาท หรือ 60.24% รองลงมาเป็น B2C กว่า 703,331.91 ล้านบาท หรือ 27.47% ที่เหลือ 314,603.95 ล้านบาท หรือ 12.29% เป็นมูลค่าธุรกิจประเภท B2G

เทียบปี 2559 กับปี 2558 พบว่า B2B โตขึ้น 15.53% เช่นเดียวกับ B2C ที่โตขึ้น 37.91% แต่ B2G เติบโตลดลง 21.42% เนื่องจากการยกเลิกวิธีการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐโดยวิธี e-Auction ทำให้กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ใช้ข้อมูลมูลค่าอีคอมเมิร์ซ B2G ปี 2559 ที่มาจากวิธีการจัดซื้อจัดจ้างด้วย e-Market และ e-Bidding เท่านั้น

การแบ่งมูลค่าอีคอมเมิร์ซตามประเภทอุตสาหกรรม 8 กลุ่ม พบว่า อันดับ 1 คือ ค้าปลีกและค้าส่ง 713,690.11 ล้านบาท (31.78%) อันดับ 2 บริการที่พัก 607,904.89 ล้านบาท (27.07%) อันดับ 3 การผลิต 428,084.73 ล้านบาท (19.06%) อันดับ 4 ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 384,407.71 ล้านบาท (17.12%) อันดับ 5 การขนส่ง 83,929.05 ล้านบาท (3.74%) อันดับ 6 ศิลปะความบันเทิง และนันทนาการ 15,463.46 ล้านบาท (0.69%)
อันดับ 7 อุตสาหกรรมบริการอื่น ๆ 9,622.77 ล้านบาท (0.43%) และอันดับ 8 อุตสาหกรรมการประกันภัย 2,396.69 ล้านบาท (0.11%)

โดย “สพธอ.” คาดการณ์ว่า มูลค่าอีคอมเมิร์ซปี 2560 มีแนวโน้มโตต่อเนื่อง มาอยู่ที่ 2,812,592.03 ล้านบาท เพิ่ม 9.86%

“สุรางคณา วายุภาพ” ผู้อำนวยการ สพธอ. กล่าวว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในเกือบทุกอุตสาหกรรมมีทิศทางการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี จากปัจจัยสนับสนุน 4 ประการ ได้แก่ การสนับสนุนและส่งเสริมจากภาครัฐเพื่อผลักดันธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศ โดยมุ่งสนับสนุนและพัฒนาผู้ประกอบการระดับฐานราก ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการท้องถิ่น ให้ค้าขายออนไลน์ได้จริง รวมถึงพัฒนารายเดิมให้มีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ทั้งส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาทำอีคอมเมิร์ซมากขึ้น

ปัจจัยที่สองคือ ผู้ประกอบการหันมาเพิ่มช่องทางการขายสินค้า และบริการผ่านอีคอมเมิร์ซมากขึ้น ทั้งช่องทางการขายออนไลน์หลากหลายขึ้นจึงเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายและตรงกลุ่มขึ้น

ถัดมาเป็นศักยภาพในการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซไทย จากพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทย โดยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตปี 2560 พบว่าจำนวนชั่วโมงการใช้อินเทอร์เน็ต เพิ่มขึ้นกว่าปี 2559

การตอบแบบสำรวจ 25,101 คน ใน มิ.ย.-ก.ค. 2560 พบว่า Gen Y ใช้อินเทอร์เน็ตต่อวันสูงสุด ในช่วงวันทำงานหรือวันเรียนหนังสือ เฉลี่ย 7.12 ชั่วโมง/วัน และมากถึง 7.36 ชั่วโมง/วันในช่วงวันหยุด

ส่วน Gen X และ Gen Z ใช้งานเฉลี่ยเท่ากันที่ 5.48 ชั่วโมง/วัน แต่วันหยุด Gen Z เพิ่มขึ้นเป็น 7.12 ชั่วโมง/วัน สวนทาง Gen X ที่ใช้ลดลง 5.18 ชั่วโมง/วัน และกลุ่ม baby boomer ใช้ 4.54 ชั่วโมง/วัน ในวันทำงาน และ 4.12 ชั่วโมง/วันในวันหยุด ทั้งพบว่า 61.1% ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเฉลี่ย 3.06 ชั่วโมง/วัน

กิจกรรมที่นิยมทำมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ การใช้โซเชียลมีเดีย (86.9%) การค้นหาข้อมูล (86.5%) การรับส่งอีเมล์ (70.5%) การดูทีวีและฟังเพลงออนไลน์ (60.7%) และการซื้อสินค้าออนไลน์ (50.8%) และใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น จนติดอันดับ 5 โดยสินค้า และบริการในเกือบทุกกลุ่มที่คนไทยนิยมซื้อออนไลน์มากที่สุดราคาไม่เกิน 1,000 บาท ยกเว้นด้านการเงิน และการลงทุนที่ส่วนใหญ่เลือกซื้อที่มูลค่ามากกว่า 10,000 บาท

ปัจจัยที่สี่ มาจากการที่นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในธุรกิจอีคอมเมิร์ซมากขึ้น ทั้ง e-Marketplace, e-Logistics, e-Payment จากจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ และมาเลเซีย