ผลสำรวจฝุ่นพิษ PM 2.5 ‘ภาคขนส่ง’ แชมป์แหล่งก่อมลพิษ

ฝุ่น PM2.5 สภาพอากาศ ฝุ่นละออง
คอลัมน์ นอกรอบ
กรมควบคุมมลพิษ

กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้เฝ้าระวังติดตาม และวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่มักพบเกินค่ามาตรฐาน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-เมษายนของทุกปี ที่เป็นช่วงความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทย โดยในช่วงสถานการณ์ที่ผ่านมา กรมควบคุมมลพิษได้มีสถานีตรวจวัด PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทั้งหมด 23 สถานี ประกอบด้วย

1.กรุงเทพมหานคร 12 สถานี ได้แก่ 1) ริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน 2) ริมถนนพระราม 4 เขตปทุมวัน 3) ริมถนนอินทรพิทักษ์ เขตธนบุรี 4) ริมถนนลาดพร้าว โชคชัย 4 เขตวังทองหลาง 5) ริมถนนดินแดง เขตดินแดง 6) แขวงบางนา เขตบางนา 7) แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ 8) แขวงดินแดง เขตดินแดง 9) แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา 10) แขวงพญาไท เขตพญาไท 11) แขวงธนบุรี และ 12) แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง

2.จังหวัดสมุทรปราการ 5 สถานี ได้แก่ 1) ต.ทรงคะนอง อ.พระประแดง 2) ต.บางโปรง อ.เมือง 3) ต.ตลาด อ.พระประแดง 4) ต.ปากน้ำ อ.เมือง และ 5) ต.บางเสาธง อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ

3.จังหวัดสมุทรสาคร 2 สถานี ได้แก่ 1) ต.มหาชัย อ.เมือง 2) ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร

4.จังหวัดปทุมธานี 1 สถานี บริเวณ ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

5.จังหวัดนนทบุรี 2 สถานี ได้แก่ 1) ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง 2) ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

6.จังหวัดนครปฐม 1 สถานี บริเวณ ต.นครปฐม อ.เมือง จ.นครปฐม

-สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM 2.5)

จากการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศพบว่า สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ปี 2559-2564 ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบเกินเกณฑ์มาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม.) ในช่วงต้นปี (เดือนมกราคมถึงเมษายน) และปลายปี (เดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม) ของทุกปี ซึ่งมีสาเหตุสำคัญ 2 ประการ ได้แก่

-สภาวะทางอุตุนิยมวิทยา

ในช่วงฤดูหนาว (ระหว่างเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์) ของทุกปี บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนและแผ่ลงมาปกคลุมพื้นที่ประเทศไทย ซึ่งรวมถึงพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในบางช่วงเวลาที่ความกดอากาศสูงแผ่ลงมาปกคลุมมีกำลังอ่อนลง เกิดสภาพอุตุนิยมวิทยาที่ไม่เอื้อต่อการกระจายตัวของฝุ่นละออง สภาพอากาศนิ่ง ลมสงบ ความชื้นสูง

ประกอบกับมีการผกผันกลับของอุณหภูมิ (inversion) ในระดับล่าง ส่งผลให้ระดับเพดานการลอยตัวและการกระจายตัวของฝุ่นละอองอยู่ในระดับต่ำ การไหลเวียนและถ่ายเทของอากาศไม่ดีจึงทำให้เกิดการสะสมของฝุ่นละอองเพิ่มมากขึ้น

-แหล่งกำเนิด

ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีแหล่งกำเนิดหลักมาจากภาคการขนส่งทางถนน (ร้อยละ 51) สำหรับปีนี้จากสถิติจำนวนรถจดทะเบียนในกรุงเทพมหานคร ณ 28 กุมภาพันธ์ 2564
มีจำนวนมากกว่า 11 ล้านคัน และในพื้นที่ปริมณฑล มีจำนวนมากกว่า 1.2 ล้านคัน รวมเป็น 12.3 ล้านคันภาคอุตสาหกรรม (ร้อยละ 21) ภาคครัวเรือน (ร้อยละ 10) ภาคการขนส่งอื่น ๆ (ร้อยละ 9.5) ภาคการเผาในที่โล่ง (ร้อยละ 6) และภาคอื่น ๆ (ร้อยละ 2.5)

จากการติดตามตรวจสอบปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563-28 กุมภาพันธ์ 2564 พบว่า ปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 เริ่มเกินมาตรฐานตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน 2563 ในบางพื้นที่ หลังจากนั้นพบเกินมาตรฐานเป็นระยะ ๆ ในหลายพื้นที่ และพบเกินมาตรฐานทุกพื้นที่ในวันที่ 21 มกราคม 2564

นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศเรื่อง การเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศไทย พ.ศ. 2564 พร้อมรายละเอียดระบุว่า “ประเทศไทยได้สิ้นสุดฤดูหนาวและเข้าสู่ฤดูร้อนแล้ว ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2564” อากาศจะร้อนในหลายพื้นที่ โดยกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะมีระดับเพดานการลอยตัวของอากาศสูงขึ้น

ประกอบกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่ช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกนอกพื้นที่ ซึ่งจากการติดตามตรวจสอบผลการตรวจวัดฝุ่นละออง PM 2.5 พบว่า ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2564 เป็นต้นมา ปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทุกพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

-จำนวนวันที่ฝุ่นละออง PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน

จากการตรวจวัดปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563-มีนาคม 2564 พบว่า พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีจำนวนวันที่ฝุ่นละออง PM 2.5 เกินมาตรฐาน จำนวน 67 วัน ซึ่งมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ที่มีจำนวนวันที่ฝุ่นละออง PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน จำนวน 74 วัน

-ปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5

ในภาพรวมผลการตรวจวัดปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยสถานของกรมควบคุมมลพิษ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563-กุมภาพันธ์ 2564 (ณ เวลา 07.00 น.) ตรวจวัดได้ระหว่าง 8-118 มคก./ลบ.ม. โดยพบว่า พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563-มีนาคม 2564 มีค่าเฉลี่ย PM 2.5 เท่ากับ 36 มคก./ลบ.ม. ซึ่งมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ที่มีค่าเฉลี่ย PM 2.5 เท่ากับ 37 มคก./ลบ.ม.

โดยผลการตรวจวัดปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563-กุมภาพันธ์ 2564 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตรวจวัดได้ระหว่าง 8-118 มคก./ลบ.ม. พบ PM 2.5 มีค่าสูงที่ริมถนนดินแดง เขตดินแดง ซึ่งค่าสูงสุดมีแนวโน้มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ที่ตรวจวัดได้ที่ 92 มคก./ลบ.ม.

จังหวัดสมุทรปราการ ปริมาณ PM 2.5 ตรวจวัดได้ระหว่าง 9-113 มคก./ลบ.ม. พบค่าสูงสุดตรวจวัดได้ที่ ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ พบค่าสูงสุดเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ที่ตรวจวัดได้ที่ 90 มคก./ลบ.ม. เช่นเดียวกับจังหวัดปทุมธานี ปริมาณ PM 2.5 ตรวจวัดได้ระหว่าง 13-84 มคก./ลบ.ม. พบค่าสูงสุดเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ที่ตรวจวัดได้
ที่ 68 มคก./ลบ.ม.

จังหวัดสมุทรสาคร นนทบุรี และนครปฐม สถานการณ์ค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว จังหวัดสมุทรสาคร พบปริมาณ PM 2.5 ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563-มีนาคม 2564 ตรวจวัดค่าได้ระหว่าง 15-111 มคก./ลบ.ม. โดยค่าสูงสุดตรวจวัดได้ที่ ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร สูงกว่าค่าสูงสุดปีที่แล้วเล็กน้อยที่ตรวจวัดได้ที่ 109 มคก./ลบ.ม.

จังหวัดนนทบุรี ตรวจวัดค่าได้ระหว่าง 11-78 มคก./ลบ.ม. พบค่าสูงสุดที่ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี ค่าสูงสุดเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ที่ตรวจวัดได้ที่ 74 มคก./ลบ.ม.

จังหวัดนครปฐม ตรวจวัดค่าได้ระหว่าง 13-79 มคก./ลบ.ม. พบค่าสูงสุดเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วที่ตรวจวัดได้ที่ 77 มคก./ลบ.ม.

-การดำเนินงานของกรมควบคุมมลพิษ

จัดตั้งศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.)

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2563 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มีคำสั่งแต่งตั้งอนุกรรมการสื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งมีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีหน้าที่กำหนดนโยบายและประเด็นการสื่อสารการประชาสัมพันธ์การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ และการบูรณาการติดตามและสื่อสารการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ที่มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุม กำกับ ดูแลแหล่งกำเนิดและกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง และบูรณาการความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

1) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมการขนส่งทางบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร ตั้งจุดตรวจสอบตรวจจับรถควันดำ เพื่อกวดขันไม่ให้มีการนำรถควันดำมาวิ่งสัญจรบนท้องถนน

2) ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรม จากค่ายรถยนต์จัดทำ “โครงการบำรุงรักษารถยนต์ลดฝุ่น PM 2.5” เริ่มวันที่ 1 ธันวาคม 2563 โดยผู้ประกอบการจะสนับสนุนการ
ตรวจเช็กสภาพเครื่องยนต์เพื่อลดการระบายฝุ่น ด้วยการให้ส่วนลดค่าบริการ

3) การขอความร่วมมือให้ผู้ค้าน้ำมันดีเซลที่มีกำมะถันต่ำมาจำหน่ายให้พื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ซึ่งตอนนี้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ผลิตน้ำมันดีเซล
ที่มีกำมะถันต่ำและนำออกจำหน่ายในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

4) เข้มงวดตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรม ควบคุมการเผาในที่โล่ง

5) ส่งเสริมการหยุดการเผาในพื้นที่การเกษตร โดยให้มีการนำเศษวัสดุการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทดแทนการเผา

6) บูรณาการข้อมูลคุณภาพอากาศร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อแจ้งเตือนและแนะนำการปฏิบัติตนเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพของนักเรียน และประชาชน

7) ประสานให้กรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควบคุมไม่ให้มีการเผาในที่โล่งในเขตปริมณฑลรอบกรุงเทพมหานคร ในช่วงฝุ่นละอองสูง เนื่องจากเป็นช่วงที่สภาพอุตุนิยมวิทยาไม่เอื้อต่อการกระจายตัวของฝุ่นละออง

รวมถึงขอความร่วมมือประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ หากจอดรถยนต์ขอความกรุณาดับเครื่องยนต์ และขอให้หมั่นบำรุงรักษาเครื่องยนต์ไม่ให้ก่อควันดำ และขอให้ดูแลรักษาสุขภาพ ลดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง สวมใส่หน้ากากอนามัย ถ้ามีอาการควรปรึกษาแพทย์

8) ประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงคมนาคม ยกระดับความเข้มงวดตรวจสอบตรวจจับรถควันดำในช่วงวิกฤตสถานการณ์ฝุ่นละออง ระหว่างเดือนธันวาคม 2563-กุมภาพันธ์ 2564 โดยเฉพาะ
ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มีปริมาณฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน (พื้นที่สีส้ม และพื้นที่สีแดง)

9) ประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอความร่วมมือเร่งระบายการจราจรในช่วงเวลาที่มีรถหนาแน่น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน (พื้นที่สีส้ม และพื้นที่สีแดง)

10) ติดตามตรวจสอบการรายงานและแจ้งเตือนสถานการณ์มลพิษทางอากาศ รวมถึงเผยแพร่องค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ให้ประชาชนรับทราบในรูปแบบที่เข้าใจง่ายและทันต่อสถานการณ์ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

และเพื่อแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการลด เฝ้าระวัง และป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ผ่านทางเว็บไซต์ Air4Thai.com แอปพลิเคชั่น Air4Thai และ Facebook fanpage “ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.)” และ “กรมควบคุมมลพิษ” โดยมีความถี่ของการรายงานและแจ้งเตือนสถานการณ์ตามระดับความเข้มข้นของฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ตรวจวัดได้