ปลดล็อกอสังหาฯ ต้องตอบโจทย์

คอนโดมิเนียม
บทบรรณาธิการ

แม้จะมีทั้งเสียงสนับสนุนและคัดค้าน แต่การผลักดันแก้ไขกฎหมายเพื่อเปิดให้ต่างชาติสามารถทำสัญญาเช่า หรือซื้อบ้านและคอนโดมิเนียมได้มากขึ้นถูกจุดพลุขึ้นอีกครั้ง ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งบวกและลบเหมือนทุกครั้ง

ต่างกันที่วิกฤตซ้ำซ้อนครั้งนี้กระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ และภาคธุรกิจ ทำให้รัฐบาลต้องหยิบยกข้อเสนอภาคเอกชนเรื่องการปลดล็อกธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้ต่างชาติขึ้นพิจารณาเป็นวาระเร่งด่วน

ขณะที่กระบวนการขั้นตอนปรับแก้กฎหมายก็มีแนวโน้มว่าต้องอาศัยทางลัดเลือกใช้วิธีเร่งด่วนให้ทันกับสถานการณ์ โดยจะออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันหลายฉบับเร่งด่วนเช่นเดียวกัน

สาระสำคัญ คือ 1.ปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายที่ดินเปิดให้ชาวต่างชาติสามารถถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ 2.ปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติอาคารชุดฯ โดยขยายเพดานให้ชาวต่างชาติถือครองห้องชุดได้ 70-80% ของเนื้อที่ห้องชุดในอาคารชุด จากปัจจุบันกฎหมายกำหนดชาวต่างชาติถือครองห้องชุดได้ไม่เกิน 49% 3.ปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม 2542 ขยายระยะเวลาเช่าอสังหาฯ จากปัจจุบันทำสัญญาเช่าได้เกิน 30 ปี แต่ไม่เกิน 50 ปี และสามารถต่ออายุสัญญาเช่าได้ไม่เกิน 50 ปี

และ 4.ปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในหมวดว่าด้วยสัญญาเช่า จากปัจจุบันกฎหมายห้ามทำสัญญาเช่าอสังหาฯเกิน 30 ปี หากเกินระยะเวลาดังกล่าวให้มีผลแค่ 30 ปี เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การปลดล็อกให้ต่างชาติเช่าหรือซื้ออสังหาฯได้เพิ่มขึ้นตามกฎหมายใหม่ จะกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขบางประการไม่ให้เกิดผลกระทบด้านความมั่นคงความสงบเรียบร้อย ความวิตกกังวลของสาธารณชน อาทิ กำหนดให้ต่างชาติซื้อบ้านจัดสรรระดับราคาตั้งแต่ 10-15 ล้านบาท ไม่เกิน 49% ของโครงการ การกำหนดเงื่อนเวลาให้ต่างชาติเช่า หรือซื้อบ้านจัดสรรคอนโดมิเนียม ภายใน 3-5 ปีหลังจากกฎหมายบังคับใช้ ฯลฯ ทั้งหมดนี้อยู่ระหว่างยกร่างกฎหมายก่อนเสนอที่ประชุม ครม. พิจารณา

ปฏิเสธไม่ได้ว่าภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่วิกฤตซ้ำซ้อนหลากหลายปัญหารุมเร้า เหตุผล ความจำเป็นทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้น้ำหนัก แต่ที่ต้องยึดมั่นและพิสูจน์ให้เห็นคือ การตัดสินใจโดยยึดประโยชน์ประเทศชาติเป็นที่ตั้ง

ที่สำคัญต้องตอบโจทย์การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และไม่ให้ส่วนรวมเสียหาย ไม่ใช่ทำเพื่อตอบสนองคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง