FTA ทวีปแอฟริกา เขตการค้าเสรีที่สมาชิกมากสุดในโลก

คอลัมน์ แตกประเด็น

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม

ประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตระหนักถึงความสำคัญของการอำนวยความสะดวกและลดเลิกอุปสรรคทางการค้า จึงได้รวมตัวกันประกาศเริ่มใช้ความตกลงเขตการค้าเสรีทวีปแอฟริกา (African Continental Free Trade Area : AfCFTA) เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 ซึ่งถือเป็นความตกลงการค้าที่ใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา และเป็นเขตการค้าเสรีที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุดในโลก โดย AfCFTA ประกอบด้วยประเทศสมาชิกของสหภาพแอฟริกา (African Union : AU) 54 ประเทศ (ยกเว้นเอริเทรีย)

ปัจจุบันประเทศสมาชิกที่ให้สัตยาบัน AfCFTA แล้วมี 36 ประเทศ เช่น อียิปต์ แอฟริกาใต้ ไนจีเรีย แองโกลา กานา ตูนิเซีย และเคนยา เป็นต้น โดยประเทศที่เหลือยังคงทยอยให้สัตยาบันกันอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้กับทุกประเทศได้ในเวลาอันใกล้

ซึ่งหาก AfCFTA มีผลบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบ จะเป็นเขตการค้าเสรีที่ครอบคลุมประชากรกว่า 1,200 ล้านคน และเป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 8 ของโลก มีขนาด GDP กว่า 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าสองเท่าภายในปี 2593

ความสำคัญของ AfCFTA คือ สมาชิกจะยกเลิกภาษีนำเข้าระหว่างกันในทันทีร้อยละ 77 ของรายการสินค้าทั้งหมด และจะทยอยยกเลิกภาษีนำเข้าให้ถึงร้อยละ 90 ภายใน 10 ปี รวมทั้งจะเจรจาเปิดเสรีภาคบริการและการลงทุนเพิ่มเติมในอนาคต เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานและเงินทุนภายในทวีปมากยิ่งขึ้น

จึงประเมินว่า AfCFTA จะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างประเทศในทวีปแอฟริกา รวมทั้งอาจจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของโครงสร้างการค้าในทวีปแอฟริกาในอนาคต เนื่องจากปัจจุบันประเทศในทวีปแอฟริกามีการค้าระหว่างกันน้อย และต้องพึ่งพาการค้ากับมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพยุโรปเป็นหลัก

มีการประเมินกันว่าการจัดทำ AfCFTA จะส่งผลให้มูลค่าการค้าภายในทวีปเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 60 ภายในปี 2567 ทำให้ทวีปแอฟริกามีรายได้โดยรวมมากขึ้น 450,000 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกเพิ่มขึ้น 560,000 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมทั้งช่วยให้ชาวแอฟริกันกว่า 30 ล้านคน สามารถหลุดพ้นจากความยากจนแบบสุดขีด (extreme poverty) ได้

และแม้ว่า AfCFTA จะทำให้รัฐบาลของประเทศสมาชิก AfCFTA จัดเก็บรายได้จากภาษีนำเข้าลดลงประมาณ 4,100 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ในทางตรงกันข้ามจะช่วยให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากการที่สินค้าต่าง ๆ ราคาถูกลง คิดเป็นมูลค่าราว 16,100 ล้านเหรียญสหรัฐ

ยกตัวอย่างเช่น ส้มที่เคนยานำเข้าจากแอฟริกาใต้ ปัจจุบันถูกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราสูงถึงร้อยละ 25 แต่ AfCFTA จะทำให้ผู้บริโภคในเคนยาได้ซื้อส้มในราคาถูกลงอย่างมาก ทำให้เหลือเงินในกระเป๋ามากขึ้น เพื่อไปใช้ในความเป็นอยู่อื่น ๆ

ที่สำคัญคือจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจภายในทวีปแอฟริกา ช่วยให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิต และพัฒนอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในแอฟริกาอีกด้วย หรือกรณีที่เคนยาส่งออกดอกไม้ให้ไนจีเรีย แทนที่ไนจีเรียจะนำเข้าจากเนเธอร์แลนด์

AfCFTA จึงเพิ่มทางเลือกให้ไนจีเรียที่อาจหันมานำเข้าดอกไม้จากเคนยาเพิ่ม และส่งผลช่วยสร้างงานและรายได้ให้ชาวเคนยามากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ การลด/ยกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTBs) ภายใต้ AfCFTA จะส่งผลดีต่อประเทศในทวีปแอฟริกาเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาความล่าช้าของขั้นตอนการนำเข้าที่ชายแดน อีกทั้งทำให้กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าสอดคล้องกันทั้งทวีปก็เป็นอีกหนึ่งมิติสำคัญของความตกลงฯ

เนื่องจากก่อนหน้าที่จะมีความตกลง AfCFTA ประเทศแอฟริกาในภาคต่าง ๆ ได้แก่ แอฟริกาเหนือ แอฟริกาใต้ แอฟริกาตะวันตก และแอฟริกาตะวันออก ต่างรวมกลุ่มกันทำความตกลงการค้าในรูปแบบต่างกันออกไป ทั้งความตกลงการค้าเสรี สหภาพศุลกากร และการเป็นตลาดร่วม (common market) เป็นต้น

ในส่วนผลกระทบของ AfCFTA ต่อไทย ประเมินเบื้องต้นว่า ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย เนื่องจากปัจจุบันสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปแอฟริกาเป็นสินค้าประเภททุนและสินค้าเกษตร ซึ่งแอฟริกายังคงพึ่งพาการนำเข้าในปริมาณสูง เป็นผลมาจากสภาพภูมิประเทศของแอฟริกาในภาพรวมที่ไม่เอื้อต่อการทำการเกษตร

ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรไม่เพียงพอกับจำนวนประชากรชาวแอฟริกันที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1,700 ล้านคน ภายในอีก 10 ปีข้างหน้า ทำให้ไม่สามารถพึ่งพาผลผลิตภายในทวีปแอฟริกาเพียงอย่างเดียว ไทยจึงเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารให้แก่ประเทศในแอฟริกาได้

ขณะเดียวกัน AfCFTA น่าจะส่งผลในด้านบวกต่อการส่งออกสินค้าของไทยไปแอฟริกา จากจำนวนประชากรในทวีปแอฟริกาที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจที่ขยายตัวดีขึ้น ชาวแอฟริกันจึงมีกำลังซื้อเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งยังส่งผลดีในแง่ที่กฎระเบียบของสมาชิก AfCFTA จะโปร่งใสและใกล้เคียงกันภายในทวีปมากขึ้น

อย่างไรก็ดี อาจต้องคำนึงว่า AfCFTA ทำให้ประเทศในแอฟริกามีการค้าระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น ก็อาจส่งผลต่อการค้ากับประเทศนอกกลุ่มที่ผลิตและส่งออกสินค้าประเภทเดียวกับสมาชิก AfCFTA อยู่บ้าง แต่ก็จะเป็นโอกาสของนักลงทุนไทยที่จะเข้าไปลงทุนในแอฟริกา เพื่อใช้ประโยชน์จาก AfCFTA ในการส่งออกไปยังประเทศแอฟริกาต่าง ๆ

ทั้งนี้ การค้าระหว่างไทยกับประเทศในทวีปแอฟริกาในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (2559-2563) มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 9,861.24 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ามาโดยตลอด โดยในปี 2563 การค้าระหว่างไทยกับแอฟริกามีมูลค่า 9,423.11 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.31 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย

แบ่งเป็นการส่งออกของไทยไปประเทศในแอฟริกาเป็นมูลค่า 5,485.56 ล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้าของไทยจากประเทศแอฟริกาเป็นมูลค่า 3,937.55 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 1,548.01 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยสินค้าออกสำคัญของไทยไปแอฟริกา เช่น ข้าว รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติก และสินค้านำเข้าสำคัญจากแอฟริกา

เช่น น้ำมันดิบ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะ และผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ เครื่องเพชรพลอยและอัญมณี ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันสำเร็จรูป สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งแปรรูป

ทั้งนี้ ประเทศที่เป็นคู่ค้าหลักของไทยในภูมิภาคแอฟริกา อาทิ แอฟริกาใต้ (ร้อยละ 27.59 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทยกับทวีปแอฟริกา) ไนจีเรีย (ร้อยละ 12.89) อียิปต์ (ร้อยละ 9.45) และเคนยา (ร้อยละ 1.60)