มองมุมไหนถึงเรียกว่า แชมป์

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

อมร พวงงาม

การต่อสู้เพื่อแย่งชิงความเป็นที่หนึ่งในสมรภูมิพรีเมี่ยมคาร์

ระหว่างค่ายดาวสามแฉก เมอร์เซเดส-เบนซ์ และค่ายใบพัดสีฟ้า บีเอ็มดับเบิลยู

โดยเฉพาะในแง่มุม การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อให้ผู้คนได้รับรู้

ผมว่า ยังคงจะต้องยืดเยื้อไปอีกยาวนาน

เพราะแต่ละค่ายต่างมีมุมมองของตัวเอง

เรียกว่า จะเป็น “เบนซ์” พูด หรือ “บีเอ็มฯ” พูด ว่าตัวเองเป็นแชมป์…คงไม่มีใครถูกผิด

ย้อนหลังไปเมื่อตอนต้นปี

บีเอ็มดับเบิลยู ประเทศไทยประกาศชัยชนะปี 2563 เหนือเมอร์เซเดส-เบนซ์

ด้วยตัวเลขยอดขาย 11,242 คัน (ไม่รวมรถยนต์มินิ) ครองส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มรถยนต์พรีเมี่ยมสูงถึง 51.2% ในตลาดบ้านเรา

ขณะที่เมอร์เซเดส-เบนซ์ ทำได้แค่ 10,613 คัน

เห็นตัวเลขแบบนี้ ชัดเจนว่า เบนซ์ “แพ้”

แต่การนำเสนอข้อมูลของผู้บริหารเมอร์เซเดส-เบนซ์ ไม่ใช่

เขามองภาพรวมทั้งหมด โดยระบุว่า เมอร์เซเดส-เบนซ์ยังคงสามารถรักษาผู้นำในตลาดโลกด้วยยอดขาย 2,528,349 คัน

และที่ปลาบปลื้มรถยนต์ในกลุ่มไฮบริดทำตัวเลขได้มากถึง 115,000 คัน โตเป็น 4 เท่า เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

และในเอเชีย-แปซิฟิก เมอร์เซเดส-เบนซ์มียอดขายทะลุ 1,024,315 คันขยายตัว 4.7%

โดยมีตลาดจีนเป็นหัวหอกสำคัญในการขับเคลื่อน ด้วยยอดขายที่เติบโตขึ้นถึง 11.7% หรือขายได้ 774,382 คัน ซึ่งถือว่าเป็นสถิติใหม่

ขณะที่บีเอ็มดับเบิลยู มียอดขายทั่วโลกแค่ 2.3 ล้านคัน

ยังไม่จบครับ ข้ามสู่ปี 2564 บีเอ็มดับเบิลยูรายงานผ่านสื่อว่า สามารถกอดแชมป์ผู้นำอันดับหนึ่งในตลาดรถยนต์พรีเมี่ยมไทยต่อเนื่อง

ทุบสถิติผลงานไตรมาสแรกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โชว์ตัวเลขยอดส่งมอบ 2,533 คัน (ไม่รวมมินิ)

โตขึ้น 41% จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า แถมด้วยมีอัตราการเติบโตอีกหลายเซ็กเมนต์ด้วย

เช่น รถสมรรถนะสูงตระกูล M โตถึง 220% รถยนต์บีเอ็มฯมือสองก็โตอีก 44%

ส่วนในระดับโลก รถยนต์บีเอ็มดับเบิลยู มินิ และโรลส์รอยซ์ทั่วโลกมียอดส่งมอบรวม 636,606 คัน โตขึ้น 33.5%

ในขณะที่เมอร์เซเดส-เบนซ์ มียอดส่งมอบในประเทศไทยไตรมาสแรกแค่ 2,470 คัน

แต่ในมุมของเมอร์เซเดส-เบนซ์ มองตรงกันข้ามอีก

โดยรายงานว่า เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทยครองแชมป์ตลาดรถยนต์หรูในไตรมาสแรกด้วยจำนวนรถยนต์จดทะเบียนรวม 3,178 คัน

ยอดขายเมอร์เซเดส-เบนซ์ ในจีนทำสถิติ 222,520 คัน สูงสุดของสถิติไตรมาสแรก โตถึง 60.1%

รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ครองส่วนแบ่งในตลาดโลก 10% และในยุโรปกว่า 25%

และมียอดขายรถยนต์ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ทั่วโลกสูงถึง 590,999 คัน โตกว่า 20%

คนอ่านข่าวอาจจะงง ๆ หน่อย ตกลงใครชนะกันแน่ ?

เอาเป็นว่า ทั้งสองค่ายถ้าเปรียบเป็นมวย อัตราต่อรองสูสีมาก

เพราะไม่ว่าจะเป็นกระดูก รูปมวย หรือการออกอาวุธ ถือว่าใกล้เคียงกันเลย

ศักยภาพการส่งนวัตกรรมใหม่ ๆ ไม่ต่างกัน ครอบคลุมทั้งระบบไฮบริด ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และอีวี

รวมถึงกลุ่มรถยนต์สปอร์ตสมรรถนะสูงอย่างตระกูล M ซึ่งวันนี้มีประกอบในประเทศไม่ต่างจากแบรนด์เมอร์เซเดส-เอเอ็มจี

เพราะฉะนั้น ถ้าจะเห็นกันจะจะ ชนะคะแนนไม่พอแล้ว ต้องน็อกอย่างเดียว

แต่ระยะหลังบีเอ็มดับเบิลยู เชิงมวย และทักษะการชก พลิ้วกว่านิด ๆ

ยิ่งช่วงหลังนี้ สไตล์การไล่ถลุงคู่แข่งต้อนเข้ามุมโดยใช้ดีลเลอร์หมัดหนักหลาย ๆ เจ้า

ทำให้มวยคู่นี้ดูสนุกขึ้น ที่สำคัญ ห้ามกะพริบตาเด็ดขาด


เพราะใครเผลอ การ์ดตก อาจถูกส่งลงไปกองพื้นเวทีเอาง่าย ๆ