อึดถึงสิ้นปี…ไหวมั้ย ?

Photo by AFP
สามัญสำนึก
พัฒนพันธุ์ วงษ์พันธุ์

หนักจริง ๆ กับผลกระทบจากโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้น

ด้วยผู้ป่วยหลักพันทุกวัน ทำให้นาทีนี้ไม่ว่าหันไปทางไหน “วัคซีน” กลายเป็นเรื่องที่ทุกคนพูดถึง ยอมรับกันแล้วว่า “วัคซีน” นี่แหละคือความหวัง ให้กลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ วงจรเศรษฐกิจ-การค้าหวนฟื้นคืน อาจจะมีที่ยังข้องใจวัคซีนยี่ห้อนั้นยี่ห้อนี้อยู่

จริงอยู่ วัคซีนอาจเป็นความหวัง แต่อะไร ๆ อาจไม่เร็วอย่างที่คิด

ไม่สามารถพลิกสถานการณ์จากหน้ามือเป็นหลังมือในเวลาชั่วข้ามคืน

จาก time line ที่ว่าเดือนมิถุนายน เป็นช่วงเวลาที่รัฐและทุกภาคส่วน จะทุ่มโหมฉีดวัคซีนกันเต็มสตีมทั่วประเทศ มีทั้ง Sinovac 5 ล้านโดส และ AstraZeneca อีก 6 ล้านโดสเศษ ๆ

จากนั้นปริมาณการฉีดต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ จนถึงสิ้นปีครบ 65 ล้านโดสตามที่แพลนไว้ จึงจะพอวางใจ

เพราะฉะนั้นที่คิดกันว่าพอปูพรมฉีดปุ๊บในเดือนมิถุนายน บรรยากาศค้าขายจะกลับมาโดยทันทีทันใด คนกลับมาผ่อนคลายแน่นห้าง ร้านอาหารเปิดกันพรึ่บพรั่บ อีเวนต์ คอนเสิร์ต กลับมาเหมือนเดิม ในทางปฏิบัติบอกได้คำเดียวว่าเป็นไปไม่ได้

ที่พอเป็นไปได้ก็คือ ประเมินกันว่าหลังฉีดลอตใหญ่ในเดือนมิถุนายน บรรยากาศโดยรวมน่าจะเริ่มกลับมาคลี่คลายขึ้น แต่ก็เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป โรงเรียนกลับมาเปิดชั้นเรียน ลดการ work from home คนเริ่มออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น

แต่ถ้ากลับคืนสู่ภาวะปกติต้องรอถึงช่วงปลายปีโน่นเลยค่อยมาว่ากัน

คำถามคือไหวมั้ยที่เราจะอึดกันถึงตอนนั้น คำตอบก็คือ ผู้ประกอบการรายใหญ่ สายป่านยาว ๆ น่าจะพอกัดฟันสู้ แต่รายเล็กรายย่อยอาจเป็นอีกเรื่อง

ปริมาณการฉีดวัคซีนที่มากเป็นประวัติการณ์เท่าที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย ในทางปฏิบัติเป็นเรื่องที่ยากมาก ทั้งการบริหารจัดการ และข้อจำกัดต่าง ๆ

ที่สำคัญตราบใดที่คนยังเชื่อข่าวส่งต่อในโซเชียลมีเดีย มากกว่าแสวงหาข้อเท็จจริง เฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการสื่อสารยังเป็นจุดอ่อนของภาครัฐ แก้ยังไงก็ยังไม่หาย

ในทางจิตวิทยา ตัวเร่งทำให้คนออกมาฉีดวัคซีนมากขึ้น ยังมาจากวัคซีนที่ฉีดออกไปต้องมีผลลัพธ์เป็นบวก

ทั้งจำนวนผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตที่ลดลง

เหมือนที่เกิดขึ้นกับอังกฤษและอิสราเอล ที่ปรากฏผลลัพธ์เป็นรูปธรรม

เช็กอารมณ์ภาคธุรกิจตอบเป็นเสียงเดียว …ปีนี้คงทำอะไรไม่ได้ ตอนนี้คิดเพียงว่าทำอย่างไรถึงจะประคับประคองตัวเองให้อยู่รอดปลอดภัยถึงปลายปี และปีหน้าค่อยมาว่ากันใหม่อีกที

เพราะที่ผ่านมาไม่ว่าจะดิ้น ใส่สารพัดแคมเปญ ใส่โปรโมชั่นเข้าไป หวังมียอดขายกลับมาบ้าง แต่ผลลัพธ์ต่ำกว่าที่ประเมินไว้

โควิดรอบแรก ร้านอาหารยังพอรอดตัวจากดีลิเวอรี่ แอปสั่งอาหาร ตรงกันข้ามกับครั้งนี้ที่ยอดขายหายไปดื้อ ๆ แสดงพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต่างออกไปสิ้นเชิง

ในภาพรวมแน่นอนว่า ทุกคนอยากให้ธุรกิจการค้ากลับมาให้เร็วที่สุด เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาเดินหน้า อยากเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว เพราะคือเส้นเลือดใหญ่ทางเศรษฐกิจ แต่ก็ต้องช่างน้ำหนักให้ดี แม้จะตั้งกฎกติกาไว้อย่างรัดกุม ก่อนจะเข้ามาต้องฉีดวัคซีน ต้องมีการตรวจ rapid test ที่สนามบินซ้ำ

ระหว่างนี้ยังมีตัวแปรต้องระแวดระวัง ไม่ให้ไวรัสกลายพันธุ์จากอินเดีย หรือเซาท์แอฟริกา ซึ่งว่ากันว่าฤทธิ์เดชยิ่งกว่าสายพันธุ์อังกฤษที่ระบาดหนักในบ้านเราเวลานี้ ไม่ให้เล็ดลอดเข้ามาเป็นอันขาด

6-7 เดือนที่เหลือของปี ยามปกติอาจไม่ได้ยาวนานอะไร แต่ในยามต้องตั้งรับ ต่อสู้โควิดรอบใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น เป็นช่วงที่บีบหัวใจสุด ๆ

เป็นความไม่แน่นอนที่ต้องยอมรับความจริง และบริหารความเสี่ยงกันทุกย่างก้าว