โควิดเปลี่ยนโลก… ไม่มีผู้แพ้ ผู้ชนะ

สธ.คาดยอดเสียชีวิตจากโควิดสูงขึ้น
ภาพจาก Reuters
คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

กษมา ประชาชาติ

การขัดแย้งทางความคิดเป็นสิ่งปกติที่เกิดขึ้นในทุกสนาม เมื่อมองกันต่างมุมก็ย่อมเห็นต่างมุม

ยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 เปลี่ยนโลก ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ การใช้ชีวิตของประชาชน

นำมาสู่ความเห็นต่างและขัดแย้งทั้งทางความคิดและทางปฏิบัติ แบ่งขั้วแบ่งข้าง แต่ต้องยอมรับว่าการรับมือกับไวรัสโควิด-19 คือ เป้าหมายของทั้ง 2 กลุ่ม

เมื่อเร็ว ๆ นี้ อ่านหนังสือเล่ม 2 “โลกเปลี่ยน คนปรับ” ของ อ.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีต รมว.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเป็นหนังสือที่ให้หลักคิดน่าสนใจมาก โควิด-19 อาจจะเป็นสิ่งนำโชคในสถานการณ์ที่เลวร้าย ในวิกฤตโควิดเป็นโอกาสในการปรับหลักคิด กฎ นโยบาย ยุทธศาสตร์ต่าง ๆ เพราะในสักวันหนึ่งโควิดจะต้องผ่านไป สู่ยุคหลังโควิด เหมือนดังเช่นอีกหลายวิกฤตที่เคยผ่านเข้ามาในชีวิตมนุษยชาติ

นี่จึงเป็นโอกาสในการบ่มเพาะ องค์ความรู้ ซ่อมแซม ปรับเปลี่ยนทุกอย่าง ซึ่งในหนังสือเล่าถึง 7 รอยปริ และหลัก 7 ขยับ ปรับโลก ที่ให้ภาพชัดเจน (ไม่ขอเล่าตอนนี้พื้นที่ไม่พอ)

แต่เราไปสะดุดกับเรื่องเครื่องเคียงในหนังสือ ตอนหนึ่งที่เล่าถึง ความขัดแย้งทางความคิด ในทฤษฎีเชื้อโรค (Germ theory) ของ “หลุยส์ ปาสเตอร์” นักวิทยาศาสตร์ผู้โด่งดังที่สามารถคิดค้นวัคซีนรักษาพิษสุนัขบ้า และเจ้าของทฤษฎีภูมิคุ้มกัน “อังตวน บิวแชมป์” ซึ่งมีความแตกต่างกันตั้งแต่จุดเริ่มต้นของแนวคิดที่ หลุยส์ ปาสเตอร์ เชื่อว่าโรคมาจากเชื้อโรค ฉะนั้นต้องคิดค้นยามาเพื่อฆ่าเชื้อโรค

ขณะที่ อังตวน บิวแชมป์ เชื่อว่าโรคมาจากร่างกายอ่อนแอ จากการรับประทานอาหารที่ไม่ดี อยู่ในที่ไม่เหมาะสม สุขภาวะไม่ดี หากเราสามารถสร้างสุขภาวะที่่ดี กินอาหารมีประโยชน์ ออกกำลังกาย พักผ่อน ก็จะช่วยให้ร่างกายกลับมาอยู่ร่วมกับเชื้อโรคได้ เรียกว่าไปกัน “คนละแนว” กับ “หลุยส์ ปาสเตอร์” เลย

ทั้งที่ 2 คน มีเป้าหมายเดียวกัน

(จริงอยู่ที่ หลุยส์ ปลาสเตอร์ มีชื่อเสียงโด่งดังมากกว่าเพราะค้นพบวัคซีน แต่ในบั้นปลายเขาป่วยด้วยภาวะโลหิตในสมองแตก เป็นอัมพาตหลายปี ก่อนจะเสียชีวิตไปก่อนในวัย 72 ปี

ขณะที่บิวแชมป์ ได้รับปริญญาทางการแพทย์ก็เข้ารับตำแหน่งที่มหาวิทยาลัย Montpellier ในปี 1876 เมื่อเขาได้รับการแต่งตั้งเป็นคณบดีคณะคาทอลิกแพทยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยนอร์ดลีลล์เดอฝรั่งเศส เสียชีวิตในวัย 93 ปี)

ไฮไลต์อยู่ที่ มีคนเล่าว่า 2 คนนี้ได้พบกันในช่วงสุดท้ายของชีวิตของ “หลุยส์ ปาสเตอร์” ในฐานะ “มิตร” และครั้งนั้นเอง “หลุยส์ ปาสเตอร์” ยอมรับแนวคิดและทฤษฎีของ “อังตวน บิวแชมป์” ก่อนจากโลกนี้ไป

มาถึงวันนี้ เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า “ไม่มีอะไรผิด ไม่มีอะไรถูก ไม่มีผู้แพ้ ไม่มีผู้ชนะ” ทั้งการคิดยาฆ่าเชื้อโรคและการรักษาสุขภาวะ มันต้องบวกกันแล้วหาร 2 จะให้ผลที่ดีมาก โดยเฉพาะในยุคโควิด

เรื่องนี้ไม่ใช่แค่โรคภัย แต่ยังหมายถึงการใช้ชีวิตทุกด้าน “การยอมรับความแตกต่างว่ามันแตกต่างและอยู่กับมันให้ได้” เป็นเรื่องธรรมชาติ