“วัคซีนทิพย์”

Photo by AFP
คอลัมน์ สามัญสำนัก
สมปอง แจ่มเกาะ

นาทีนี้ ไม่มีอะไรจะร้อนแรงและเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ เท่ากับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นแน่แท้

ไปไหนมาไหน เจอใครที่รู้จักมักคุ้น ต้องทักทายถามไถ่กันว่า “ลงทะเบียนฉีดวัคซีนแล้วหรือยัง ?” “ลงทะเบียนฉีดวัคซีนได้มั้ย ?” “ได้คิวฉีดวัคซีนเมื่อไหร่ ?” “ฉีดแล้วเป็นไง มีอาการเป็นอย่างไร ?”

…อะไรประมาณนี้

อีกด้านหนึ่ง คำถาม คำทักทาย เหล่านี้ก็คงสะท้อนปรากฏการณ์ความตื่นตัวและความต้องการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสร้ายตัวนี้ได้เป็นอย่างดี

หากยังจำกันได้ ตั้งแต่โควิด-19 ระบาดช่วงแรก ๆ เมื่อช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนปีที่ผ่านมา ตอนนั้นคนไทยจำนวนไม่น้อยก็เริ่มร้องเรียกหาวัคซีนแล้ว

จนเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 รัฐบาลตัดสินใจทำสัญญาซื้อวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ถัดมาต้นเดือนมกราคม 2564 ก็ทำสัญญาซื้อวัคซีนซิโนแวกเพิ่ม

ขณะที่ประเทศไทยเพิ่งเริ่มนับ 1 แต่ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงเขาเริ่มทยอยฉีดวัคซีนโควิดให้ประชาชนในประเทศกันไปบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เมียนมา

แต่อีกด้านหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า จากกระแสข่าวไซด์เอฟเฟ็กต์หลังการฉีดวัคซีนที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศในช่วงที่ผ่านมา อาจทำให้หลาย ๆ คนเกิดความวิตกกังวลอยู่บ้าง และทำให้มีเสียงเรียกร้องตามมาว่า อยากมีตัวเลือกมากกว่า 2 ยี่ห้อ ที่รัฐบาลจัดหามา

เมื่อมีการระบาดซ้ำรอบ 2 และรอบ 3 ล่าสุดที่โควิด-19 โจมตีอย่างหนักหน่วง แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วไปทั่วสารทิศ แต่ละวันมียอดผู้ป่วยใหม่-ยอดคนตายพุ่งสูงปรี๊ดอย่างน่าใจหาย เสียงเรียกร้องหาวัคซีนยิ่งมีมากขึ้นเป็นทวีคูณ

ทั้งนักธุรกิจ พ่อค้าแม่ขาย คนขับแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ นักเรียน นักศึกษา ประชาชนแทบทุกคนล้วนอยากฉีดวัคซีน เพื่อที่จะได้กลับไปใช้ชีวิตทำมาหากินตามปกติ

จึงไม่แปลกใจเลยที่จะมีคำถามเกิดขึ้นอย่างมากมายตามมา หลังจากมีกระแสข่าวว่า มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 2 แห่ง คือ วชิรพยาบาล และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ประกาศเลื่อนฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 2 ออกไป เนื่องจากยังไม่ได้รับวัคซีนมาตามกำหนด

ไม่ต่างจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ที่ไม่ได้รับการจัดสรรควัคซีนตามที่กำหนด จากที่ขอ 12,000 โดส แต่ให้มา 6,000 โดส ได้รับแล้ว 2,000 โดส เหลืออีก 4,000 โดส ที่ยังไม่ได้รับ

วัคซีนหายไป ? วัคซีนมีพอมั้ย ?

หากย้อนกลับไปดูไทม์ไลน์ ตั้งแต่วันแรกที่วัคซีนโควิดเดินทางมาถึงเมืองไทย เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ จนถึงวันนี้ (25 พฤษภาคม)

สำหรับซิโนแวก มีตัวเลขรวม 5.5 ล้านโดส และมียอดบริจาคอีก 5 แสนโดส ตอนนี้กระจายไปแล้วกว่า 3.44 ล้านโดส

ส่วนแอสตร้าเซนเนก้า ที่ถือเป็นวัคซีนหลักในการป้องกันโควิด มีเข้ามายอดเดียวเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ จำนวน 117,300 โดส แจกจ่ายไปแล้ว 115,890 โดส ตามแผนเดือนพฤษภาคมจะมีเข้ามาอีก 1.7 ล้านโดส แต่ตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะเลื่อนกำหนดส่งออกไปนานแค่ไหน และอาจจะเป็นเหตุผลหลักที่ 2 โรงพยาบาลใหญ่ต้องประกาศเลื่อนฉีด เข็ม 2 ออกไปก่อน

ต้องลุ้นกันต่อไปว่า ผลกระทบของการเลื่อนส่งวัคซีนในลอต 1.7 ล้านโดสนี้ จะกระทบกับลอตอื่น ๆ ตามมาหรือไม่ เช่น มิถุนายน 4.3 ล้านโดส กรกฎาคม 10 ล้านโดส สิงหาคม 10 ล้านโดส และลอตใหญ่อีก 35 ล้านโดส ที่จะเข้ามาในช่วงเดือนกันยายนไปจนถึงธันวาคม

การจะเร่งปูพรมฉีดวัคซีนเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ หรือ 70% ของจำนวนประชากร จะเกิดขึ้นได้ตามที่วาดหวังหรือไม่

การขับเคลื่อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศจะเกิดขึ้นได้หรือไม่

ชะตากรรมของประเทศไทยฝากไว้ที่แอสตร้าเซนเนก้า เพียงตัวเดียว

ถ้าติดกระดุมเม็ดแรกผิด กระดุมเม็ดต่อไปก็ผิดหมด