ความกังวล “ถังแตก” ยังไม่คลี่คลาย

ชั้น 5 ประชาชาติ
อำนาจ ประชาชาติ

พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 โดยมีผลบังคับใช้ทันที

สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปจากร่างที่ผ่านความเห็นชอบในหลักการของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม

ก็คือ “ขนาดวงเงินที่เล็กลง” จากเดิมวางแผนจะกู้ 700,000 ล้านบาท ลดลงเหลือ 500,000 ล้านบาท หายไป 200,000 ล้านบาท

ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ตอนที่เสนอ ครม. ที่ตั้งวงเงินไว้สูงขนาดนั้น ประเมินจากอะไร

อย่างไรก็ดี ความสงสัยดังกล่าว คลี่คลายลง เมื่อพบว่าใน พ.ร.ก.ที่มีผลบังคับใช้แล้ว มีการตัดเรื่อง “การใช้วงเงินกู้เพื่อบริหารสภาพคล่องทางการคลังในกรณีจำเป็น” ทิ้งไป

ซึ่งเมื่อสอบถามผู้เกี่ยวข้อง ก็ได้ความว่า มีการท้วงติงกันในขั้นการพิจารณาร่างกฎหมายในคณะกรรมการกฤษฎีกาอย่างหนัก ไม่ให้ใส่เงื่อนไขดังกล่าวลงไปใน พ.ร.ก.ฉบับเดียวกันนี้ เพราะจะยิ่งเพิ่ม “จุดอ่อน” ให้รัฐบาลถูกโจมตีหนักขึ้น

ดังนั้น หลังจากนี้รัฐบาลก็คงต้องไปหาทาง ว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้สามารถ “ปิดหีบ” ปีงบประมาณ 2564 ได้ และ “เงินคงคลัง” ไม่ได้รับผลกระทบ

ซึ่งมีความท้าทายมาก เพราะตอนนี้ ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาล ที่กระทรวงการคลังเปิดเผยล่าสุด ช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 (ต.ค. 2563-เม.ย. 2564) พบว่า รายได้ต่ำกว่าประมาณการไป 128,854 ล้านบาท หรือต่ำเป้า 9.5%

โดยเฉพาะกรมสรรพากรเก็บรายได้ต่ำเป้าถึง 74,774 ล้านบาท หรือต่ำเป้า 7.9% รัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้ต่ำกว่าเป้า 31,927 ล้านบาท หรือต่ำเป้า 29.3% และกรมสรรพสามิตเก็บรายได้ต่ำเป้า 29,555 ล้านบาท หรือต่ำเป้า 8.2%

ระยะที่เหลืออีกเพียง 5 เดือน เรียกได้ว่า “หืดจับ” แน่นอน เพราะหากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 7 เดือนแรกปีนี้รัฐบาลเก็บรายได้ต่ำกว่าปีที่แล้วถึง 78,284 ล้านบาท หรือลดลง 6%

และไม่เพียงปีนี้เท่านั้น ในปีงบประมาณ 2565 (ต.ค. 2564-ก.ย. 2565) ฐานะการคลังจะยิ่งลำบากมากขึ้น เนื่องจากผลจากโควิด-19 ในปีนี้ ที่กระทบต่อรายได้ภาคธุรกิจ จะมีผลไปถึงการจัดเก็บภาษีในช่วงปีงบประมาณหน้าด้วย

ซึ่งในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลตั้งประมาณการรายได้ไว้ที่ 2.4 ล้านล้านบาท โดยตั้งเป้าขาดดุลงบประมาณ 700,000 ล้านบาท

มีโอกาสสูงมากที่จะไม่เป็นไปตามเป้า หากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังเป็นไปอย่างล่าช้า เพราะไม่สามารถเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวได้

สุดท้ายแล้ว คำตอบทุกอย่างวนกลับไปที่วัคซีนโควิด ซึ่งทุกฝ่ายลงความเห็นกันว่า ต้องเร่งฉีดให้ได้มากกว่าแผนที่วางไว้ เพราะไม่เช่นนั้น เศรษฐกิจประเทศจะยิ่งเสียหาย และประเทศก็เสียโอกาสมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงประชาชนยังต้องเผชิญกับภาวะ “รายได้โตไม่ทันค่าครองชีพ” เพราะเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นเป็นเทรนด์ทั่วโลก ต้นทุนสินค้าต่าง ๆ ขยับขึ้นไปรอแล้ว แต่ด้วยเศรษฐกิจที่ยังไม่ดี ทำให้คนไทยยังประสบปัญหาด้านรายได้กันอยู่

กลัวเหลือเกินว่า สุดท้ายแล้ว ทั้งรัฐ และประชาชน อาจจะตกอยู่ในสภาวะ “ถังแตก” ไปตาม ๆกัน