หัวอก…เจ้าของโรงแรม เหมือนเผาแบงก์กงเต๊ก

คอลัมน์สามัญสำนึก
สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

เวทีสัมมนา “Thailand Survivor…ต้องรอด” ของประชาชาติธุรกิจเมื่อ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา เป็นการถอดบทเรียนการดิ้นปรับตัวเพื่อความอยู่รอด โดยหนึ่งในวิทยากรที่อยู่ท่ามกลางมรสุมโควิด-19 ก็คือ “ยุทธชัย จรณะจิตต์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทอิตัลไทย เพราะนอกจากกลุ่มธุรกิจจักรกลหนัก อีกกลุ่มธุรกิจสำคัญของอิตัลไทยก็คือ “ธุรกิจโรงแรมและไลฟ์สไตล์” ภายใต้บริษัท ออนิกซ์ ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป

ที่มีทั้งโรงแรมและเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ 54 แห่ง ใน 8 ประเทศ (ในไทย 31 แห่ง) ภายใต้แบรนด์ต่าง ๆ อาทิ อมารี, Shama, OZO และยังเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ของโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล

ดูจากพอร์ตธุรกิจก็รู้ว่าได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แบบเต็ม ๆ ทำให้งานนี้ “ยุทธชัย จรณะจิตต์” ตัดสินใจโดดเข้ามานั่งเก้าอี้ “ซีอีโอ” คุมทัพธุรกิจโรงแรมเองเพื่อฝ่าวิกฤตครั้งยิ่งใหญ่ จากเดิมที่ใช้มืออาชีพชาวต่างชาติ

“การที่เจ้าของโรงแรมเข้ามานั่งบริหาร มาปรับโครงสร้างองค์กร ไม่ใช่แค่ที่จะทำให้องค์กรมีการเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของคอมมิตเมนต์ที่ให้กับพนักงาน เจ้าของที่ดิน รวมถึงซัพพลายเออร์ บอกให้รู้ว่าไม่ใช่แค่ปิดโรงแรมเพื่อลดค่าใช้จ่ายแล้วจบ เพราะตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา สถานการณ์จะดีหรือเลวยังไง เราก็ไม่ได้ปิดโรงแรมเลย”

เพราะโรงแรมก็เหมือนบ้าน ต้องมีคนอยู่ ต้องมีคนดูแล การดูแลแอสเซตเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะโรงแรมแต่ละแห่งลงทุน 500-1,000 ล้านบาท ต้องคอมมิตเมนต์กับธนาคารเจ้าหนี้ และที่สำคัญพนักงานต้องมีงานทำ มีรายได้ ซึ่งการที่ผมลงแรงลงใจมานั่งตรงนี้แล้วทุกคนต้องไปด้วยกัน

“ยุทธชัย” มองว่า สถานการณ์โควิดจะมีผลกระทบกับธุรกิจท่องเที่ยวต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 2 ปี ทำให้เวลานี้การจ้างงานของธุรกิจโรงแรมจะต้องปรับฐานใหม่ โดยเฉพาะระดับบริหาร เพื่อทำให้ “โครงสร้างต้นทุน” สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลง

“ที่ผ่านมาโรงแรมเป็นธุรกิจอู้ฟู่มาก จ้างผู้บริหารต่างประเทศจ่ายผลตอบแทนเต็มที่ ทำงานแบบเบิร์ด ๆ ตอนนี้ก็ปรับโครงสร้างให้คนไทยขึ้นมาเป็นจีเอ็ม เพื่อให้สอดรับกับธุรกิจที่ต้องพึ่งพาตลาดในประเทศเป็นหลัก 2-3 ปีจากนี้”

ในแง่ของตลาดในประเทศ เชื่อว่าถ้าฉีดวัคซีนกันครบ 2 เข็ม ดีมานด์จะกลับมาแน่ แต่การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้น “ยุทธชัย” ยอมรับว่ายังไม่มั่นใจว่าประเทศไทยพร้อมรึยัง และถ้าเปิดประเทศ แล้วเกิดการระบาดอีกครั้ง เราจะพร้อมรับสถานการณ์แบบนั้นรึยัง รัฐบาลและทุกฝ่ายยังมีความกังวลในเรื่องนี้ ทั้งระบุว่า วัคซีนไม่ใช่จุดจะแก้ปัญหาทุกอย่าง เป็นจุดเริ่มต้นไม่ป่วย ไม่ตาย แต่ไม่ได้หารายได้มากขึ้น เพราะกลุ่มฮอลพิทาลิตี้รายได้หลัก ๆ มาจากต่างประเทศ

ธุรกิจโรงแรมรายได้จากโดเมสติกสัดส่วนไม่ถึง 20% ไม่พอเลี้ยงลูกจ้างพนักงาน ดังนั้นการเปิดให้บริการของโรงแรมแต่ละแห่งหมายถึง เจ้าของจะต้องซับซิดี้ 3-40 ล้านบาทต่อเดือนขึ้นอยู่กับสเกลและแบรนด์

“การทำธุรกิจโรงแรมทุกวันนี้เหมือนการเผาแบงก์กงเต๊ก หรือเผาเงินทิ้ง เพราะทุก ๆ เดือนมีค่าใช้จ่าย ทั้งค่าจ้างพนักงาน, ค่าเช่าที่โรงแรม รวมถึงต้องจ่ายดอกเบี้ย”

ขณะที่เจ้าของโรงแรมก็ต้องซัพพอร์ตโดยเป็นหนี้แบงก์เพิ่มขึ้น ขณะที่ความสามารถจ่ายหนี้ยังไม่มี ได้แค่จ่ายดอกเบี้ย สำหรับ “เจ้าของที่ดิน” ที่ให้โรงแรมเช่าก็ต้องรับสภาพว่าต้องลดค่าเช่าต่อไปเรื่อย ๆ เพราะธุรกิจโรงแรมตอนนี้ “เงินทุกบาททุกสตางค์” มีคุณค่าให้กับพนักงานในเซ็กเตอร์นี้

การหารายได้ของโรงแรมตอนนี้ เป็นเพียงการลด
ซับซิดี้ของเจ้าของที่ต้องแบกภาระขาดทุนต่อไป เพราะถ้ายังไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศรายได้ก็ยังไม่พอกับค่าใช้จ่าย

“ยุทธชัย” เล่าว่า ธุรกิจโรงแรมยุคนี้การหารายได้ต้องพลิกแพลง และเจ้าของโรงแรมต้อง “บ้า” เพราะถ้าไม่บ้าอยู่ไม่ได้

แต่ยังตอกย้ำว่า “ธุรกิจโรงแรมไม่มีวันตาย” แต่จะต้องปรับเปลี่ยนมาเน้น “คุณภาพ+ราคา” ไม่ใช่เน้นปริมาณเช่นที่ผ่านมา

และนี่คือหัวอกของเจ้าของโรงแรมในยุคโควิด-19