Startup ธุรกิจเกษตร โอกาส-ความท้าทายยุค COVID-19

คอลัมน์ ช่วยกันคิด
กฤชนนท์ จินดาวงศ์
ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS

ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา เม็ดเงินลงทุน Startup ด้านเกษตรและอาหารของโลกเพิ่มขึ้นสูงถึง 830% โดยปี 2019 มีเงินลงทุนสูงถึง 17,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นเม็ดเงินลงทุนสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับปี 2013-2015 ที่มีมูลค่าลงทุนเฉลี่ยเพียง 5,270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี

โดย Biotechnology และ Alternative food เป็นเทรนด์ที่นักลงทุนสนใจลงทุนมากที่สุด มีเงินลงทุนรวมกันในปี 2019 10,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 60% ของเงินลงทุนใน Startup ด้านเกษตรและอาหารทั้งหมด

คำถามที่น่าสนใจ คือ ท่ามกลางการระบาดของ COVID-19 Startup ด้านเกษตรและอาหารของไทยยังสามารถเติบโตไปพร้อมเทรนด์ Startup โลกได้หรือไม่ กลุ่มไหนเติบโตดี และโอกาสที่จะเป็น Unicorn Startup มีมากน้อยเพียงใด

ที่ผ่านมาการลงทุนใน Startup ด้านเกษตรและอาหารของไทยยังค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะในกลุ่ม Agritech ส่วนใหญ่การระดมทุนยังอยู่ในช่วง Early Stage หรือช่วงเริ่มต้น ข้อมูลของ Techsauce พบว่าปี 2018 มีเงินลงทุนในด้านเกษตรและอาหารเพียง 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 17% ของเงินลงทุนใน Startup ทั้งหมดของไทย

โดยเงินลงทุนใน Startup ด้านอาหาร และ Biotechnology รวมกันอยู่ที่ 8.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 14% และการลงทุนใน Startup ด้าน Agritech อยู่ที่ 1.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 3%

ข้อมูลของ Crunchbase ซึ่งเป็นบริษัทที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนของ Startup ทั่วโลก พบว่าการระดมทุนของ Startup ด้านเกษตรและอาหารของไทยอยู่ในช่วง Early Stage เกือบทั้งหมด และส่วนใหญ่ยังไม่มี Partner ในการดำเนินธุรกิจ

Startup ด้านเกษตรและอาหารของไทย ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่ม Farm Management หรือ เทคโนโลยีการบริหารจัดการภายในพื้นที่เพาะปลูกหรือเลี้ยงสัตว์ ซึ่งผู้ประกอบการกลุ่มนี้มี 24 ราย หรือ 36% จาก Startup ด้านเกษตรและอาหารทั้งหมด 66 ราย และส่วนใหญ่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเทคโนโลยี Sensors และ IOT เช่น บริษัท Rodai พัฒนาผลิตภัณฑ์ Sensor ใช้วัดความชื้นในดินสำหรับเพาะปลูกพืช

รองลงมา คือ กลุ่ม Marketplaces หรือพื้นที่ที่ใช้ในการจำหน่ายสินค้าเกษตรในรูปแบบออนไลน์ กลุ่มนี้มี 17 ราย คิดเป็น 26% ของ Startup ด้านเกษตรและอาหารทั้งหมด ส่วนด้าน Biotechnology ประเทศไทยมี 3 ราย หรือ 4% เท่านั้น

ถามว่า Startup กลุ่มไหนที่คาดว่าจะเติบโตได้ดี ผู้เขียนมองว่าเทรนด์ Biotechnology และ Alternative Food จะเป็นธีมหลักในการเติบโตของ Startup ด้านเกษตรและอาหารของไทยในระยะอันใกล้ตามเทรนด์การลงทุนของโลก โดยเฉพาะหลังการระบาดของ COVID-19 ล่าสุดบริษัท Startup เกษตรด้าน Biotechnology จากสหรัฐ ชื่อ Indigo Agriculture สามารถระดมทุนจนยกระดับเป็น Unicorn Startup มีมูลค่าบริษัทถึง 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดยประกอบธุรกิจผลิตสารบำรุงเมล็ดพันธุ์พืชที่ทำจากจุลินทรีย์ เช่นเดียวกับบริษัท Impossible Foods ซึ่งเป็น Startup เกษตรด้าน Alternative Food จากสหรัฐ ที่ระดมทุนกว่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยผลิตโปรตีนจากพืช จะเห็นได้ว่าทั้งสองบริษัทตอบโจทย์ทั้งด้านประสิทธิภาพการผลิตและความต้องการผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น

นอกจากนี้เทรนด์ด้าน Biotechnology และ Alternative Food จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทยในตลาดโลก แม้ที่ผ่านมาไทยผลิตอาหารได้เพียงพอกับการบริโภคในประเทศ และส่งออกสินค้าเกษตรเป็นลำดับต้นของโลก แต่สินค้าเกษตรส่วนใหญ่ เช่น ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ยังมีปัญหาผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าคู่แข่ง ทำให้ต้นทุนผลิตค่อนข้างสูง แข่งขันในตลาดโลกได้ลำบาก ดังนั้นเทคโนโลยีด้าน Biotechnology และ Alternative Food จะตอบโจทย์การเพิ่มประสิทธิภาพผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่ม

ส่วนโอกาสที่ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรไทยจะเป็น Unicorn Startup หรือ Startup ที่ระดมทุนได้มากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีมากน้อยเพียงใด ผู้เขียนมองว่ายังเผชิญความท้าทายหลายด้าน การยกระดับเป็น Unicorn อาจไม่ง่ายนัก ทั้งปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เนื่องจาก Startup ส่วนใหญ่ไม่มีหลักประกัน ไม่มีผู้สนับสนุนด้านการเงิน ประกอบกับมีอุปสรรคจากกฎระเบียบที่ไม่เอื้อในการระดมทุน

แม้ปัจจุบันกฎหมายไทยจะอนุญาตให้บริษัทจำกัดสามารถออกหุ้นกู้แปลงสภาพได้แล้ว แต่มีขั้นตอนการขออนุญาตจาก ก.ล.ต.มากกว่าสิงคโปร์และฮ่องกง นอกจากนี้ยังมีความท้าทายจากกลุ่มผู้ใช้งานหลักที่เป็นเกษตรกรที่มีอายุโดยเฉลี่ยค่อนข้างสูงและมีช่องว่างในการเข้าถึงเทคโนโลยี

Krungthai COMPASS มองว่า Quick Win ที่จะผลักดันให้ Startup เกษตรและอาหารของไทยก้าวข้ามข้อจำกัดมี 4 ประการ

1.การเป็น Partner กับผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรและอาหารที่มีศักยภาพ จะส่งผลให้ Startup เติบโตรวดเร็ว สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตรงความต้องการผู้ใช้งานจริงได้ และได้ประโยชน์จากการนำเทคโนโลยีของ Startup มาประยุกต์ใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ปรับปรุงกระบวนการทำงานของบริษัทลดค่าใช้จ่ายในส่วนของต้นทุน

2.Startup ต้องมีแนวคิดออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สามารถใช้ได้ทั่วโลก ไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

3.ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการทลายข้อจำกัดด้านระบบนิเวศ (Ecosystem) เช่น ปรับปรุงกฎหมายในการระดมทุน สร้างองค์ความรู้และ Incentive ในการใช้เทคโนโลยี

จากการศึกษาของ Mahima (2020) ที่ศึกษาเรื่องระบบนิเวศของ Startup พบว่า ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขกฎระเบียบเพื่อช่วยให้สามารถ ระดุมทุนได้สะดวกขึ้น สอดคล้องกับรายงานของ Startupblink ที่พบว่า ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ Startup ประสบความสำเร็จผ่านโครงสร้างการเก็บภาษีที่ต่างกับธุรกิจทั่วไป สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในการสร้างองค์ความรู้ การให้สิทธิประโยชน์

4.การระดมทุนรูปแบบ Crowdfunding หรือโดยการเข้าหุ้น เนื่องจากเป็นแหล่งเงินทุนที่ไม่ต้องมีหลักประกันรองรับ ต้นทุนทางการเงินต่ำ ทำให้ธุรกิจคล่องตัวในการบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนภายในองค์กร ทั้งยังช่วยสนับสนุนนวัตกรรมหรือแนวความคิดใหม่ ๆ ให้สามารถต่อยอดได้ อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของการระดมทุนแบบ Crowdfunding คือ การสร้างความน่าเชื่อถือของโครงการดึงดูดใจนักลงทุน

โดยสรุป ความร่วมมือกันภายใน Ecosystem ทั้งภาครัฐและเอกชนจะเป็นปัจจัยสำคัญช่วยให้ Startup ด้านเกษตรและอาหารของไทยสามารถเติบโตตามเทรนด์การลงทุนของโลกหลังมีการระบาดของ COVID-19

อย่างไรก็ตาม ในการทำธุรกิจ Startup ให้ประสบความสำเร็จ นอกจากผู้ก่อตั้ง Startup ต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านแล้ว ความเข้าใจงบการเงิน การทำบัญชีก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากพบว่างบการเงินเป็นสิ่งสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน โดยเฉพาะ Startup ในระยะ Early Stage

รวมถึงการบริหารความเสี่ยงองค์กรเพื่อให้บริษัทสามารถขยายตลาดและบริหารสภาพคล่องให้เหมาะสมสอดคล้องกับภาวะธุรกิจ รวมทั้งสามารถปรับแผนการดำเนินธุรกิจได้อย่างรวดเร็วท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา