โควิดบุกฐานการผลิตประเทศ

บทบรรณาธิการ

สัปดาห์ที่ผ่านมา วงการส่งออกมีข่าวดีมาพร้อม ๆ กับข่าวร้าย เพราะก่อนหน้าที่กระทรวงพาณิชย์จะประกาศตัวเลขยอดการส่งออกสินค้าไทย ช่วงเดือน เม.ย. 2564 พุ่งสูงกว่า 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 13.09% ทำสถิติขยายตัวสูงสุดในรอบ 36 เดือน ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2561 มีข่าวร้ายโควิด-19 ระบาดหนักในโรงงานอุตสาหกรรมขยายวงกว้างในหลายจังหวัด เป็นความเสี่ยงของภาคส่งออกที่ฟื้นตัวได้ดีตั้งแต่ต้นปี

โรงงานเป็นคลัสเตอร์ใหม่ที่เชื้อโควิดแพร่กระจายรวดเร็ว จากสภาพการทำงาน ความแออัด ฯลฯ แม้ทุกโรงงานมีมาตรการป้องกันแต่อาจไม่เพียงพอ จึงน่าห่วงว่าภาคการผลิตจะถูกกระทบจากโควิดที่บุกโจมตีฐานที่มั่นโรงงานอุตสาหกรรมทั้งในภาคกลาง ตะวันออก ภาคใต้ หลายโรงงานมีผู้ติดเชื้อตั้งแต่หลักสิบ หลักร้อยจนถึงระดับ 4-5 พันคน

อย่าว่าแต่ชุมชนที่อยู่รอบข้างหรือประชาชนภายในจังหวัด แต่ปรากฏการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดความวิตกกังวลกับคนทั้งประเทศ ขณะเดียวกันก็สั่นสะเทือนภาคการส่งออกซึ่งเป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ในช่วงที่รายได้จากภาคการท่องเที่ยวลดลงเกือบเป็นศูนย์ หากการติดเชื้อในโรงงานยังลุกลามสกัดไม่อยู่ การผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกตามออร์เดอร์ลูกค้าสะดุด รายได้เข้าประเทศจะขาดหายไปด้วย

ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่เครื่องยนต์เศรษฐกิจบางส่วนสตาร์ตไม่ติด หรือเดินหน้าได้ไม่เต็มที่ การบริโภคชะลอตัวไม่มีสัญญาณฟื้น เพราะคนส่วนใหญ่รายได้ลดน้อยลง การตกงาน ถูกเลิกจ้างยังมีต่อเนื่อง ที่ผ่านมาแม้มีเม็ดเงินจากการลงทุนภาครัฐเข้าระบบ แต่การลงทุนภาคเอกชนไม่กระเตื้อง การป้องกันฐานที่มั่นโรงงานอุตสาหกรรม ระดมตัวช่วยรักษารายได้ภาคการส่งออกจึงต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน

โดยรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องประคับประคองเครื่องยนต์ภาคส่งออกที่ยังทำงาน และเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศ หยุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในโรงงานอุตสาหกรรมหลายสาขา โรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร ภาคการประมง ด้วยการผนึกกำลังแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยยกระดับเป็นภารกิจสำคัญ ก่อนที่สถานการณ์จะบานปลายกระทบภาคการส่งออกถึงขั้นวิกฤต

มาตรการตรวจสอบคัดกรองโรคเชิงลึก แผนระดมฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แรงงานไทย แรงงานต่างด้าวในนิคมอุตสาหกรรม กับหลายพื้นที่ทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัด ซึ่งเป็นแหล่งที่ตั้งโรงงานจึงถือว่ามาถูกทาง แต่ที่สำคัญกว่าคือการนำแผนและมาตรการไปสู่การปฏิบัติได้เร็วที่สุด เพื่อลดผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้นกับภาคการส่งออกไม่ให้เสียหาย สูญเสียโอกาสมากกว่านี้