ยุบสภา !

คอลัมน์ สามัญสำนึก 
อิศรินทร์ หนูเมือง

การก้าวขึ้นสู่ปีที่ 8 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ย่อมมีแรงกดดันจากทั่วด้าน

แรงกดดันจากภายในพรรคร่วมรัฐบาล เท่า ๆ กับแรงต้านจากพรรคฝ่ายค้าน และไม่น้อยไปกว่าแรงผลักจากมวลชนนอกสภาผู้แทนราษฎร

รัฐบาลผสมลุเข้าสู่ปีที่ 3 โค้งสุดท้าย ก่อนเข้าสู่ปีเตรียมการเลือกตั้ง

เสียงขู่-เสียงข่มจากพรรคสนิมในรัฐบาล เพิ่มดีกรีดังขึ้น จากทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย ไม่นับรวมพวกพรรคจิ๋วที่อยู่ร่วมยกมือโหวตวาระสำคัญแบบมีราคาค่างวด

เสียงระฆังยกแรกดังขึ้นเมื่อสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ชูธงให้พรรค “ถอนตัว” ออกจากการร่วมรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง สอดรับกับโฆษกพรรคประกาศความพร้อมในการเลือกตั้ง ก่อนวาระพิจารณางบประมาณรายจ่ายปี 2565 จะเข้าสู่วาระ 1 ในสภาผู้แทนราษฎร

แม้ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค จะชูความหนึบด้วยวาจา “ผมจะทำหน้าที่จนนาทีสุดท้าย ไม่ว่าจะยุบสภาหรืออยู่ครบวาระ”

แต่การตะลุมบอน-ไฟสุมขอนจากพรรคภูมิใจไทย ยังโหมต่อเนื่องจากการอภิปรายถล่มวงเงินของพรรคแกนนำ และยอดเงินโควตากลางที่คุมเชิงโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

จากเสียงขู่สู่เสียงคำรามที่ดังขึ้นในสภา แกนนำภูมิใจไทยประกาศสัญญาณถอนตัว-กลับบ้าน เพราะยอดเงินในบัญชีงบประมาณกระทรวงที่กำกับถูกตัดยับ-ขยับไปกองรวมที่ “งบฯกลาง-ฉุกเฉิน” เพื่อการกำจัดโรคระบาดของศูนย์บริหารโควิด (ศบค.)

คู่ขนานปฏิบัติการตอบโต้ เปิดเกมสงครามสั่งสอนจากฝ่ายพรรคพลังประชารัฐ โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ สนธิกำลังกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลมใต้ปีก พล.อ.ประยุทธ์ ในการบริหาร “เงิน-วัคซีน” และองคาพยพของการแก้ปัญหาโควิดทั้งประเทศ

การกระชับอำนาจและการเผชิญหน้าระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลผูกปมตึง จนอาจต้องคลายปัญหาด้วยท่าไม้ตาย “ยุบสภา” ตามเวลาอันควร

คือห้วงเวลาหลังจากงบประมาณปี’65 ทั้ง 3.1 ล้านล้านบาท ถูกประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมาย

และภายใต้รัฐบาลรักษาการ พล.อ.ประยุทธ์และคณะพลังประชารัฐ ยังได้คุมถุงเงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทั้งงบฯกลาง 571,047 ล้านบาท และยอดเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินจำเป็น 89,000 ล้านบาท รวมงบฯกลาโหมอีก 203,281 ล้านบาท

ขณะที่มหาดไทยที่ยังได้คุมกลไกเลือกตั้ง ตั้งแต่ท้องถิ่นถึงเลือกตั้งใหญ่ ภายใต้ทีม พล.อ.อนุพงษ์ กุมวงเงินในงบประมาณ 316,527 ล้านบาท เงินนอกงบประมาณอีก 42 ล้านบาท

เครือข่ายรัฐมนตรีพลังประชารัฐถือว่าอุดมสมบูรณ์อยู่ในอู่ข้าว-อู่น้ำ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์-รองหัวหน้าพรรค มีงบฯในกรม-กองที่กำกับเกือบ 6 พันล้าน จับมือ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน ลงพื้นที่ถี่ยิบ มีไส้ในงบประมาณในมือ 1,000 กว่าล้าน

ทั้งสามมิตรเก่า-มิตรใหม่ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ได้คุมเงิน 4 พันกว่าล้าน ด้าน สมศักดิ์ เทพสุทิน เข้าใกล้วงเงินงบประมาณเหยียบ 2.4 หมื่นล้าน

เจ้าพ่อตะวันออกคนใหม่ สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ได้บริหารทั้งเงิน-ทั้งกล่อง ลงตัวเกือบ 5 หมื่นล้าน

ลูกข่าย-ลูกรักของ พล.ประวิตร คนล่าสุด ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ แห่งกระทรวงดีอีเอส มียอดงบประมาณเกือบ 7 พันล้าน

รัฐมนตรีแห่งปราจีนบุรีคอนเน็กชั่น “ตรีนุช เทียนทอง” รมว.ศึกษาธิการ คว้ายอดงบประมาณสูงสุด 3.3 แสนล้าน

หัวหน้าพรรคอันดับ 2 อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข นักการเมืองคนสำคัญ-แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี มีงบฯที่ลูกพรรคช่วยยื้อกว่า 1.5 แสนล้าน แต่มีดีลงบประมาณก้อนใหญ่ในกระทรวงคมนาคม ของศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นกอบเป็นกำถึง 1.7 แสนล้าน

กระทรวงด่านหน้าหาเสียงได้ง่าย ถูกไปจ่ายไว้ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 5 พันกว่าล้าน ของรัฐมนตรีหน้าใหม่ พิพัฒน์ รัชกิจประการ หัวหมู่ทะลวงฐานเสียงภาคใต้

เสียงหนึบ-หนืดติดเก้าอี้รัฐบาลอันดับ 3 จุรินทร์ ในกระทรวงพาณิชย์ พิชิตยอด 6.5 พันล้าน แต่ชิ้นปลามันตกอยู่ที่เลขาธิการพรรค นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำไว้ได้ 1.1 แสนล้าน อีกเก้าอี้ที่หาเสียงได้ง่าย คือ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ตัวเลขกลม ๆ 2.4 หมื่นล้าน

3 พรรคใหญ่มีข้าวเต็มนา ปลาร้าเต็มไห ยุบสภาเมื่อไร ก็กินอิ่มนอนอุ่น