ใส่เงินคนจนดึงคนรวยช้อปโหมไฟเศรษฐกิจโค้งท้ายปี

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย วิไล อักขระสมชีพ

เวลาอีกเพียง 1 เดือนกว่า ๆ ก็จะสิ้นปี 2560 แล้ว ซึ่งทุกปีถือเป็นช่วงไฮซีซั่นของคนไทย ที่จะจับจ่ายใช้สอยพักผ่อนท่องเที่ยวรับลมหนาวผ่านเทศกาลวันหยุดยาวเป็นระยะ ๆ จนถึงหยุดวันปีใหม่ปี 2561

แต่ปีนี้ก็ยังเป็นอีกปีที่เสียงรำพึงรำพันดังต่อเนื่องในเรื่อง “ปากท้องชาวบ้าน” ผู้คนรอบข้างต่างก็ยังมีแต่คำถามว่านี่ ! เศรษฐกิจไทยดีจริง ทำไมไม่ได้รู้สึกดีด้วยเลย ? เห็นข่าวพาดหัวกันคึกคัก แต่บรรยากาศใช้จ่ายในห้าง หรือร้านค้าก็ดูหงอย ๆ คนมาเดินเยอะก็ไม่ค่อยซื้อ เหล่ามนุษย์เงินเดือนระดับกลางลงมา บางคนที่อายุงานราว 3 ปี ก็บอกว่า เงินหมุนไม่ทัน เลยยังติดค้างจ่ายค่างวดรถอยู่เลย แถมบัตรเครดิตก็ยังเต็มวงเงิน เติมน้ำมันก็เลยใช้เงินสดที่มีถูไถไปทีละนิด ๆ บางคนที่เป็นพ่อลูกอ่อนก็ถามว่า เศรษฐกิจช่วง 2 เดือนนี้จะดีขึ้นจริงหรือเปล่า

นี่เป็นเสียงสะท้อนจากคนกลุ่มหนึ่งที่ทำงานอยู่ด้วยกัน ถ้าดูเสียงจากพ่อค้าแม่ขายในตลาดสดที่ไปซื้อกับข้าว ก็ยิ่งบ่นระงมกว่านี้อีก ทำให้นึกไปถึงชาวบ้านรากหญ้าเกษตรกรต่าง ๆ ที่เป็นกลุ่มก้อนฐานใหญ่กระจายในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ คงมีความรู้สึกไม่แตกต่างกันกับคนในเมืองหลวงแน่นอน

แล้วทำไมปีนี้ เสียงฝั่งรัฐบาล หน่วยงานรัฐต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ แบงก์ชาติ หรือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมไปถึงสำนักวิจัยพยากรณ์เศรษฐกิจค่าย ๆ ต่างของภาคเอกชน ถึงยังออกมาประสานเสียงประโคมข่าวแต่ว่า “เศรษฐกิจดีขึ้นแล้ว” ตลอดทั้งปีอยู่นั่น คำตอบก็เพราะพวกเขาเหล่านี้เลือกจะพูดแต่ข้อมูลที่วัดออกมาผ่านทาง “ตัวเลข” ของดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจโดยรวม ๆ ที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าบ้าง เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนบ้าง ซึ่งก็ไม่เถียงเพราะเป็นการชี้ทิศทางที่กระเตื้องขึ้น และเลือกที่จะไม่พูดถึงสภาพความเป็นจริงที่ยังมีฐานคนส่วนใหญ่ ที่ตกอยู่ใน “สภาวะอ่อนแอ”

ความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ จึงยังสัมผัสได้แต่ “อารมณ์ที่ขัดแย้งอย่างมาก” เรียกว่าห่างไกลกับตัวเลขที่ออกมาดีผ่านดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจที่แบงก์ชาติหรือสภาพัฒน์ กระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดโชว์ในรายงานเศรษฐกิจทั้งรายเดือนและรายไตรมาส ถ้าดูข้อมูลที่ “ดอน นาครทรรพ” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ระบุว่า เศรษฐกิจไตรมาส 3 นี้ มีโอกาสขยายตัวมากกว่า 4% ทีเดียว ซึ่งจะมากกว่า 2 ไตรมาสแรกปีนี้ ทั้งนี้ก็เพราะผลของภาคการส่งออกที่เติบโตสูงกว่า 9% ในช่วง 9 เดือนแรก และภาคท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี รวมถึงเครื่องยนต์การลงทุน-ใช้จ่ายภาครัฐยังใส่เข้าอย่างต่อเนื่อง ส่วนการลงทุนเอกชนและบริโภคยังฟื้นตัวแบบกระจุกอยู่ ซึ่งตัวเลขที่แต่ละหน่วยงานประกาศก็เปรียบเสมือนเป็นเครื่องมือตอกย้ำการบริหารที่ดีขึ้นหรือแย่ลง แต่ไม่ได้สะท้อนสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่แท้จริงของคนและภาคธุรกิจมากนัก

ช่วง 9 เดือนมานี้ที่ว่าเศรษฐกิจดี ล้วนได้อานิสงส์การส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก ที่ดันให้ตัวเลขเศรษฐกิจออกมาดี และผลส่วนใหญ่จึงไปตกเฉพาะผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง 2 ภาคส่วนนี้ แต่ถ้าดูเศรษฐกิจในประเทศ ก็จะพบว่ายังมีการฟื้นตัวช้า ๆ ส่วนหนึ่งก็เพราะชาวเกษตรกรยังมีรายได้หดตัวลง และยังเห็นการว่างงานที่ขยับเพิ่มขึ้นอีก บ่งชี้ถึงการพื้นตัวที่ยังไม่กระจายทั่วถึง และรัฐบาลก็รู้สถานการณ์นี้ดี จึงทุ่มเงินราว 4.2 หมื่นล้านบาทต่อปี เพื่ออัดฉีดเงินใส่มือกลุ่มคนรายได้น้อยจริง ๆ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) ที่เพิ่งออกมาเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งก็ช่วยได้จำนวน 11.67 ล้านคนที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้เดือนละ 300 บาท ซึ่งก็จำกัดร้านค้าอีก ก็คาดหวังจะพอให้หายใจได้เฮือกสั้น ๆ อันนี้ช่วยคนตรง ๆ ส่วนเร็ว ๆ นี้ก็จะออกมาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” หักภาษีได้คนละ 15,000 บาท ซึ่งปีนี้จะออกมาเร็วขึ้นราวกลางเดือน พ.ย.นี้ถึงต้นเดือน ธ.ค. ซึ่งจะเป็นการดึงเงินออกมาจากกระเป๋าคนรวยคนที่มีเงินใช้จ่ายอยู่ ออกมาช่วยกันช็อปปิ้งบริโภค หวังจะเป็นเชื้อไฟที่โหมบรรยากาศเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวต่อเนื่องจนถึงสิ้นปีนี้

ทุกวันนี้เศรษฐกิจไทยก็ได้แต่แรงขับเคลื่อนหลักโดยนโยบายการคลังผ่านการอัดฉีดต่าง ๆ ขณะที่นโยบายการเงินที่อยู่ในมือดูแลของแบงก์ชาติ ก็ดูจะไร้พลังช่วยเศรษฐกิจ เพราะงัดเหตุผลต่าง ๆ นานาที่จะไม่ลดดอกเบี้ย แม้ว่าจะยังติดกับดัก “เงินเฟ้อต่ำ” กว่า 1% หลุดกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายปีนี้ที่ตั้งไว้ 1-4% ก็ตาม เพราะให้น้ำหนักปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศที่ยังกดดัน อาทิ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะขึ้นดอกเบี้ย สภาพคล่องในตลาดโลกที่จะตึงตัวขึ้นจากการลด QE หรือมีการดูดกลับเงินที่ปล่อยล้นในระบบ แต่ก็ยังชี้ปัจจัยในประเทศที่เสี่ยงจากภาวะหนี้ครัวเรือนหนี้เอสเอ็มอี ยังอ่อนแอ แต่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของแบงก์ชาติ ก็ยังไม่เห็นว่าต้องลดดอกเบี้ยช่วย เพราะห่วงคนมีเงินออมจะได้ดอกเบี้ยฝากที่ต่ำด้วย ซึ่งฝ่ายวิจัยต่าง ๆ ก็ยังคาดกันว่า วันประชุม 8 พ.ย.นี้ กนง.จะคงดอกเบี้ยที่ 1.50% และนี่คงเป็นจุดที่ดอกเบี้ยนโยบายต่ำสุดสำหรับแบงก์ชาติแล้ว

เงินในมือคนจนมีน้อยอยู่แล้ว ภาคธุรกิจที่อ่อนแอก็ต้องทนกล้ำกลืนไป เพราะ ธปท.ห่วงคนรวยได้ดอกเบี้ยฝากน้อย