ภูเก็ตแซนด์บอกซ์ ล่มจริง (ฤๅ) แค่พูดเอามันส์

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
ณัฏฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า
[email protected]

 

เหลืออีกเพียงแค่ 2 สัปดาห์เท่านั้นที่รัฐบาลไทยจะได้ฤกษ์กดปุ่มเปิด “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” รับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าภูเก็ต ภายใต้ข้อกำหนดว่าต้องอยู่ในพื้นที่ภูเก็ต 14 วันก่อนเดินทางต่อไปจังหวัดท่องเที่ยวอื่น ๆ ทั่วไทย

แน่นอนว่า นโยบายนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากสำหรับการพลิกฟื้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย หลังจากเผชิญกับวิกฤตมายาวนานกว่า 1 ปีแล้ว

ที่สำคัญยังเป็นการส่งสัญญาณให้ทั่วโลกรับรู้ว่า “ภูเก็ต” ของไทยพร้อมเปิดบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยวแล้ว

อีกทั้งยังเป็นนโยบายที่คนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่างยอมรับว่าดีมาก ๆ

จะเรียกว่า เป็นการปักธงเพื่อช่วงชิง “โอกาส” ของประเทศก็คงไม่ผิดนัก

แต่เกิดอะไรกับ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ทำไมยังไม่ทันแจ้งเกิดก็มีข่าวลือสะพัดหนาหูไปทั่วไทยว่า “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” นั้นส่อแววว่าจะ “ล่ม” เสียแล้ว !

ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นหลายเดือน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนภูเก็ตผนึกพลังและร่วมมือกันขับเคลื่อนอย่างหนัก พร้อมย้ำนักย้ำหนาว่าทุกภาคส่วนต้องสื่อสารออกไปให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน หรือ one voice เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมาย

สุดท้ายภาคเอกชนในพื้นที่กลับออกมาส่งสัญญาณไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาล ซึ่งประกอบด้วยกระทรวงการท่องเที่ยวฯ โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการต่างประเทศ จะสามารถดำเนินการเปิดภูเก็ตได้ตามแผน

โดย “ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม” นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวภูเก็ต ออกอาการ “หัวร้อน” ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อแบบแหกโค้งว่า โครงการดังกล่าวอาจล่มไม่เป็นท่า เพราะยังติดเรื่องความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน แต่ไม่ระบุประเด็นปัญหาที่ชัดเจน บอกให้คิดกันเอาเองว่าเป็นเรื่องที่เกินกว่าอำนาจของทางจังหวัดจะดำเนินการได้ ต้องอาศัยหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการแทน

รวมถึงแผนการฉีดวัคซีนที่อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากที่ผ่านมายังมีปัญหาเรื่องโควตาวัคซีนอยู่เช่นกัน

ข่าวที่ออกมาทำเอา “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” สั่นสะเทือนไปทั้งเกาะ แถมเกิด “อาฟเตอร์ช็อก” ลามถึงบรรดาผู้บริหารระดับสูงของ ททท. ที่แทบนั่งไม่ติดที่ ต้องเร่งปรับแก้รายละเอียดของขั้นตอนการปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานของภูเก็ต หรือ SOP พร้อมดันเข้าที่ประชุม ศบศ.ไปเมื่อ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา

ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่กรอบ SOP ผ่านการเห็นชอบของ ศบศ.แล้ว แต่ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ รายละเอียดปฏิบัติทั้งหมดนั้นยังต้องผ่านที่ประชุม ศบค.อีกครั้ง ก่อนที่จะเสนอพิจารณาต่อในที่ประชุม ครม. เพื่อประกาศลงราชกิจจานุเบกษา

เพราะด่าน ศบค.นั้นถือว่า “หิน” ไม่น้อย เพราะเป็นคณะที่โฟกัสในเรื่องของการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคเป็นหลัก ซึ่งทุกแนวปฏิบัติจำเป็นต้องรับรองได้ว่า “ปลอดภัย” ที่สุด

หากภาคเอกชนภูเก็ตไม่จับมือกับหน่วยงานรัฐให้แน่นกว่าที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น ททท. กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ ฯลฯ โอกาสที่ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” จะล่มไม่เป็นท่า ตามที่ตามคำให้สัมภาษณ์ของนายกสมาคมท่องเที่ยวภูเก็ตมีสูงแน่นอน

แหล่งข่าววงในกระชิบผู้เขียนว่า ขั้นตอนการปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานของภูเก็ต หรือ SOP ที่ผ่านความเห็นชอบของ ศบศ.ไปนั้น เป็นการพิจารณาในกรอบกว้าง ๆ เท่านั้น โดยที่ประชุมได้ย้ำว่าให้ไปปรับแก้ รายละเอียดอีกครั้ง เพื่อเป็นการป้องกันการกลับมาแพร่ระบาดรอบใหม่ หลังจากเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาตไปแล้ว

นั่นหมายความว่า ภาระหนักน่าจะอยู่ที่ทางจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเขียนข้อกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติอย่างละเอียด ตอบโจทย์เรื่องความปลอดภัยสูงสุดให้ ศบค.พิจารณาเห็นชอบตามขั้นตอนต่อไป

ดังนั้น ประเด็นที่คนท่องเที่ยวภูเก็ตควรพิจารณาและยอมรับในวันนี้คือ คนท่องเที่ยวทุกคน และทุกจังหวัด “ลำบาก” เหมือนกันหมด

แต่การที่รัฐบาลเลือกเอา “ภูเก็ต” เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติก่อนจังหวัดอื่น ๆ เพราะต้องการช่วยภูเก็ตก่อน และเข้าใจดีว่าภูเก็ตเป็นเมืองที่พึ่งรายได้หลักจากนักท่องเที่ยวต่างชาตินั่นเอง

บวกกับภูเก็ตมีข้อดีที่มีเหตุมีผลในการเลือกทดลองโมเดล เพราะพื้นที่เมืองเป็นเกาะ สามารถบริหารจัดการคนเข้า-ออกได้ง่าย ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงระดมพละกำลังเข้ามาช่วย

แน่นอนว่า นโยบายนี้ทำให้คนภูเก็ตได้ประโยชน์ก่อนใคร ดังนั้น คนภูเก็ตก็จำเป็นต้อง “เสียสละ” บางอย่างบ้างด้วยเช่นกัน

เพราะถ้า “ภูเก็ต” รอด จังหวัดท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่อยู่ในแผนทยอยเปิดตามมาก็จะรอดด้วยเช่นกัน แต่หาก “ภูเก็ต” ไม่รอดก็อย่าหวังว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยจะโงหัวได้ง่าย ๆ

ฉะนั้น อย่าพูดแค่เอามันส์และนั่งรออย่างเดียว อย่างน้อยที่สุดก็ควรให้ “กำลังใจ” คนทำงานของฝ่ายรัฐบาลบ้าง