“พ.ร.ก.กู้ 5 แสนล้าน” ใช้ให้คุ้มค่าคุ้มหนี้

แฟ้มภาพ
บทบรรณาธิการ

แม้จะมีเสียงคัดค้านวิพากษ์วิจารณ์สะพัด แต่พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท ก็ผ่านการพิจารณาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 10 มิถุนายน 2564 ตามคาด โดยได้รับเสียงโหวตเห็นชอบ 270 คะแนน ไม่เห็นชอบ 196 คะแนน งดออกเสียง 1 คะแนน และไม่ลงคะแนนเสียง 2 เสียง

เหตุผลความจำเป็นที่รัฐบาลชี้แจงในสภา ระบุถึงสาเหตุที่ต้องกู้รอบใหม่ว่า เป็นเพราะต้องเตรียมการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลังวงเงินภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาทร่อยหรอลง

ถึงปัจจุบันมีวงเงินเหลือแค่ 1,764 ล้านบาท ไม่เพียงพอรับมือโควิดระลอก 3 ที่ยังระบาดต่อเนื่อง และมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก ทั้งผู้ติดเชื้อ กลุ่มแรงงาน ประชาชนทั่วไป ภาคธุรกิจเอกชน

สาระสำคัญใน พ.ร.บ.ดังกล่าว ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศวงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท ภายในวันที่ 30 กันยายน 2565 สำหรับนำไปใช้จ่าย 3 แผนงาน 1.แผนงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของโควิด วงเงิน 30,000 ล้านบาท

2.แผนงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยแก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ 300,000 ล้านบาท และ 3.แผนงานหรือโครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมฯ 1.7 แสนล้านบาท

เจาะไส้ใน พ.ร.ก.กู้ฉบับใหม่ แทบไม่แตกต่างจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่กำหนดกรอบการใช้จ่ายในลักษณะกว้าง ๆ ไม่ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับแผนงาน โครงการที่จะดำเนินการชัดเจน ไม่แปลกที่จะถูกพรรคฝ่ายค้านทักท้วง รุมชำแหละว่าเป็นตีเช็กเปล่าให้รัฐบาลนำไปใช้ เหมือนวงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่หลายโครงการใช้จ่ายเงินโดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า

แม้ข้อทักท้วงคัดค้านไม่เป็นผล รัฐบาลซึ่งกุมเสียงข้างมากชนะโหวตในสภา พ.ร.บ.กู้ 5 แสนล้านล้านได้รับไฟเขียว แต่ต้องไม่ลืมว่าการก่อหนี้เพิ่มก้อนใหญ่ให้คนไทยรุ่นปัจจุบันจนถึงรุ่นลูกหลานแบกรับภาระ นอกจากต้องตอบคำถามข้อสงสัยในสภา นอกสภาให้กระจ่างแล้ว ทุกบาททุกสตางค์ต้องนำไปใช้จ่ายตรงตามวัตถุประสงค์ กู้วิกฤตเศรษฐกิจสังคมที่ติดหล่มลึกให้คลี่คลาย


ที่สำคัญการเบิกจ่าย การแก้ไขปัญหาแต่ละเรื่องต้องถูกจุด ตรงกลุ่มเป้าหมาย หยุดหว่านเงินแบบเหวี่ยงหรือหวังผลทางการเมือง ขณะเดียวกันก็เปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนตรวจสอบกลั่นกรองให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เหนือสิ่งอื่นใดต้องสร้างผลงานให้ปรากฏ เพื่อลบคำสบประมาท และพิสูจน์ให้เห็นว่ารัฐบาลใช้เงินกู้อย่างคุ้มค่าคุ้มหนี้