ช่วยกันติดตาม-ตรวจสอบ “เช็คเปล่า” 5 แสนล้านบาท

รัฐสภา
คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
อำนาจ ประชาชาติ

 

ในที่สุดกฎหมายกู้เงินฉบับใหม่ เพิ่มเติมอีก 500,000 ล้านบาท ก็ผ่านฉลุยตามคาด

เพราะทราบกันดีอยู่แล้วว่า รัฐบาลมีเสียงมากกว่าฝ่ายค้าน

ดังนั้น ถ้าไม่มีใคร “แตกแถว” ก็ไม่มีทางที่การโหวตกฎหมายจะไม่ผ่าน

และถึงแม้ว่า จะมีบางพรรคร่วมรัฐบาลอภิปรายอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน ในทำนองไม่เห็นด้วยก็ตาม ทว่าสุดท้ายแล้ว ก็ยกมือโหวตเป็น “ฝักถั่ว” ให้กฎหมายกู้เงินฉบับนี้ผ่านอยู่ดี

“อภิปรายอย่างราชสีห์ แต่ลงคะแนนอย่างหนู”

วลีนี้สะท้อนภาพได้เป็นอย่างดี และทำให้ทราบว่า ใครหวังดีกับประชาชน หรือคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติ อย่างจริงใจหรือไม่

เอาเข้าจริง ๆ แล้ว การกู้เงินเพิ่มอีก 500,000 ล้านบาท จากเดิมที่กู้ไปแล้ว 1 ล้านล้านบาท

คงไม่มีใครคัดค้านในแง่ความจำเป็น ที่ต้องใช้เงินแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

แต่สิ่งที่หลายฝ่ายจับตากันก็คือ รัฐบาลใช้เงินที่กู้มาอย่างเหมาะสม และคุ้มค่าแค่ไหน

ที่สำคัญ ใช้เพื่อปูทางหาเสียงล่วงหน้า เตรียมเข้าสู่โหมดเลือกตั้งหรือเปล่า

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าการกู้เงินเป็นหนี้สาธารณะ ซึ่งรัฐบาลจะต้องตั้งงบประมาณมาใช้คืนในอนาคตต่อไป และเงินงบประมาณที่นำมาใช้คืนหนี้ ก็คือเงินภาษีจากประชาชนคนไทยนั่นเอง

ดังนั้น การที่จะมีคนไม่เห็นด้วย และท้วงติง ก็ต้องถือว่าเป็นสิทธิที่พึงกระทำ

ซึ่งจนถึงขณะนี้ หลายคนก็ยังคาใจกับวงเงินที่จัดสรรไว้ใช้ด้านสาธารณสุขเพียง 30,000 ล้านบาท ขณะที่เงินในหมวดเยียวยามีถึง 300,000 ล้านบาท

และไม่เข้าใจว่า เหตุใดรัฐบาลจึงไม่ทุ่มงบประมาณเข้าไปกับการจัดซื้อวัคซีน เพื่อหยุดยั้งการระบาดของไวรัสโควิดที่รุนแรง ซึ่งน่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุดมากกว่าการปล่อยให้เกิดการระบาด แล้วค่อยมาจ่ายเงินเยียวยาที่จะทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากรมากกว่า

นอกจากนี้ยังมองกันว่า การผลักดันกู้เงินเพิ่มเติม โดยไม่ผ่านกลไกงบประมาณ เปรียบเสมือนการ “ตีเช็คเปล่า” ให้รัฐบาลเอาไปใช้แบบสบายใจนั่นเอง

ทั้งนี้ “คุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คลัง บอกว่า วงเงินกู้ตามบัญชีแนบท้าย สามารถปรับโยกได้ตามความจำเป็น และย้ำกลางที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า รัฐบาลตระหนักถึงวินัยการเงินการคลังของประเทศ ความคุ้มค่า ความโปร่งใส ในการใช้จ่ายเงินกู้

ในจุดนี้ก็คงต้องตามกันต่อไป

ส่วนเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทนั้น เนื่องจากอนุมัติไปใกล้เต็มวงเงินแล้ว ล่าสุดจึงมีการขอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ 2564-2565 เพื่อจ้างที่ปรึกษาติดตามประเมินผลแผนงาน หรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563

โดยมีกรอบวงเงิน 37,966,900 บาท ซึ่งจะใช้จากงบฯกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในปีงบประมาณ 2564 จำนวน 7,593,400 บาท และที่เหลืออีก 30,373,500 บาท จะใช้จากงบประมาณปี 2565 ซึ่งมีการขอตั้งงบประมาณปี 2565 รองรับไว้แล้ว

คาดว่าจะลงนามในสัญญาจ้างได้ในเดือนกรกฎาคมนี้ และมีระยะเวลาดำเนินการ 14 เดือน กำหนดแล้วเสร็จเดือนกันยายน 2565

เข้าใจว่า ถ้าเงินกู้เพิ่มเติม 500,000 ล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 อนุมัติจนใกล้เต็มวงเงินแล้ว ก็คงมีการจ้างที่ปรึกษามาประเมินผลเช่นเดียวกัน

ถึงวันนั้นก็ได้แต่หวังว่า สถานการณ์โควิดจะคลี่คลาย หรือจบสิ้นลงไปได้


อย่างไรก็ดี นับจากนี้ไป ทุกฝ่ายก็ต้องช่วยกันติดตามตรวจสอบกันต่อไป เพื่อที่ “เช็คเปล่า” จะถูกใช้ไปอย่างเหมาะสม คุ้มค่า และโปร่งใสมากที่สุด