ปฏิวัตินวัตกรรมฉบับ Apple

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
ณัฐวุฒิ ประชาชาติ

บางครั้ง “นวัตกรรม” ไม่จำเป็นต้อง “สร้างใหม่” หาก “ต่อยอด” ความสำเร็จที่มีอยู่แล้ว และอัพเกรดให้กลายเป็น “นวัตกรรม”

ตัวอย่างบริษัทที่สร้าง “นวัตกรรมพลิกโลก” จากการต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในตลาด คือ บริษัทแอปเปิล

ปัจจุบันแอปเปิลที่ว่ากันว่าเงินสดของแอปเปิลมากกว่าเงินคงคลังของสหรัฐอเมริกา นับตั้งแต่ครองตลาดเป็น “ดิจิทัลฮับ” ในทศวรรษ 2000

แอปเปิลมีผลิตภัณฑ์ตระกูล “i” ทั้งหลายไม่ว่า iMac iPad iPhone iTunes MacBook ไปจนกระทั่ง Apple TV ให้บริการ streaming content และเป็นเจ้าของซอฟต์แวร์ของตัวเอง ทั้ง Mac OS และ iOS ครบจบในค่ายเดียว

แม้ในยุคปัจจุบันคือยุคของซีอีโอ “ทิม คุก” ไม่ใช่ “สตีฟ จ็อบส์” แต่วัฒนธรรมองค์กรที่เป็นต้นตำรับ “นวัตกรรมพลิกโลก” ยังถูกสานต่อ

เมื่อพฤศจิกายนปีที่แล้ว แอปเปิลประกาศว่าต่อไปนี้คอมพิวเตอร์ตระกูล Mac จะไม่ใช่ชิป Intel อีกต่อไป แต่จะใช้ชิป Silicon ของตัวเองคือ ชิป M1 แทน ซึ่งนั่นทำให้การประมวลผลบางอย่างของ MacBook ชิป M1 ที่ราคาเริ่มต้น 3 หมื่นนิด ๆ แรงพอ ๆ กับคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กราคาเฉียดแสน ปัจจุบัน iPad Pro รุ่นล่าสุดก็ใช้ชิป M1

แต่แท้จริงแล้วนวัตกรรมของแอปเปิลไม่ได้เป็นเพราะ “จ็อบส์” คิดค้นแต่เพียงผู้เดียว หรือแอปเปิลจะเป็นต้นตำรับไปทั้งหมด แต่เพราะการหยิบนวัตกรรมของคนอื่นมาต่อยอด-พลิกมุมต่างหาก

ย้อนไปช่วงทศวรรษ 1960 ยุคปฏิวัติเทคโนโลยี จ็อบส์สมัยหนุ่มขี่กระแส “คอมพิวเตอร์” จับมือกับ “สตีฟ วอชเนียก” เป็นคู่หู “สตีฟ” กับ “สตีฟ”

สร้าง Apple I จากโรงรถบ้านของจ็อบส์ที่โลสอัลโตส ด้วยการจับคอมพิวเตอร์ที่ตอนนั้นยังไม่มีแม้กระทั่งจอ มาต่อกับแผงวงจรและจอ เขียนโค้ดสั่งการใหม่ ใส่คีย์บอร์ด กลายเป็นจุดกำเนิดของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และเป็นจุดเริ่มต้นของแอปเปิล

แต่จุดกำเนิดของแอปเปิลกลายเป็นเรื่องตลกร้ายของบริษัท HP เพราะในตอนเริ่ม “วอชเนียก” ในฐานะลูกจ้างบริษัท HP ได้ไปขายไอเดียให้เจ้านายฟัง แต่ถูกปฏิเสธ เพราะไม่เชื่อว่า “ใครจะใช้คอมพิวเตอร์ที่บ้าน”

ในปี 2001 หลังพ้นยุค Y2K แต่ธุรกิจคอมพิวเตอร์ยังอยู่ในอาการโคม่าจากพิษฟองสบู่คอมพิวเตอร์ที่แตกดังโพละ

แอปเปิลและจ็อบส์ (ซึ่งหวนกลับมาเป็น CEO ของแอปเปิลรอบ 2) ได้ตัดสินใจหันหัวองค์กร 180 องศาเข้าสู่อุตสาหกรรม “ดิจิทัลฮับ” ตัดคำว่า computer ออกไปจากชื่อบริษัท เพราะไม่คิดจะทำแค่คอมพิวเตอร์
อีกต่อไปแล้ว จึงเหลือแค่ “Apple”

ขณะนั้นคือช่วงเปลี่ยนผ่านวงการเพลง จากตลับเทปสู่ยุค CD DVD และ MP3 คู่ขนานกับการเติบโตของยุคอินเทอร์เน็ต 1.0 ส่งผ่านข้อมูลผ่านโปรแกรมซอฟต์แวร์และอีเมล์ เป็นยุคที่มีการคิดซอฟต์แวร์บันเทิงต่าง ๆ แอปเปิลก็ออก iTunes และ iPod

ต้นกำเนิด iPod มาจากเหตุที่ “โตชิบา” ซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์ของแอปเปิลได้คิดค้นที่จะเก็บไฟล์ขนาดเล็กและสามารถบรรจุข้อมูลได้เยอะ แต่ไม่รู้เอาไปใช้ทำอะไร จึงติดต่อแอปเปิล “จ็อบส์” และทีมงานจึงปิ๊งไอเดีย เอาชิ้นส่วนดังกล่าวมาใส่ไว้ในเครื่องเล่นเพลงที่ชื่อว่า iPod สามารถเก็บเพลงเป็นหมื่น ๆ เพลง iPod ดังเป็นพลุแตก

ในปี 2005 คู่แข่งอย่าง Microsoft กำลังคิดค้นโปรเจ็กต์ลับ พัฒนาซอฟต์แวร์ให้กับคอมพิวเตอร์ในยุคถัดไปที่เรียกว่า “แท็บเลต” แต่ความลับดันรั่วในวงดินเนอร์ที่มี “จ็อบส์” นั่งอยู่ มีพนักงาน Microsoft เอาความลับมาบอกโดยไม่ได้ตั้งใจ จ็อบส์สั่งให้ลูกน้องเดินหน้าทำ iPad ทันที

แต่ก่อนที่แท็บเลตจะกลายเป็น iPad คือยุคที่ BlackBerry คลอดโทรศัพท์สมาร์ทโฟนมาตีตลาด เป็นที่ฮือฮาของชาวอเมริกัน แต่สมาร์ทโฟนยุคแรกก็ไม่หนีกรอบความเป็นโทรศัพท์ เพราะยังใช้ปุ่มกด

“จ็อบส์” จึงหยิบระบบปฏิบัติการที่พัฒนาไว้สำหรับ iPad มาสร้างเป็นสมาร์ทโฟนฉบับแอปเปิลที่ชื่อว่า iPhone

อีกเคล็ดลับการบริหารงานของ “จ็อบส์” มาจากการระดมสมองภายในองค์กร เขาพาสุดยอดหัวกะทิ 100 คนของพนักงานแอปเปิลที่เรียกว่า the top 100 พนักงานวัยหนุ่มสาวเผชิญหน้า CEO อย่าง สตีฟ จ็อบส์ นำมาสู่การปรับองค์กรเป็น “ดิจิทัลฮับ”

ความสำเร็จไม่ต้องไต่ระดับ ไม่ต้องเริ่มต้นจากบันไดขั้นแรก เช่นเดียวกับการปฏิวัติปฏิรูปองค์กร ไม่จำเป็นต้องใช้คนทั้งองค์กร

แต่ขอเพียง 5% ก็พลิกองค์กรให้เป็นองค์กรชั้นนำได้ เช่น กรณีของแอปเปิล