ส่งสัญญาณไม่ชัดความเชื่อมั่นดิ่ง

บทบรรณาธิการ

คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) คุมเข้มกรุงเทพฯ-ปริมณฑลกับ 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี และสงขลา ที่ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. และมีผลบังคับใช้ 28 มิ.ย. 2564 สร้างความปั่นป่วนให้ธุรกิจหลากหลายสาขา โดยเฉพาะใน กทม.กับ 5 จังหวัดปริมณฑล ที่นำมาตรการกึ่งล็อกดาวน์มาใช้

ร้านอาหาร ภัตตาคารที่ถูกกระทบรุนแรงอยู่แล้ว รายได้ยิ่งลดวูบจากการสั่งห้ามรับประทานอาหารในร้าน ทั้งที่เพิ่งคลายล็อกให้รับลูกค้าได้มากขึ้น เพิ่มระยะเวลาให้นั่งรับประทานในร้านได้ถึง 23.00 น. เพียงแค่สัปดาห์เศษ ส่วนใหญ่จึงเสียหายจากการตุนสินค้า วัตถุดิบในการประกอบอาหารเตรียมรองรับลูกค้าล่วงหน้า

ที่ช็อกและก่อให้เกิดความตื่นตระหนก คือ ภาพแรงงานไทย แรงงานต่างด้าวทั้งถูกกฎหมาย แรงงานเถื่อน แห่ขนสัมภาระ กระเป๋าเสื้อผ้า หนีออกจากไซต์ก่อสร้าง แคมป์คนงานที่ถูกสั่งปิดยาว 1 เดือน จากที่รัฐใช้มาตรการเข้ม แต่ไม่มีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาชัดเจน

ปรากฏการณ์แรงงานไทย ต่างด้าวหลายแสนคนที่ต้องหยุดงาน ขาดรายได้ อยู่ในสภาพผึ้งแตกรัง พากันขนข้าวของหนีออกจากที่พักคนงานจึงโกลาหลไปทั่ว กว่าฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ จะเข้าควบคุมสกัดการเคลื่อนย้ายก็สายเกินแก้ มีจำนวนไม่น้อยที่เล็ดลอดสายตาเจ้าหน้าที่เดินทางกลับต่างจังหวัด รวมทั้งชายแดนไทยติดประเทศเพื่อนบ้าน

เหมือนเคลื่อนย้ายโรคจากพื้นที่เสี่ยงสีแดงเข้ม กทม. นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม กระจายไปเหนือ อีสาน กลาง ใต้ จนน่าห่วงว่าจะเป็นพาหะแพร่เชื้อ จุดชนวนคลัสเตอร์ใหม่ในครอบครัว ชุมชนท้องถิ่น สวนทางมาตรการรัฐที่ต้องการ bubble and seal กทม.-ปริมณฑล ที่กำลังวิกฤต ใกล้ถึงจุดที่ระบบสาธารณสุขจะรับมือไม่ไหว

ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ 1-2 สัปดาห์จากนี้ ต้องจับตาดูว่ามาตรการกึ่งล็อกดาวน์ กทม.-ปริมณฑล ศูนย์กลางการระบาดของโควิดระลอก 3 ตัดวงจรเชื้อโรค จะช่วยให้สถานการณ์คลี่คลาย หรือยิ่งเร่งให้โควิดกระจายไปในภูมิภาค จากที่รัฐส่งสัญญาณไม่ชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น พร้อม ๆ กับลุ้นให้แผนเปิดประเทศ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” เป็นไปอย่างราบรื่นไม่ติดขัด

ล่าสุดแม้รัฐจะขานรับข้อเรียกร้องภาคเอกชน ออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยานายจ้าง ลูกจ้าง ร้านอาหาร ภัตตาคาร แรงงานไซต์งานก่อสร้างในพื้นที่ที่ถูกคุมเข้ม แม้ช่วยผ่อนคลายภาระ บรรเทาความเดือดร้อนของกลุ่มแรงงานที่กำลังยากลำบาก แต่ต้องเร่งคลี่คลายวิกฤต หนุนความเชื่อมั่นที่ดิ่งลงให้กลับมาฟื้นโดยเร็ว ภาคธุรกิจ เศรษฐกิจ จะได้กลับมาขับเคลื่อน จึงจะตอบโจทย์…แก้วิกฤต