ประเมินผล “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์”

คอลัมน์ ดุลยธรรม

ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ

 

หากประเมินผลกระทบมาตรการภูเก็ตแซนด์บอกซ์ต่อเศรษฐกิจ กิจการท่องเที่ยว และตลาดการเงิน น่าจะส่งผลด้านบวกทางเศรษฐกิจโดยภาพรวม แต่ผลประโยชน์ส่วนใหญ่จะอยู่กับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ และเครือข่ายโรงแรมขนาดใหญ่ จะกระจายตัวมายังธุรกิจขนาดย่อมและขนาดเล็กน้อยมาก อย่างไรก็ตาม กลุ่มแรงงานในธุรกิจบริการท่องเที่ยวและกิจการต่อเนื่องสามารถกลับไปทำงานได้เพิ่มขึ้น ลดอัตราการว่างงานในพื้นที่ มีการเคลื่อนย้ายของแรงงานสู่เกาะภูเก็ตมากขึ้น

แต่คาดการณ์ว่า รายได้จากการท่องเที่ยวที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ที่ระดับหนึ่งหมื่นล้านบาทในสามเดือน (ก.ค.- ก.ย. 2564) เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หากดูจากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าภูเก็ตที่อยู่ระดับต่ำกว่า 500 คนต่อวัน

และการคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาประมาณ 100,000 คน ในช่วงสามเดือน เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปตามเป้าหมาย อย่างมากที่สุดน่าจะอยู่ที่ 40,000-45,000 คนเท่านั้น รายได้จากการเปิดเกาะภูเก็ตครั้งนี้ในช่วง ก.ค. ถึง ก.ย. นี้ จึงไม่น่าจะเกิน 4,000-4,500 ล้านบาท และกระจุกตัวอยู่ในเครือข่ายโรงแรมขนาดใหญ่

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” จะเป็นก้าวแรกของการนำไปสู่การเปิดประเทศให้มีการท่องเที่ยวได้ในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ ทำให้เศรษฐกิจโดยภาพรวมกระเตื้องขึ้นบ้าง และความสำเร็จจากการดำเนินการดังกล่าวจะไม่ส่งผลต่อตลาดการเงินมากนัก เนื่องจากตลาดการเงินได้ซึมซับข่าวดีไปแล้ว

ส่วนความล้มเหลวหากเกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิดจากนักท่องเที่ยวหรือจากการเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ จะส่งผลกระทบทางลบต่อตลาดการเงินค่อนข้างมาก และสิ่งนี้จะทำให้การเปิดประเทศภายใน 120 วันเป็นไปไม่ได้

เสนอให้มีการนำเข้าวัคซีน mRNA โดยเร่งด่วนโดยรัฐบาล นอกเหนือจากการสั่งนำเข้าของโรงพยาบาลเอกชนผ่านองค์การเภสัชกรรม โดยการนำเข้าวัคซีน mRNA นั้น ให้จัดฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และประชากรไทยที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีก่อน เพราะสายพันธุ์เดลต้าอาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดในหมู่บุคลากรทางการแพทย์ซึ่งส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนซิโนแวคได้ รวมทั้งอาจเกิดการติดเชื้อในเด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี

ดังนั้น เพื่อชะลอการแพร่ระบาดในระลอกสี่ และหยุดยั้งการเสียชีวิตของประชาชนซึ่งเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ควรจัดเตรียมวัคซีน mRNA เพื่อเตรียมรับมือกับไวรัสกลายพันธุ์เดลต้า เดลต้าพลัส และสายพันธุ์แลมบ์ดาโดยเร่งด่วน

ขณะเดียวกันการผ่อนคลายการล็อกดาวน์กิจกรรมก่อสร้างและเปิดแคมป์คนงานบางส่วน จะช่วยบรรเทาผลเสียหายของอุตสาหกรรมก่อสร้าง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และโครงสร้างก่อสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศได้ระดับหนึ่ง

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมก่อสร้างและกิจการต่อเนื่องคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 8-9% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) มีการจ้างงานทั้งระบบประมาณ 4-5 ล้านคน การผ่อนคลายของรัฐบาลจึงเป็นการตัดสินใจที่เหมาะสม เพราะจะบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจลงได้

จากเดิมที่ประเมินความเสียหายการปิดกิจกรรมโครงการก่อสร้างต่าง ๆ แคมป์คนงานในกรุงเทพฯ ธุรกิจร้านอาหารในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งจังหวัดในพื้นที่สีแดงเข้ม เป็นระยะเวลาหนึ่งเดือนอยู่ที่ประมาณ 40,000-50,000 ล้านบาท คิดเป็น 0.25-0.26% ของจีดีพี โดยการผ่อนคลายดังกล่าวจะลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจได้ประมาณอย่างน้อย 20-30% ของฐานความเสียหายทางเศรษฐกิจเดิม

กล่าวได้ว่าการผ่อนคลายการกับโครงการก่อสร้างที่มีวัตถุประสงค์ทางด้านสาธารณสุข และเกี่ยวข้องกับมาตรการควบคุมโรค COVID-19 มีความสำคัญที่สุด ซี่งความจริงไม่ควรจะล็อกดาวน์ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ทำเพียงแค่ควบคุมการเคลื่อนย้ายแรงงานติดเชื้อให้เป็นไปตามหลักการทางด้านสาธารณสุขก็เพียงพอแล้ว

ส่วนการผ่อนคลายโครงการก่อสร้างที่หากห้ามการก่อสร้างจะทำให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างการก่อสร้าง และก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชน รวมทั้งการก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยด้านการจราจรนั้นควรผ่อนคลายทันที

ขณะที่การติดเชื้อในชุมชนในพื้นที่ที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมส่งออก โดยเฉพาะในพื้นที่หรือจังหวัดที่ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่เดินทางไปกลับ รัฐบาลและภาคเอกชนต้องมีมาตรการที่เหมาะสมในการรักษาสมดุลระหว่างการควบคุมการแพร่ระบาด และผลกระทบต่อความชะงักงันในการผลิต


วิธีหนึ่งที่ควรทำ คือ การจัดพื้นที่เฉพาะสำหรับผู้ใช้แรงงานติดเชื้อ สำหรับผู้ใช้แรงงานที่ยังไม่ติดเชื้อ ให้โรงงานหาที่พักให้ในโรงงาน เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อในชุมชน โมเดลการสร้างที่พักในโรงงานในจังหวัดที่มีการติดเชื้อในชุมชน ควรทำให้ครอบคลุมทุกจังหวัดที่เป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก เช่น สมุทรสาคร สมุทรปราการ สงขลา พระนครศรีอยุธยา ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ นครปฐม เป็นต้น