“ลูกหนี้“ รอเตียง-สัญญาณวิกฤต

ลูกหนี้รอเตียง
บทบรรณาธิการ

ผ่านครึ่งปีแรกเข้าครึ่งปีหลัง ปัจจัยลบยังประดังเข้ามาไม่หยุด การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ลามไปทั่วประเทศ แถมระลอก 4 ไวรัสกลายพันธุ์การแพร่กระจายของเชื้อรวดเร็วและรุนแรง ประชาชน ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องยิ่งย่ำแย่ รายได้หดหาย หนี้สินพอกพูนทั้งเงินต้นดอกเบี้ย คนระดับกลาง-ล่าง ผู้ประกอบการรายกลางรายย่อยตกที่นั่งลำบากแบกหนี้ไม่ไหว

หลายมาตรการที่รัฐบาลนำมาใช้ช่วยประคับประคองได้แค่ชั่วคราว ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจทำได้จำกัด โรงงาน ธุรกิจร้านค้า ร้านอาหาร ฯลฯ ไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ คนตกงาน ถูกเลิกจ้างยังเกิดขึ้นรายวัน ภาคครัวเรือนไทย ธุรกิจเอสเอ็มอี จึงจมดิ่งอยู่ในกองหนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ว่า พิจารณาข้อมูลการให้กู้ยืมเงินแก่ภาคครัวเรือนช่วงไตรมาส 1/2564 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวบรวม พบยอดหนี้คงค้างอยู่ในระดับ 14.13 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 90.5% ต่อจีดีพี สูงขึ้นจากไตรมาส 4/2563 ที่ 89.4% ของจีดีพี พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 18 ปี สะท้อนว่าหนี้สินของภาคครัวเรือนมีอัตราการเติบโตเร็วกว่าเศรษฐกิจ จากรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย

เป็นหนี้ก้อนใหญ่ที่ภาคครัวเรือนต้องแบกรับ ไม่ต่างจากธุรกิจเอสเอ็มอีทั้งระบบกว่า 2 ล้านรายที่เวลานี้หนี้ท่วม สถานะทางการเงินเข้าขั้นวิกฤต ขาดสภาพคล่อง สารพัดมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ พักทรัพย์ พักต้น พักดอก ฯลฯ การออกแพ็กเกจช่วยเหลือเยียวยา ช่วยผ่อนคลายภาระได้มากก็จริง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถเข้าถึง

อย่างไรก็ตาม วิกฤตรอบด้านจากภาวะเศรษฐกิจกับโควิด-19 ที่ยอดผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิตทำสถิตินิวไฮ ช็อกคนไทยทั้งประเทศแทบไม่เว้นวัน นอกจากจะทำให้ภาคครัวเรือน กับเอสเอ็มอีเป็นหนี้มากขึ้น สวนทางกับโอกาสช่องทางในการหารายได้ใช้หนี้ยิ่งถูกปิดล็อกแล้ว กลุ่มที่อาการหนักหนาสาหัส อาจต้องล้มตายเพราะดิ้นหนีวงหนี้ไม่หลุดจะยิ่งมีเพิ่มขึ้น

หนี้ของภาคครัวเรือนไทย หนี้เอสเอ็มอีเวลานี้จึงมีสภาพคล้ายผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อโควิด ที่มีทั้งกลุ่มอาการรุนแรงแต่ระบบสาธารณสุขรับไม่ไหวต้องนอนรอเตียงอยู่ที่บ้าน กลุ่มผู้ติดเชื้อที่อยู่ระหว่างการรักษาใช้เวลาไม่นานจะหายเป็นปกติ รวมทั้งกลุ่มติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ

เช่นเดียวกับภาคครัวเรือน เอสเอ็มอี ที่ต้องพึ่งรัฐ แบงก์ชาติ สถาบันการเงินช่วยแก้วิกฤตหนี้ เหมือนติดโควิดต้องรอเตียง ทั้งกลุ่มที่มีปัญหาแต่รอโอกาสทางเศรษฐกิจเพื่อพลิกฟื้น กลุ่มที่การเงินโคม่าอาจรอด หรือล้มตาย สำคัญสุด ต้องช่วยแก้วิกฤต พร้อมใหัวัคซีนเสริมภูมิคุ้มกันการสร้างหนี้ในวันหน้า