โตโยต้า เทโอลิมปิก 2020

ชั้น 5 ประชาชาติ
อมร พวงงาม

งานโอลิมปิกและพาราลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียว ถูกเลื่อนมาจัดปีนี้

ระหว่างทางต้องบอกว่าทุลักทุเลพอสมควร จวนแจจะไม่ได้จัด

ด้วยมีกระแสต่อต้านจากคนในประเทศเยอะมาก

ประเด็นเรื่องงานใหญ่มีคนมารวมกันจำนวนมาก

โอกาสกลายเป็นคลัสเตอร์สำคัญในการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็สูงตามไปด้วยชาวโลกอุตส่าห์ต่อสู้กับเจ้าไวรัสตัวนี้มาแรมปีแต่ในที่สุด คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ก็ดันทุรังจัดจนสำเร็จ

สำหรับงานนี้มีผู้สนับสนุนเยอะมาก แต่ที่ดูจะเป็นเนื้อเป็นหนังเห็นจะเป็นค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่าง “โตโยต้า”

โดยเมื่อไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว

โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ผู้สนับสนุนระดับโลกของการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก

ประกาศว่า จะให้การสนับสนุนหลายด้านโดยเฉพาะยานพาหนะ มากถึง 3,700 คัน ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าหลากหลายรุ่น

มีทั้งรุ่นพิเศษ และรุ่นที่พัฒนาขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อใช้สนับสนุนการจัดแข่งขัน

ราว ๆ ร้อยละ 90% เป็นรถใช้มอเตอร์ไฟฟ้า อาทิ ไฮบริด, ปลั๊ก-อินไฮบริด และอีวี ไม่รวมพระเอกของแบรนด์ คือ ฟิวเซลล์ พลังงานไฮโดรเจน “มิไร” ที่หลายคนรู้จัก

ตลอดจน “ยานพาหนะสำหรับเคลื่อนย้ายผู้โดยสาร” (accessible people mover) ยานยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับ (e-Palette)

รวมถึง โตโยต้า คอนเซ็ปต์-ไอ (Toyota Concept-i) ยานยนต์สุดพิเศษที่จะมาสร้างสีสันในพิธีส่งต่อคบเพลิง และใช้เป็นรถนำสำหรับการแข่งขันวิ่งมาราธอนด้วย

นับได้ว่าเป็นการสนับสนุนยานพาหนะชุดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ของการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกเลยก็ว่าได้

ยิ่งไปกว่านั้น โตโยต้ายังได้นำเทคโนโลยี “Toyota Safety Sense” และระบบ “Lexus Safety System +” มาใช้กับรถทุกคันที่ใช้ในงาน พร้อมติดตั้งระบบโซนาร์ตรวจจับอัจฉริยะ

เพื่อป้องกันการผิดพลาดทุกกรณี หรือการันตีว่างานนี้ไม่มีทางเกิดอุบัติเหตุจากรถที่ใช้ในงานแน่นอน

หลายคนคงอยากรู้ว่า โตโยต้าต้องใช้เงินสนับสนุนกับโอลิมปิก 2020 นี้เท่าไหร่

หลายสื่อก็พยายามงัดแงะทุกช่องทาง แต่ไม่มีคำตอบ

รู้เพียงแต่ว่า โตโยต้ามีหลักในการสนับสนุน 3 ข้อ

1.อยากส่งเสริมให้ทุกคนมีอิสระในการสัญจร (mobility for all) 2.เพิ่มความยั่งยืน (sustainability) คือการมุ่งส่งเสริมสังคมที่ใช้พลังงานไฮโดรเจน

และ 3.ต้องการแสดงให้เห็นว่าโตโยต้าไม่ใช่บริษัทที่ผลิตรถยนต์เพื่อให้ผู้คนได้ใช้งานเท่านั้น แต่ยังต้องการที่จะมีส่วนร่วมในการช่วยแก้ไขปัญหาด้านการขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพ

แต่ก่อนหน้าที่งานโอลิมปิก 2020 จะเริ่มขึ้นเพียงไม่กี่วัน

สิ่งที่หลายคนไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น โตโยต้าประกาศ “เท” โอลิมปิก 2020

โดยโฆษกบริษัทโตโยต้าแถลงชัดเจนว่า

โตโยต้าจะไม่เข้าร่วมงานเปิดโอลิมปิก 2020 ในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้ โดย “อากิโอะ โตโยดะ” ซีอีโอโตโยต้า รวมทั้งผู้บริหารคนอื่น ๆ

จะไม่เข้าร่วมงาน นอกจากนี้ โตโยต้ายังได้ยกเลิกการฉายโฆษณา ซึ่งโปรโมตรถยนต์ไร้คนขับและเทคโนโลยีอื่น ๆ ของทางบริษัท

จุดเปลี่ยนนี้ นักวิเคราะห์หลายคนประเมินว่า มาจากกระแสต่อต้านการจัดงานยังคงรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะหลังจากพบผู้ติดเชื้อโควิด-19

ที่หมู่บ้านนักกีฬามีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าก่อนหน้านี้ ทางผู้จัดยืนยันจะไม่เป็น “ซูเปอร์สเปรดเดอร์” (super spreader) หรือคลัสเตอร์แพร่ระบาดโควิด-19

แต่สำหรับ “โทมัส บัค” ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) แม้จะรับรู้ถึงความกังวลของประชาชนชาวญี่ปุ่น และกระแสต่อต้าน ก็ยังดันทุรังออกมาแถลงการณ์ว่า

อยากเชิญชวนให้ทุกคนออกมาต้อนรับนักกีฬาจากทั่วโลก และพร้อมที่จะเดินหน้าจัดงานต่อไป

แม้ว่ายอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกรุงโตเกียว จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และได้มีการประกาศภาวะฉุกเฉิน

โอลิมปิกครั้งนี้จึงเป็นการแข่งขันที่ไร้ผู้ชม

“เชียร์ฟรอมโฮม” คนเชียร์พอจะสนุกล่ะครับ

แต่สำหรับนักกีฬา ไม่น่าใช่