ทฤษฎีโลกไร้ผึ้ง

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
สาโรจน์ มณีรัตน์

 

“เมื่อใดที่ผึ้งหมดไปจากพื้นผิวโลก เมื่อนั้นมนุษย์เหลือเวลาเพียง 4 ปีที่จะมีชีวิต เพราะจะไม่มีการถ่ายเรณูอีกต่อไป ดังนั้น โลกใบนี้จะไม่มีพืช ไม่มีสัตว์ และไม่มีมนุษย์”

คำกล่าวข้างต้นเป็นคำพูดของ “อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์” อัจฉริยบุคคลสำคัญของโลกทางด้านฟิสิกส์ และวิทยาศาสตร์ ทั้งนั้นเพราะเขามองว่า “ผึ้ง” เป็นสัญญาณเตือนภัยทางธรรมชาติ ที่เข้าไปหลอมรวมกับทุกสรรพสิ่งบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นพืช, สัตว์, อากาศ, ดิน, น้ำ, ลม และมนุษย์ทั่วไป

ดังนั้นการที่ “อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์” ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับปรากฏการณ์ของฝูงผึ้งที่กำลังจะหายไปจากโลก จึงเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจทีเดียว เพราะอย่าลืมว่า “อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์” มีชีวิตอยู่ระหว่างปี 2422-2498 ระหว่างนี้เขาได้ค้นพบทฤษฎีต่าง ๆ มากมาย ทั้งทางด้านทฤษฎีสัมพัทธภาพ, ทฤษฎีควอนตัม

ซึ่งน่าเชื่อว่าสิ่งที่เขาค้นพบน่าจะเกี่ยวข้องกับบางสิ่งบางอย่างที่เกี่ยวกับผึ้งด้วย เพราะไม่เช่นนั้นเขาคงไม่พูดต่อว่าถ้าเราปล่อยให้ธรรมชาติจัดการกันเอง คงจะไม่มีปัญหาอะไรกับระบบนิเวศ เพราะตอนนี้มนุษย์เริ่มเข้าไปจัดการกับธรรมชาติ ทั้งในเรื่องการกำหนดเวลาเพาะปลูก, การใช้สารเคมี, สารพิษ และการกำหนดฤดูกาลแห่งการเก็บเกี่ยว จนส่งผลกระทบต่อพืชผัก และแมลงบนโลกใบนี้

คำพูดดังกล่าว ถ้านับเวลาจากที่ “อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์” เสียชีวิตในปี 2498 เวลาได้ล่วงเลยมากว่า 66 ปี เป็น 66 ปีที่มนุษย์อย่างเรา ๆ คงพอเห็นความเปลี่ยนแปลงบนโลกใบนี้

ไม่ว่าภาวะเรือนกระจกที่เกิดขึ้น

สภาวะโลกร้อน

หรือธารน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกเหนือที่กำลังละลาย รวมไปถึงสภาพภูมิอากาศที่ผันแปรไปทั่วทุกมุมโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ที่ฤดูกาลสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนเสียจนทำให้มนุษย์อย่างเรารู้สึกว่า…นี่คือฤดูกาลไหนกันแน่

ขณะที่ “โรเบิร์ต วัตสัน” หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ กระทรวงสิ่งแวดล้อมของสหราชอาณาจักร มองว่า…หากโลกประสบปัญหาเสียจนมนุษย์ สัตว์ สิ่งของ ไม่สามารถอยู่บนโลกใบนี้ได้

สิ่งหนึ่งที่ควรทำ ทั้งในฐานะนักวิทยาศาสตร์ และเกษตรกร เราควรจะต้องทิ้งรอยเท้าไว้ให้นักสิ่งแวดล้อมรุ่นอนาคตทราบว่าคนรุ่นเราไม่ได้ทำให้ดินเสื่อมลง หรือทำให้น้ำเสื่อมลง และเราไม่ได้ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติในระบบนิเวศเกิดความผันแปรจนเกิดหายนะ

แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น เกิดจากความละโมบของมนุษย์บางคนต่างหาก แต่กระนั้น ก็มีมนุษย์บนโลกใบนี้อีกหลายสิบล้านคนที่ดำรงตนในการทำธุรกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป

“วอร์เรน บัฟเฟตต์” มหาเศรษฐีชาวอเมริกันระดับโลกคือหนึ่งในนั้น เพราะเขาคิดว่าการดำเนินธุรกิจ ไม่จำเป็นจะต้องรุกไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว

ช้า ๆ ก็ได้

เขาใช้คำว่า…ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม

ซึ่งตรงกับสุภาษิต หรือคำพังเพยของไทย

“ผมมีความอดทนในการทำธุรกิจ ไม่เร่งรีบ หรือหักโหมมากเกินไป ผมค่อย ๆ ทำกำไรทีละเล็กทีละน้อย และสะสมมูลค่าไปเรื่อย ๆ”

นอกจากนั้น “วอร์เรน บัฟเฟตต์” ยังพูดถึงวิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจว่า…ผมเชื่อว่าวิสัยทัศน์ และความอดทนในการทำธุรกิจ เป็นสิ่งสำคัญมากที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ

“หลังจากนั้น ก็ควรมองหาโอกาส และการลงทุนใหม่ ๆ ที่มีแนวโน้มในการสร้างกำไรระยะยาวมากกว่าที่จะมองธุรกิจที่ทำกำไรมาก เพราะการทำแบบนี้เป็นภาพมายา มีวงจรสั้นมาก ดังนั้น การทำธุรกิจ เราจึงควรเดินสวนกระแสบ้าง เพราะตลอดชีวิต ผมไม่เคยทะเยอทะยาน หรือตั้งเป้าหมายมาก
เกินไป เพราะผมจะไม่พยายามกระโดดข้ามที่สูง 7 ฟุต แต่ผมจะมองหาคานไม้ที่สูง 1 ฟุต เพื่อให้สามารถเดินข้ามได้อย่างสบาย ๆ”

เพราะ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” มองว่า…การส่งต่อโอกาสให้กับคนที่ไม่มีโอกาสเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งยังจะทำให้เกิดการกระจายความหวังไปสู่มนุษย์บนโลกใบนี้

ที่ไม่จำกัดเฉพาะแค่สหรัฐอเมริกา

หากมนุษย์ทุกคนที่รู้สึกว่ามีความหวัง และมีความเชื่อว่า…หากโลกนี้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ จนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อระบบนิเวศ จนทำให้มนุษย์ สัตว์ สิ่งของไม่สามารถทนอยู่บนโลกใบนี้ได้

โปรดจงเชื่อว่าในวิกฤต ย่อมมีโอกาสเสมอ

เหมือนกับคำกล่าวของ “อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์” ที่เชื่อว่า…เมื่อใดที่ผึ้งหมดไปจากพื้นผิวโลก เมื่อนั้นมนุษย์เหลือเวลาเพียง 4 ปีที่จะมีชีวิต เพราะจะไม่มีการถ่ายเรณูอีกต่อไป ดังนั้น โลกใบนี้จะไม่มีพืช ไม่มีสัตว์ และไม่มีมนุษย์

ซึ่งแม้จะเป็นคำกล่าวที่ปิดตัวเองเกินไปนัก

เพราะจริง ๆ แล้ว ในท่ามกลางกฎธรรมชาติของทุกสรรพสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สัตว์ สิ่งของ หรือแม้แต่ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ค่อย ๆ เตือนโลกใบนี้อย่างต่อเนื่อง ล้วนเป็นเสียงกระซิบจากความเป็นจริง ที่บอกว่า…พอได้แล้วหรือยังมนุษย์

พอได้แล้วหรือยังความละโมบ

สู้จงอุตส่าห์มาให้ความสำคัญกับโลกใบนี้บ้าง เผื่อว่าลูก หลาน เหลน โหลนของเรา จะได้ดำรงคงอยู่ในท่ามกลางธรรมชาติ ที่แม้จะสึกหรอไปบ้าง

แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีเลยไม่ใช่หรือ ?