โอกาสธุรกิจบริการโลจิสติกส์ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ใน CLMV (2)

คอลัมน์ แตกประเด็น
อรมน ทรัพย์ทวีธรรม

บทความตอนแรกฉบับที่ผ่านมา กล่าวถึงโอกาสทางการตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศเพื่อนบ้านของไทย เริ่มจากกัมพูชา และ สปป.ลาว สองในสี่ประเทศในกลุ่ม CLMV ที่โอกาสทางการตลาดยังมีแนวโน้มสดใส โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นตัวเร่งทำให้การซื้อขายสินค้าผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ช่องทางออนไลน์ขยายตัวเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด ฉบับนี้เป็นการวิเคราะห์แนวโน้มทิศทางตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศเมียนมา และเวียดนาม

ซึ่งเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงและได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคยุคใหม่เช่นเดียวกัน ถือเป็นโอกาสที่เปิดกว้างสำหรับผู้ประกอบการไทย เพียงแต่ต้องปรับตัวผลิตสินค้า หาช่องทางเจาะตลาดให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค

เมียนมา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในเมียนมามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยชาวเมียนมาคุ้นเคยกับการซื้อ-ขายและทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 สถานการณ์ในปัจจุบัน เมียนมามีเบอร์โทรศัพท์มือถือที่ขึ้นทะเบียนมากกว่า 68 ล้านหมายเลข คิดเป็นร้อยละ 126 ของจำนวนประชากร และชาวเมียนมาเข้าถึงการใช้อินเทอร์เน็ตร้อยละ 39 ของประชากรทั้งประเทศ โดยผ่านทางโทรศัพท์มือถือ

โอกาสในการขายสินค้าผ่านช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของผู้ประกอบการไทยไปเมียนมายังมีอยู่มาก เนื่องจากผู้บริโภคเมียนมามีทัศนคติที่ดีต่อคุณภาพของสินค้าไทย อย่างไรก็ตาม มีความท้าทายในเมียนมา เช่น ระบบการชำระเงินที่ยังขาดความเสถียร ปัญหาการโอนเงินผิดบัญชี หรือถูกขโมยรหัสผ่าน ระบบโลจิสติกส์ยังขาดประสิทธิภาพ ทำให้สินค้าเกิดความเสียหาย หรือส่งสินค้าได้ไม่ทันเวลา

นอกจากนี้ สินค้าที่นำเข้ามาจำหน่ายในเมียนมาต้องมีฉลากรายละเอียดสินค้าเป็นภาษาเมียนมา มิเช่นนั้นอาจมีความผิดตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค สำหรับการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ แม้ปัจจุบันจะมีปริมาณรถขนส่งมากกว่าเดิม และเริ่มนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาสู่วงการธุรกิจโลจิสติกส์บ้างแล้ว แต่ส่วนมากจะใช้ในระบบบัญชี ยังไม่นำมาใช้ในระบบอย่างครบวงจร เช่น ระบบการจัดการ ระบบการขาย ระบบคลังสินค้า และระบบถนนยังไม่สมบูรณ์

นอกจากนี้ ต้นทุนค่าขนส่งและโลจิสติกส์ รวมถึงค่าดำเนินการนำเข้าสินค้าและขอใบอนุญาตต่าง ๆ ค่อนข้างสูง เช่น การขอใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเมียนมา ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจด้วย

เวียดนาม ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว และบริษัทเวียดนามยังไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในธุรกิจนี้มากเท่าที่ควร จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย ที่จะเพิ่มช่องทางในการขยายตลาด แต่อาจต้องเผชิญกับความท้าทาย เช่น การแข่งขันที่รุนแรงระหว่างยักษ์ใหญ่ของการค้าปลีกออนไลน์จากต่างประเทศที่เข้ามาสร้างฐานลูกค้า รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ที่ยังมีข้อจำกัด ทำให้การจัดส่งสินค้าค่อนข้างล่าช้าและมีต้นทุน

ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยอาจร่วมกับผู้นำเข้าในเวียดนามในการทำตลาดบนแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ของเวียดนาม สำหรับการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ ธุรกิจโลจิสติกส์ของเวียดนามอยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลเวียดนาม ได้แก่ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง และกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า และมีสมาคมธุรกิจโลจิสติกส์เวียดนามเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงผู้ขนส่งสินค้าของเวียดนามและต่างประเทศกับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ บริษัทไทยควรสร้างความสัมพันธ์อันดีกับสมาคมต่าง ๆ ในเวียดนาม โดยเฉพาะสมาคมธุรกิจโลจิสติกส์เวียดนาม เพื่อช่วยแนะนำคู่ค้า

จึงอาจกล่าวได้ว่า ผู้ประกอบการไทยยังมีโอกาสอีกมากที่จะขยายธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอกนิกส์ และธุรกิจบริการโลจิสติกส์ไทยไป CLMV แต่ควรศึกษาทำความเข้าใจตลาด และพฤติกรรมของผู้บริโภค ทั้งวิธีการเข้าถึงผู้บริโภคผ่านแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นที่นิยมในตลาดนั้น ๆ และรูปแบบการขนส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภคที่มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ในการขยายฐานลูกค้าไปประเทศเพื่อนบ้าน ผู้ประกอบการ และ SMEs ไทยควรเสริมทักษะด้านภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาของเพื่อนบ้าน CLMV เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเจาะตลาด เข้าถึงลูกค้าออนไลน์โดยตรงด้วย