คมความคิด 90 ปี ปูชนียบุคคล ‘ดร.เสนาะ อูนากูล’

คอลัมน์ ร่วมด้วยช่วยกัน

ดร.ดอน นาครทรรพ
สายเสถียรภาพระบบการเงินและ
ยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย

 

ปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทยตอนนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่องโครงสร้างประชากรของไทยที่ปีนี้ได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ (ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ ตามนิยามของสหประชาชาติ) ขณะที่กำลังแรงงานในระยะข้างหน้าจะลดลงจากอัตราเกิดที่ต่ำ ทำให้ปัจจัยแรงงานที่เคยเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยในอดีตจะกลายเป็นปัจจัยฉุดรั้งแทน

สักสี่ห้าปีก่อนหน้านี้ ซึ่งยังไม่มีเรื่องของโควิด-19 ผมมักหยิบยกตัวเลขกลม ๆ ให้ผู้ดำเนินนโยบายและนักลงทุนเห็นถึงความท้าทายจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทยว่า ถ้า 10 ปีก่อนหน้านี้ เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ร้อยละ 5 ต่อปีอย่างสบาย ๆ สิบปีถัดจากนี้ (ซึ่งตอนนี้เหลือเพียงห้าหกปีเท่านั้น หลังจากผมเริ่มพูดเรื่องนี้) เศรษฐกิจไทยจะสามารถเติบโตได้เพียงร้อยละ 3 ต่อปีเท่านั้น

โดยส่วนต่างร้อยละ 2 ต่อปี มาจากอัตราการขยายตัวของกำลังแรงงานที่จะหายไป เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายว่า ไทยจำเป็นต้องลงทุนมหาศาล สำหรับเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าและบริการ และยกระดับคุณภาพแรงงาน เพื่อชดเชยแรงส่งที่หายไปของกำลังแรงงาน จึงจะสามารถรักษาระดับของการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 5 ต่อปีได้

เบื้องหลังของการคำนวณตัวเลขศักยภาพของการขยายตัวของเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะร้อยละ 3 หรือร้อยละ 5 อิงกับสมมุติฐานว่าประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำงาน และคนที่ทำงานไม่ได้ทำงานที่เพิ่มมูลค่ามากนักให้กับเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี ในยุคปัจจุบันที่สุขอนามัยของประชากรโดยรวมดีกว่าในอดีตมาก กอปรกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์เอื้อให้ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี สามารถทำอะไรได้มากกว่าในอดีตมาก ผู้สูงอายุหลายคนยังมีความคิดแหลมคมไม่แพ้คนหนุ่มสาว และมีสิ่งที่คนหนุ่มสาวไม่มี คือประสบการณ์

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้รับเกียรติจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือสำนักงานอีอีซี ให้ไปเข้าร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ในงานเสวนาวิชาการเล็ก ๆ แต่มากไปด้วยผู้สูงอายุที่มีประสบการณ์ ทั้งกูรูด้านเศรษฐกิจระดับตำนาน และนักธุรกิจชั้นแนวหน้าที่มีการลงทุนในอีอีซี ภายใต้ชื่องาน “จากอีสเทิร์นซีบอร์ดสู่อีอีซี กับการเป็นเขตพัฒนาพิเศษระดับโลก”

ผมตอบรับเข้าร่วมงานนี้ด้วยความยินดี เพราะผมมักเรียกอีอีซี ที่บางคนเรียกว่าเป็นอีสเทิร์นซีบอร์ดเฟสที่สอง ว่าเป็นความหวังใหม่ในการขับเคลื่อนการลงทุนของเศรษฐกิจไทย หลังจากที่อีสเทิร์นซีบอร์ดซึ่งถือกำเนิดขึ้นเมื่อสี่สิบปีที่แล้ว

จุดพลุการลงทุนขนาดใหญ่ของเศรษฐกิจไทย เปรียบได้กับ Luke Skywalker ที่มารับภาระในการกอบกู้จักรวาลต่อจากเจไดผู้เฒ่า Obi-Wan Kenobi ในหนัง Star Wars ไตรภาคดั้งเดิม

โดยไฮไลต์ของงานนี้ คือ การร่วมอวยพรวันเกิดล่วงหน้าให้กับบุคคลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังอีสเทิร์นซีบอร์ด ดร.เสนาะ อูนากูล (วันคล้ายวันเกิด 24 กรกฎาคม)

ดร.เสนาะ อูนากูล หรืออาจารย์เสนาะของหลาย ๆ คน เป็นอดีตเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และอดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ สมัยรัฐบาล อานันท์ ปันยารชุน แต่พนักงานแบงก์ชาติจะเรียกติดปากว่า ท่านผู้ว่าการเสนาะ มากกว่า เป็นคีย์แมนคนสำคัญในการก่อตั้งและผลักดันอีสเทิร์นซีบอร์ดในสมัยรัฐบาล พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งนำไปสู่ความโชติช่วงชัชวาลของเศรษฐกิจไทย จนกระทั่งได้รับการขนานนามว่าเป็นเสือตัวที่ห้าของเอเชียในทศวรรษถัดมา

ในงานเสวนานี้ ท่านผู้ว่าการเสนาะเล่าให้ผู้ร่วมงานฟังว่า หลักการสำคัญในการพัฒนาประเทศ คือ การจับเทรนด์โลกให้ได้ สมัยนั้น คือ ข้อตกลงพลาซา (Plaza Accord) ระหว่างกลุ่มประเทศ G5 ในปี 2528 ที่นำไปสู่การแข็งค่าขึ้นอย่างมากของเงินเยน และผลักดันให้ญี่ปุ่นต้องย้ายฐานการผลิตส่วนหนึ่งออกไปนอกประเทศ

ซึ่งเราจับทางได้ถูก ทำให้ไทยสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในขณะนั้นจากหน้ามือเป็นหลังมือ ขณะที่ในปัจจุบัน ท่านผู้ว่าการเสนาะมองว่า เทรนด์ที่สำคัญ คือ digital transformation และ technology disruption ซึ่งภาครัฐต้องหาทางใช้ประโยชน์ให้ได้ โดยท่านได้ยกการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นตัวอย่างให้กับผู้ร่วมงาน

โดยส่วนตัว ผมเคยพบกับท่านผู้ว่าการเสนาะครั้งหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว โดยท่านเรียกผมและน้องที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอีกคนหนึ่งไปพบที่บ้านของท่าน เพื่อสอบถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ และพัฒนาการของเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง

ครั้งนั้น ผมมีความประทับใจเป็นอย่างมากที่เห็นท่านยังสนใจและติดตามพัฒนาการสำคัญต่าง ๆ ในประเทศและต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ และดูท่านมีความคิดที่ล้ำหน้าไม่แพ้คนรุ่นใหม่ โดยผมขอยกตัวอย่างเรื่องของระบบการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งท่านมองว่า ระบบการเงินโลกที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่มีเสถียรภาพมากนัก เนื่องจากขึ้นอยู่กับเงินดอลลาร์สหรัฐมากเกินไป

ทางหนึ่งที่ท่านผู้ว่าการเสนาะมองว่าอาจจะเป็นคำตอบได้ คือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ควรจะพัฒนาสิทธิพิเศษถอนเงิน (Special Drawing Rights : SDR) ซึ่งเป็นสกุลเงินสมมุติที่ไอเอ็มเอฟจัดสรรให้ประเทศสมาชิกถือครองเพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของเงินสำรองระหว่างประเทศ ไปเป็น Digital SDRs ในรูปแบบสกุลเงินดิจิทัลที่ใช้กันได้ทั่วโลกแทนเงินดอลลาร์สหรัฐ

ต้องบอกว่า การได้สนทนากับท่านผู้ว่าการเสนาะสองสามชั่วโมงในวันนั้น เป็นแรงบันดาลใจให้ผมเป็นอย่างมากในการตั้งใจทำงานให้กับประเทศ การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นสิ่งที่สำคัญ และอายุเป็นเพียงตัวเลขเท่านั้น