ปรับวิธีการเรียนรู้ สู้วิกฤตโรคระบาด COVID-19

คอลัมน์ ช่วยกันคิด
ดร.ขจรพงษ์ พูลสวัสดิ์

 

ในขณะที่เรายังอยู่ในช่วงวิกฤต COVID-19 ที่เป็นวิกฤตสาธารณสุขทั่วโลก การเรียนการสอนก็ดำเนินไปด้วยวิธีแบบที่เรียกว่าเท่าที่ทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเรียนออนไลน์ นักเรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้ที่ได้รับการช่วยเหลือจากผู้ปกครอง ซึ่งการเรียนในวิกฤต COVID-19 นั้นจึงมีความหลากหลายรูปแบบ หรืออาจจะเรียกได้ว่าต่างคนต่างทำก็เป็นไปได้นี้ อาจจะกลายเป็นปัญหาการเรียนรู้ที่กระทบต่อผู้เรียนในระยะยาว

ผมจึงอยากจะมาเล่าวิธีการจัดการเรียนการสอนที่มีรูปแบบเข้าใจและสามารถนำไปปรับใช้ได้ง่าย ผมเชื่อว่าผู้ปกครองหลายคนมีความกังวลและไม่แน่ใจว่าจะช่วยให้ลูก ๆ จัดการกับการเรียนอย่างไร จึงใช้ความเป็นพ่อ แม่ ผู้ปกครอง แต่จะต้องมาจัดการเรื่องเรียน ซึ่งอาจจะมีการบ่น การเข้มงวด การปล่อยมากเกินไป จึงทำให้เกิดการสับสนกันในบทบาทในระหว่างเรียน

ผมจึงขอแนะนำว่า ในขณะที่ดำเนินการเรียนอยู่นั้น ผู้ปกครองกำลังกลายเป็นครูใหญ่ที่จะต้องจัดการเรียนการสอนให้ลูก ๆ ของเรานั้นเอง โดยเริ่มต้นนั้นสามารถแบ่งผู้เรียนออกได้เป็น 2 รูปแบบหลัก ๆ คือ แบบที่หนึ่ง ผู้เรียนสามารถจัดการเรียนการสอนเองได้ คือ ผู้เรียนที่มีความสามารถรับผิดชอบในการจัดการเรียนได้เอง ควบคุมตนเองได้ และแบบที่สอง ผู้เรียนยังไม่สามารถจัดการเรียนการสอนเองได้ ต้องมีผู้ปกครองช่วย

ผมจึงอยากให้แยกจากลักษณะผู้เรียนเป็นหลัก โดยจะไม่ได้แบ่งเป็นช่วงอายุที่ชัดเจน เพื่อการทำความเข้าใจที่ง่ายและสามารถนำไปปรับใช้ได้ โดยจะมีหลักการจัดการเรียนการสอนที่สามารถนำมาปรับใช้ในสถานการณ์ COVID-19 เพื่อการเรียนการสอนผ่านทางเทคโนโลยีนั้นมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อสำหรับผู้เรียนที่ยังไม่สามารถเรียนได้เอง ต้องมีคนช่วยโดยเฉพาะ

เริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์และกำหนดเป้าหมายการเรียน ให้ผู้ปกครองวิเคราะห์ลักษณะผู้เรียนว่ามีลักษณะที่สามารถเรียนรู้เองได้หรือไม่ จำเป็นต้องมีผู้ปกครองช่วย หรือจำเป็นต้องมีผู้ปกครองช่วยดู หรือติดตามเป็นครั้งคราว ซึ่งถ้าเป็นลักษณะนี้ ผู้ปกครองนั้นอาจจะต้องกำหนดช่วงเวลาที่ทำให้เราสามารถจัดเวลาออกจากงานประจำที่เรา work from home แล้วค่อยช่วยเหลือลูก ๆ ได้ ซึ่งมีความยากอยู่เยอะ หรือสามารถให้นั่งทำในระยะสายตาที่เราสามารถมองเห็นได้ แต่จะต้องไม่ทำให้ลูก ๆ นั้นรู้สึกเหมือนถูกเฝ้ามองตลอดเวลา

วิเคราะห์เนื้อหา โดยดูว่าลูก ๆ นั้นมีเนื้อหาส่วนไหนที่อาจจะต้องการให้ช่วยเหลือหรือยากจนเกินไป กำหนดวัตถุประสงค์ ซึ่งจุดนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเนื่องด้วยเราอยู่ในวิกฤต COVID-19 จึงทำให้จุดประสงค์ในการเรียนเปลี่ยนไปจากการเรียนปกติ ซึ่งในวิกฤตขณะนี้ทำให้ผู้เรียนมีความเครียดจากเนื้อหาที่เรียน การบ้าน และสภาพแวดล้อม จนอาจจะทำให้ผู้เรียนกดดันและเกิดผลกระทบทางจิตใจ จึงเป็นสาเหตุที่จำเป็นต้องปรับจุดประสงค์จากการเรียนแบบเดิมมาเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งหลักการและวิธีการสามารถทำให้ผู้เรียนนำไปปรับใช้ได้ตลอดไป

การรวบรวมข้อมูลและเนื้อหา ในการเรียนการสอน ผู้ปกครองสามารถดูว่าในบทเรียนต่าง ๆ ที่ลูก ๆ ต้องเรียนนั้น มีหัวข้อและเนื้อหาอะไรบ้าง ซึ่งอาจจะมีเนื้อหาจากที่ครูมอบหมายให้อยู่แล้ว หรือมีเนื้อหาจากหนังสือ ตำรา ภาพ เสียง วิดีโอคลิป ที่อยู่ในโลกออนไลน์ พร้อมประกอบทั้งข้อมูลที่อยู่ในสถานการณ์ปัจจุบันเพิ่มเติมเข้าไป เพื่อให้ผู้เรียนนั้นเข้าใจและนำไปปรับใช้ได้

การคิดรูปแบบการสอนนั้นเป็นตัวดึงดูดให้ผู้เรียนนั้นเรียนได้ดี ซึ่งรูปแบบการสอนที่ดีจะช่วยให้ผู้เรียนเรียนอย่างมีความสุข การออกแบบรูปแบบการสอนก็ขึ้นอยู่หลากหลายปัจจัย ทั้งสภาพแวดล้อม ผู้เรียน และสื่อที่ใช้ในการสอน ผู้ปกครองที่ไม่เคยดูรูปแบบการสอนมาก่อนจะช้าหน่อย แต่เป็นการโชคดีในยุคปัจจุบันที่มีโลกออนไลน์ ซึ่งสามารถหาวิธีการสอนหลากหลายใน YouTube โดยให้ผู้ปกครองยึดเป้าหมายของการเรียนในยุค COVID-19 เป็นหลักสำคัญ

เมื่อครูดำเนินการสอนผ่านออนไลน์เสร็จแล้ว ผู้ปกครองสามารถติดตามตัวผู้เรียนว่าประสบปัญหาติดตรงไหนหรือไม่ ซึ่งในขั้นตอนนี้เป็นส่วนที่มีความสำคัญมาก จำเป็นต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ ใจเย็น และจำเป็นต้องใช้จิตวิทยาในการสอบถาม ติดตาม หรือสังเกตในส่วนที่ผู้เรียนยังไม่เข้าใจ ผู้ปกครองสามารถหากิจกรรมมาสร้างเสริมทักษะเพิ่ม เพื่อช่วยให้ผู้เรียนนั้นทันกับเนื้อหาที่ต้องเรียน มีความสนุกสนาน และเชื่อมโยงสามารถนำไปใช้งานได้ในปัจจุบันเป็นสำคัญ

ในการติดตามประเมินผลความรู้ ว่าผู้เรียนนั้นเข้าใจมากน้อยขนาดไหนนั้น ก็สามารถใช้เทคนิคการประเมินตามสภาพจริง มีวิธีการที่หลากหลาย เช่น การสังเกต การพูดคุย การดูจากงานหรือกิจกรรมที่ทำ การให้สรุปความรู้อาจจะถ่ายทอดมาเป็นแบบเขียน ภาพ หรือวิดีโอคลิป หรือดูจากความก้าวหน้าจากการเรียนรู้ได้

จะเห็นได้ว่าการปรับการเรียนรู้ในช่วงวิกฤตนี้จะต้องถือเอาผู้เรียนเป็นสำคัญ เมื่อเราติดตามผู้เรียน เราจะสังเกตเห็นถึงพัฒนาการ ความเข้าใจ และปัญหา แล้วสามารถปรับปรุงหรือแก้ไขได้ทันท่วงทีครับ