ตั้งรับเสี่ยงล็อกดาวน์ยาว 2 เดือน

ล็อกดาวน์ เคอร์ฟิว ทั่วประเทศ
FILE PHOTO : Madaree TOHLALA / AFP
บทนำ

แม้การล็อกดาวน์พื้นที่สีแดงเข้มควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด จะมีการประเมินผลระยะแรก 18 สิงหาคมนี้ โดยมีเงื่อนไขว่าหากยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังมีเพิ่มขึ้น รัฐจะขยายระยะเวลาล็อกดาวน์คุมเข้มไปถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 แต่ดูตามสถานการณ์โอกาสที่รัฐบาลจะผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เป็นไปได้ยาก เพราะการแพร่ระบาดของโควิดยังรุนแรง ยอดผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิตยังอยู่ในระดับที่สูง

ขณะที่หลายฝ่ายชี้ว่า ถ้ารวมตัวเลขผู้ติดเชื้อจากการตรวจสอบเชิงลึก และการใช้ชุดตรวจ antigen test kit (ATK) ที่ภาคธุรกิจ ประชาชนทั่วไปตรวจสอบการติดเชื้อด้วยตนเอง จะพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอีกมาก จึงมีแนวโน้มสูงที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. อาจต้องดำเนินมาตรการคุมเข้มจากนี้ไปอีก 2 เดือน จนถึงสิ้นเดือนกันยายน

หากเป็นไปตามการคาดการณ์ดังกล่าว ผลกระทบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การดำเนินธุรกิจ การใช้ชีวิต และการทำงานของประชาชนจะมีเพิ่มขึ้นตามมา ไม่ว่าจะเป็นยอดขาย รายได้ กำลังซื้อ และการบริโภค ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำอยู่แล้วจะยิ่งทรุดลง โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 3 ที่โควิดระบาดรุนแรง ทำให้ภาครัฐต้องยกระดับมาตรการควบคุมป้องกันเข้มข้นมากขึ้น กลายเป็นข้อจำกัดในการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจ

จากตอนนี้ไตรมาส 3 อีกแค่เดือนเศษจะเข้าสู่ไตรมาส 4 หากยังไม่สามารถกระจายวัคซีนได้ตามแผน ผลกระทบจากโควิดมีต่อเนื่องตลอดครึ่งปีหลัง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะยิ่งหมดโอกาส และอาจหดตัวลงกว่าปี 2563 เท่ากับเศรษฐกิจไทยอยู่ในโซนอันตรายเข้าสู่ภาวะถดถอย นอกจากภาคท่องเที่ยวที่วิกฤตหนักแล้ว อีกหลายธุรกิจที่มีปัญหาจะยิ่งย่ำแย่

การปรับตัวรับความสุ่มเสี่ยงกรณีรัฐอาจต้องคุมเข้มยาวแม้ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่จำเป็นต้องทำ สำคัญสุดคือการประคับประคองตนให้รอดพ้นวิกฤต เตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขณะเดียวกันก็เรียนรู้การปรับตัวของตลาด การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค ลดต้นทุนควบคู่กับหาทางสร้างรายได้ รับความปกติวิถีใหม่ที่ไม่วันเหมือนเดิมอีก ขณะที่ภาครัฐต้องปรับการทำงานเพื่อความเป็นเอกภาพ มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ก่อนวิกฤตจะลามไร้ทางออก ล่าสุด คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้รวมตัวกันเคลื่อนไหวเตรียมขอเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เพื่อยื่นข้อเสนอรอบใหม่ ให้เร่งแก้วิกฤต กู้เศรษฐกิจที่ติดลบ ผ่าทางตันวัคซีนที่ผิดพลาดล่าช้า หยุดการแพร่ระบาดของโควิดให้สถานการณ์เป็นปกติ ฟื้นวิกฤตศรัทธาของประชาชน และภาคเอกชนก่อนกู่ไม่กลับ